ในระยะแรกของข้ออักเสบ ผู้ป่วยควรได้รับการสอนเรื่องการใช้ข้อในกิจวัตรประจำวันอย่างถูกต้อง เพื่อทำให้ข้อมีระยะการใช้งานได้ยาวนาน ไม่ถูกทำลายก่อนเวลาอันควร หลักการพื้นฐานคือ ในข้อที่รับน้ำหนักไม่ควรให้แรงผ่านข้อมากเกินไป เช่น หลีกเลี่ยงการวิ่งบนพื้นแข็ง การยกของหนัก การปีนเขา ส่วนข้อที่ไม่รับน้ำหนักควรหลีกเลี่ยงการทำงานของกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น การจับหรือถือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันนานเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ที่มีที่จับขนาดเล็ก เช่น ด้ามไม้กวาด ด้ามมีด เพราะต้องใช้แรงมากกว่าเครื่องใช้ที่มีที่จับขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การยกสิ่งของด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง ดีกว่าการใช้มือข้างเดียว ตลอดจนควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ข้อซ้ำๆ กันนานเกินไป
ข. การรักษาด้วยยา ได้แก่
๑. ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์
ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์เป็นยาที่ช่วยลดอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ และความทุกข์ทรมาน แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า ช่วยป้องกันข้อจากการถูกทำลายในระยะยาว นั่นคือ ยังไม่มีหลักฐานว่ายานี้เปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคได้ ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์สามารถลดข้ออักเสบอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผลต่อผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน รวมทั้งผลข้างเคียงของยาที่มีต่อผู้ป่วยแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันด้วย ผลข้างเคียงที่พบบ่อยและเป็นอันตราย คือ ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลร้อยละ ๑.๓ - ๑.๖ ต่อการใช้ยา ๑ ปี หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ตลอดช่วงระยะของการเป็นโรค ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงของยาต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ร่วมด้วย และการสูบบุหรี่ ในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงให้ใช้ยาที่มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อย คือ ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์กลุ่มค็อกซิบ
ข้อบ่งใช้ของยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ได้แก่ อาการปวดข้อและข้ออักเสบ การเลือกยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ควรให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยดูจากประสิทธิภาพของยา ความปลอดภัย ความทนของผู้ป่วยต่อการใช้ยา และราคายา โดยทั่วไปการใช้ยาควรให้เวลาในการใช้ประมาณ ๓ - ๔ สัปดาห์ เพื่อดูถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา การติดตามผลข้างเคียงของยา ได้แก่ การซักประวัติการปวดท้อง และการขับถ่ายอุจจาระสีดำ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจอุจจาระ การตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจการทำงานของตับและไต
๒. ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค
ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ คือ ยาที่ทำให้โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ชะลอการดำเนินโรค ทำให้โรคดีขึ้น หรือเข้าสู่ระยะสงบได้ ยากลุ่มนี้มี ๒ ชนิด คือ ชนิดไม่ใช่ชีวภาพ และชนิดชีวภาพ
ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคชนิดไม่ใช่ชีวภาพมีหลายอย่าง เช่น เมโทเทร็กเซต ซัลฟาแซละซีน ไซโคลฟอสฟาไมด์ เลฟลูโนไมด์ ไซโคลสปอริน คลอแรมบิวซิล ไมโอคริซิน ยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้า ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์จนเป็นเดือนก่อนจะเห็นผลการตอบสนองของยา ดังนั้นบางคนจึงเรียกยากลุ่มนี้ว่า ยาต้านรูมาทิซึมที่ออกฤทธิ์ช้า
แผนการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ในปัจจุบันมีหลายวิธี ซึ่งคล้ายคลึงกับการรักษาทางเคมีบำบัดในผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง กลยุทธ์ของการรักษา คือ การประเมินระดับความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยเป็นและให้การรักษาที่พอดี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสหายจากโรค การประเมินประสิทธิภาพของการรักษาโรคอาศัยการดูจากอาการปวดข้อ จำนวนข้ออักเสบ การทำงานของข้อ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการถ่ายภาพเอกซเรย์ อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือตอบสนองต่อการรักษาแต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ และถึงแม้จะมีงานวิจัยที่ทำให้การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เป็นแบบหายขาดมากกว่าเป็นการรักษาตามอาการ แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ นอกจากนี้การรักษายังมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของยา ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หรือการทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลว เช่น ไขกระดูก ตับ ไต ซึ่งข้อมูลนี้ ผู้ป่วยควรมีส่วนรับรู้ด้วย
ยาชีวภาพ คือ ยาหรือสารที่มีผลโดยตรงต่อสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดการอักเสบ และทำให้สารคัดหลั่งที่มีมากเกินไปนี้ลดลงหรือไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ สารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดการอักเสบที่สำคัญในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ได้แก่ ทูเมอร์ เนคโครสิสแฟกเตอร์แอลฟา อินเทอร์ลูคิน-๑ และอินเทอร์ลูคิน-๖ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้สามารถผลิตยาหรือสารที่จับกับสารคัดหลั่งที่มีมากเกินได้ ทำให้สารคัดหลั่งที่มีมากเกินกลับเข้าสู่ระดับปกติ การรักษาแบบนี้เรียกว่า การรักษาด้วยยาชีวภาพ ในปัจจุบัน ยาชีวภาพที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ อินฟลิกซิแม็บ (Infliximab) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า เรมิเคด (Remicade) อีแทเนอร์เซ็ปต์ (Etanercept) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า เอ็นเบรล (Enbrel) แอนติซีดี-๒๐ หรือไรทุซิแม็บ (Rituximab) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า แม็บทีรา (Mabthera) และแอนติอินเทอร์ลูคิน-๖ ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า โทลซิลิซุแม็บ (Tolcilizumab)
ดังนั้นการเลือกชนิดของยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ให้ดูจากระดับความรุนแรงของโรค เช่น จำนวนข้อที่เป็นโรค ความเสียหายของข้อจากการตรวจร่างกาย ภาพถ่ายเอกซเรย์ข้อ ประสิทธิภาพของยา ผลข้างเคียงของยา ฐานะของผู้ป่วย
กลยุทธ์ของการใช้ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค มีดังนี้
๑) การรักษาแบบคู่ขนาน คือ การใช้ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ๒ ชนิดพร้อมกัน ตั้งแต่เริ่มการวินิจฉัยโรค และให้ยาไปตลอด
๒) การรักษาแบบค่อยๆ เพิ่มยา คือ การใช้ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ๑ ชนิดในระยะแรก และหากไม่สามารถควบคุมโรคได้ จึงเพิ่มยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคชนิดอื่นเข้าไปร่วมด้วย
๓) การรักษาแบบค่อยๆ ลดยา คือ การใช้ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ๒ ชนิด หรือมากกว่าตั้งแต่เริ่มการวินิจฉัยโรค เมื่ออาการของโรคดีขึ้นแล้ว จึงลดยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคออกทีละชนิด
๔) การรักษาแบบค่อยๆ ลดระหว่างรอยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ คือ การใช้ยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคหลายชนิด ร่วมกับการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อให้อาการข้ออักเสบดีขึ้น ระหว่างรอฤทธิ์ของยาต้านรูมาทิซึมที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค เมื่ออาการข้ออักเสบดีขึ้นจึงลดการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์
๕) การรักษาแบบจริงจังมุ่งสู่ระยะโรคสงบ คือ การรักษาที่จัดตามอาการของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีอาการของโรคน้อยที่สุด หรือเข้าสู่ระยะสงบภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ระยะเวลาของการประเมินเพื่อทำการปรับเปลี่ยนยา คือ ๑ - ๓ เดือน
๓. คอร์ติโคสเตียรอยด์
การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันถึงผลดีและผลเสียของยา จากการศึกษาการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ กับไม่ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์แล้ว ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของกระดูกและข้อด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ เมื่อติดตามดูผู้ป่วยเป็นเวลา ๒ ปี ปรากฏว่า การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ได้ผลดีกว่า อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงของข้อที่แย่ลง และมีความพิการของข้อ ส่วนผลข้างเคียงของการใช้ยาในระยะยาว คือ กระดูกพรุน กระเพาะอาหารเป็นแผล การติดเชื้อ และผู้ป่วยมีอายุสั้นกว่าที่ควร ข้อบ่งใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ได้แก่
- หลอดเลือดอักเสบที่มีอาการแสดงของแผลที่ผิวหนัง
- พังผืดในปอดที่เป็นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
- หลอดเลือดหัวใจอักเสบ
- โรคที่มีอาการทั่วร่างกายและรุนแรง มีไข้
๔. การผ่าตัด
แม้ว่าการควบคุมการอักเสบของข้อสามารถทำได้โดยวิธีการรักษาดังกล่าวข้างต้น แต่ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เรื้อรังอาจมีอาการจากโครงสร้างข้อเสียหาย ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดเป็นการจำแนกการรักษาแบบที่ไม่ใช้ยา มีข้อบ่งชี้ดังนี้
๑) อาการปวดที่ทนไม่ได้ จากโครงสร้างของข้อที่เสียไป
๒) การทำงานของข้อเสียไป จากโครงสร้างของข้อที่เสียหาย ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเยื่อบุข้ออักเสบเรื้อรังทำลายโครงสร้างข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไทย ตำแหน่งที่พบปัญหาคือ ข้อเข่า ผู้ป่วยมีการสูญเสียกระดูกอ่อนผิวข้อจนกระดูกทั้งสองข้างเสียดสีกัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อเข่า ข้อเข่าฝืด และมีมุมการเคลื่อนไหวลดลง การผ่าตัดในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ที่ทำบ่อย และประสบความสำเร็จ ได้แก่
- การผ่าตัดเพื่อลดการกดเบียดเส้นประสาท
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เมื่อโครงสร้างข้อเข่าเสียหายจนเป็นอุปสรรคต่อการเดิน
- การต่อเส้นเอ็นมือที่ขาด สำหรับผู้ป่วยที่เส้นเอ็นกระดกนิ้วมือขาด
- การตัดหัวกระดูกนิ้วเท้า เมื่อหัวกระดูกข้อโคนนิ้วเท้าเคลื่อนและไปกดฝ่าเท้า ทำให้มีอาการปวด หรือเกิดเป็นแผลที่ฝ่าเท้า
ผลของการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ผ่าตัด ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมารับการผ่าตัด อาการของผู้ป่วยต่อการรักษาทางยาก่อนการผ่าตัด การดูแลหลังการผ่าตัด การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด และการบริหารข้อ ก็มีส่วนสำคัญมากในการทำให้การทำงานของข้อดีและคงอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ การผ่าตัดไหล่ และการผ่าตัดมือ