ความเป็นมาของศาสนาพราหมณ์และคณะพราหมณ์ในสยามประเทศ
ศาสนาพราหมณ์ และคณะพราหมณ์ ได้เข้ามามีบทบาทในดินแดนประเทศไทย ก่อนที่คนไทยจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่น นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า ไทยรับเอาศาสนาพราหมณ์มาหลายทาง
ทางแรก ได้แก่ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลผ่านทางเขมรซึ่งขณะนั้นคือ อาณาจักรฟูนัน ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยเขมรมีอิทธิพลและบทบาท ทั้งทางการเมืองและทางศิลปะอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานจากโบราณสถาน เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย
ทางที่ ๒ ได้แก่ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันตก ได้รับอิทธิพลผ่าน อาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลาง โดยรับเอาศาสนาพราหมณ์มาจากอินเดียโดยตรง เนื่องจากในราว พ.ศ. ๓๐๓ เมื่อครั้งที่พระโสณเถระกับพระอุตรเถระ เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรทวารวดี พระเถระเหล่านี้เข้ามาในฐานะศาสนทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช การเดินทางมาในครั้งนั้น มีคณะพราหมณ์จากอินเดีย ติดตามมาด้วย ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการ อาทิ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และกาญจนา สุวรรณวงศ์ จึงสันนิษฐานว่า ศาสนาพราหมณ์ น่าจะได้ประดิษฐานตั้งมั่นในผืนแผ่นดินไทย นับจากสมัยนั้นเป็นต้นมา ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยทวารวดี ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ อาทิ เทวสถาน เทวรูป พระเป็นเจ้าต่างๆ ในบริเวณจังหวัดในภาคตะวันตก เช่น ที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี
ทางที่ ๓ ได้แก่ ภาคใต้ของไทย โดยรับผ่านพราหมณ์ที่มากับพ่อค้าอินเดียซึ่งเดินทางมาค้าขายที่เมืองท่าต่างๆ ทางภาคใต้ ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ในที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี พังงา พัทลุง
อย่างไรก็ดี หลักฐานทางโบราณคดีที่รับอิทธิพลผ่าน ๓ อาณาจักรข้างต้นแสดงว่า ในระยะแรก ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นสูง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ยอมรับพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ ก็ยังคงนับถือพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อดั้งเดิม และบางส่วนมีความเชื่อผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อเรื่องผี
โบราณสถานที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ที่วัดศรีสวาย จ.สุโขทัย สร้างในสมัยสุโขทัย
ต่อมา เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์พระร่วงได้ทรงเอาพระทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเอาพระธุระในกิจการของศาสนาพราหมณ์ด้วย ในฐานะทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ดังปรากฏจากโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์หลายแห่ง เช่น วัดศรีสวา วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง วัดเจ้าจันทร์ ที่ใช้เป็นเทวสถานในอาณาจักรสุโขทัย รวมถึงหลักฐานในศิลาจารึกหลักต่างๆ เช่น ศิลาจารึกวัดศรีชุม ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง โดยในจารึกวัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัย (หลักที่ ๔) สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เป็นอักษรขอม ภาษาเขมร มีการกล่าวถึง การสร้างเทวรูปไว้สำหรับบูชา และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงแปลได้ความดังนี้
"...แล้วทรงหล่อรูปพระศรีอาริย์พระองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ในพระวิหารคด ทิศใต้ในอาราม ครั้งหนึ่งตรัสสั่งนายศิลปินนายช่าง ให้หล่อรูปพระนเรศ พระมเหศวร พระวิษณุกรรม รูปพระสุเมธวรดาบส พระศรีอาริย์ ทั้งห้ารูปนี้ ประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน ไว้เป็นที่นิพัทธบูชา ณ ตำบลป่ามะม่วง..."
ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานร่องรอยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์อย่างเด่นชัด ในสมัยนี้ศาสนาพราหมณ์ได้แพร่หลายมาก ในกลุ่มชนชั้นสูง คติความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ได้เข้ามาผสมผสานกับพิธีกรรมดั้งเดิมของคนไทยนับแต่นั้นมา ที่สำคัญคือ การรับเอาคติ เทวราชา ซึ่งเป็นหลักการที่ยอมรับสถานะของพระเจ้าแผ่นดินว่า ทรงเป็น เทวราช หรือผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเป็นเจ้า (พระนารายณ์ หรือพระอิศวร) หลักการนี้ได้นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ นับแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคติเทวราชาชัดเจน คือ การเฉลิมพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน ให้พ้องกับพระนามของพระเป็นเจ้า อาทิ สมเด็จพระรามาธิบดี สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระยาราม สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนี้การออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระราชพงศาวดาร ก็มักเติมสร้อยพระนาม ให้มีพระนามของพระเป็นเจ้ารวมอยู่ด้วย ดังใน "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)" ที่ออกพระนามสมเด็จพระเอกาทศรถว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวร และด้วยเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเทวราชนี้เอง พราหมณ์จึงได้นำเอาพิธีต่างๆ เข้ามาใช้ในพระราชสำนักเพื่อเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น พราหมณ์ในสมัยนั้นจึงได้รับการยกย่องอย่างมาก
วัดศรีชุม จ.สุโขทัย มีศิลาจารึก สมัยสุโขทัย ถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ ที่กล่าวถึงบทบาทของพราหมณ์ในสังคมไทย
นอกจากพราหมณ์ราชสำนักในกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังมีพราหมณ์จากอินเดียใต้ หรือปัญจทราวิฑเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ภาคใต้ของไทย นอกเหนือไปจากชุมชนพราหมณ์ที่ได้อาศัยอยู่มาก่อนหน้านี้แล้ว การเข้ามาครั้งนี้มีปรากฏอยู่ใน ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ที่กล่าวว่า พ.ศ. ๑๘๙๓ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง มีพ่อค้าจากเมืองรามนคร มาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อกลับบ้านเมืองได้ไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินของตนว่า ยังมีองค์พระนารายณ์อวตารอีกองค์หนึ่ง ที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้ารามนครได้ทรงสดับเช่นนั้นก็มีพระราชประสงค์จะเจริญพระราชไมตรีด้วย จึงได้พระราชทานเทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปศรีลักษมี เทวรูปพระอิศวร พระมเหวารีย์บรมหงษ์ และชิงช้าทองแดง มาถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย โดยให้คณะพราหมณ์ ๕ เหล่า มีพราหมณ์ธรรมนารายณ์เป็นหัวหน้า เดินทางมาสู่กรุงศรีอยุธยา ในระหว่างทางมีพายุพัดเรือมาเข้าฝั่งที่ปากแม่น้ำตรัง กรมการเมืองได้รายงานไปยังเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงรายงานต่อไปยังพระราชสำนัก จึงโปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีไปรับเทวรูป มาประดิษฐานไว้ที่กรุงศรีอยุธยา แต่ปรากฏว่าเดินทางไปไม่ได้ เนื่องจากเกิดพายุขึ้นอีก จึงมีพระบรมราชานุญาต ให้นำมาประดิษฐานไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยโปรดให้คณะพราหมณ์ ๕ เหล่าเป็นผู้รักษา อีกทั้งยังมอบหมายหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ปรากฏหลักฐาน เป็นข้อความใน ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ดังนี้
"... อนึ่ง มีตราพระมหาราชครู แลตราเจ้าพระยาโกษาโปรดออกมาลุแก่เจ้าเมืองผู้รั้ง กรมการผู้ได้เปนพนักงานสำหรับแผ่นดินเมืองนครให้ทำพิธีมงคลโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้ สำหรับพิธีกรรมโรหิตนี้ พิธีจองตังเปรียงสาดโคม ตรียำพวาย ติริยปา-วาย พิธียกประตูเมืองทั้งเก้า แลทำภลมินลงบา ค่ายปากน้ำ ตั้งพระหลักเมือง พิธีแซกทำอุบาทว์เมือง พิธีสระสนาน ฝังหลักช้างโรงโขลนทวาร เบิกไพร ทอดเชือก ดามเลือก สระหัวช้าง พิธีสูดเมฆให้ฝนตก สุริน อุปราคา สนานลาไพร ทำหมดควาน กงคราวยะ มงคลพิธี ๒๐ ประการ ทรงพระกรุณาโปรดให้ไว้เปนพิธีพราหมณ์ ตั้งกุณฑ์มงคลฝ่ายเดียว อนึ่ง เศกสมโภช ที่พระศรีรัตนมหาธาตุ สัพพันมงคลเดือนสิบ ขึ้นศรีมงคลเดือนศรีก็ดี แลบริสุทธิอุบาทว์มงคลศรีรัตนมหาธาตุ แลอัฐยันศรียะพิธี ๕ ประการนี้ โปรดไว้ให้พระสงฆ์แลพราหมณ์ตั้งกุณฑ์พิธีเข้ากัน ..."
คณะพราหมณ์กลุ่มนี้จึงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองใกล้เคียงนับแต่นั้นมา ภายหลังมีพราหมณ์ส่วนหนึ่ง ได้อพยพย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเพชรบุรี จนกลายเป็นชุมชนพราหมณ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สำหรับพระนคร ที่ ถ.ดินสอ ในเขตพระนคร กรุงเทพฯ เยื้องๆ กับเสาชิงช้า และวัดสุทัศนเทพวราราม
เมื่อคราวที่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริว่า เหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ นั้น ส่งผลให้ตำราต่างๆ ถูกทำลาย และสูญหายไปจำนวนมาก รวมทั้งพราหมณ์ราชสำนักก็พลัดหายไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปสืบหาตำราต่างๆ ที่หัวเมืองปักษ์ใต้มายังกรุงเทพฯ และให้นำพราหมณ์ภาคใต้ขึ้นมารับราชการเป็นพราหมณ์ประจำพระราชสำนัก เพื่อรื้อฟื้นและวางหลักของพิธีการต่างๆ สำหรับพระนครให้เหมือนกับสมัยอยุธยา นอกจากนี้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครขึ้น โดยอยู่เยื้องกับวัดสุทัศนเทพวราราม คณะพราหมณ์เหล่านี้ จึงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเทวสถาน และเกิดเป็นชุมชนโบสถ์พราหมณ์ มาจนถึงปัจจุบัน