โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบ ทั้งร่างกาย โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค ตำแหน่งที่มีความผิดปกติเริ่มจากการอักเสบของเยื่อบุข้อ ทำให้เกิดข้ออักเสบและเส้นเอ็นใกล้ข้ออักเสบ นอกจากนี้ยังพบความผิดปกตินอกข้อ เช่น ปุ่มรูมาทอยด์ (rheumatoid nodules) มีอาการซีด การอักเสบของเนื้อปอด เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อหุ้มปอด อาการปากแห้งตาแห้ง และตาอักเสบ ความเจ็บปวดของข้อ ทำให้การทำงานของข้อเสียไป ทั้งในด้านการเคลื่อนไหวและการรับน้ำหนัก อาการของผู้ป่วยจะมีมากขึ้นอย่างช้าๆ จนกระทั่งมีความพิการของข้อเกิดขึ้น ทำให้สมรรถภาพการเคลื่อนไหวและการทำงานของร่างกายลดลง
เพื่อความเข้าใจว่า ข้ออักเสบรูมาทอยด์เป็นอย่างไรจึงจำเป็นต้องรู้จักข้อที่ปกติก่อน ข้อหรือข้อต่อ คือ บริเวณที่กระดูก ๒ ท่อน มาบรรจบกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย และความมั่นคงในการถ่ายโอนน้ำหนักหรือแรงที่มากระทำผ่านข้อ ข้อประกอบด้วย กระดูกอ่อน (cartilage) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมปลายกระดูกแต่ละท่อน และเยื่อบุข้อ (synovium membrane) ซึ่งบุอยู่ภายในข้อ มีหน้าที่สร้างของเหลวออกมา เพื่อหล่อลื่นข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้นุ่มนวล
ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ เยื่อบุข้อจะเกิดการอักเสบ และแบ่งตัวเพิ่มความหนาขึ้น รวมทั้งมีการสร้างของเหลวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้อขัด เลือดที่มาเลี้ยงข้อมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการอักเสบ ทำให้บริเวณข้อร้อนขึ้น เมื่อกระบวนการอักเสบนี้ เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง จะเกิดการหลั่งสารออกมาทำลายกระดูกและกระดูกอ่อนบริเวณรอบๆ ข้อ ทำให้เกิดการกร่อนของกระดูก อีกทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ของข้อก็ถูกทำลายเช่นกัน เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนรอบข้อ จะฝ่อลีบลง ข้ออักเสบเป็นได้เกือบทุกข้อของร่างกาย แต่ข้อที่อักเสบบ่อย ได้แก่ ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า
โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มีโอกาสเกิดได้กับประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยเกิดได้กับทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ที่มีอายุมากกว่า ๑๖ ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในอัตราส่วนหญิงต่อชายเท่ากับ ๓ - ๕ : ๑