ลักษณะสถาปัตยกรรม และประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
สถาปัตยกรรมและประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นศิลปะอันเนื่องมาจากคติในศาสนาพราหมณ์ การสร้างเทวสถานในสมัยโบราณ มักสร้างให้เทวสถานของพระเป็นเจ้าเป็นประธานคือ เป็นศูนย์กลางของสถานที่ และมีวิหารล้อมรอบ ๔ ด้าน เสมือนเทวสถานเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ที่ล้อมรอบด้วยทวีปทั้ง ๔ เทวสถาน ในสมัยโบราณนั้น ส่วนใหญ่ทำด้วยศิลา และมักมีส่วนประกอบสำคัญคือ โคปุระ เป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่อยู่บริเวณชั้นล่างสุด สำหรับใช้เป็นที่ทำสมาธิบูชาพระเป็นเจ้า ก่อนเข้าสู่ภายในเทวสถาน พระมหามณเฑียร อยู่ชั้นถัดมา สำหรับใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อเสด็จฯ มา รวมทั้งเป็นที่พักสำหรับผู้มาจาริกแสวงบุญ ชั้นบนสุดคือส่วนที่เรียกว่า มหาปราสาท หรือเทวสถานที่เป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้า โดยมากมักประดิษฐานศิวลึงค์
หน้าบันของสถานพระอิศวร
ภายในเทวสถานมักจำหลักรูปเคารพ และเรื่องราวของพระเป็นเจ้า เทวดา รวมถึงสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในคติพราหมณ์ เช่น นาคราช สิงห์ ส่วนเสามักเป็นหินสี่เหลี่ยมวางซ้อนกัน จำหลักลายต่างๆ เช่น ลายกระจัง ลายดอกมณฑากลีบบัวซ้อน และลายประจำยามก้ามปู สำหรับหลังคามักมุงด้วยกระเบื้องดินเผาโค้งเป็นลูกฟูกแบบที่เรียกว่า กาบู และประดิษฐานเทวรูปต่างๆ ซึ่งเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย
หน้าบันของสถานพระอิศวร
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในประเทศไทย อาจแบ่งเป็น เทวสถานในกรุงเทพฯ และเทวสถานในต่างจังหวัด
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ
ในกรุงเทพฯ มีเทวสถานที่สำคัญ คือ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร เดิมเรียกว่า เทวสถานสำหรับพระนคร ตั้งอยู่เลขที่ ๒๖๘ ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ อยู่ใกล้กับวัดสุทัศนเทพวราราม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร มีโบสถ์อยู่ ๓ หลัง ประกอบด้วย สถานพระอิศวร สถานพระพิฆเนศ และสถานพระนารายณ์
เทวรูปพระพิฆเนศ ประดิษฐานภายในสถานพระพิฆเนศ มี ๕ องค์ ประทับนั่งทุกองค์
โบสถ์ทั้ง ๓ หลัง เป็นสถานสักการะสำคัญ ที่ได้ประกอบพระราชพิธีถวายมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ไม่มีลวดลาย เฉพาะสถานพระอิศวรหน้าบันมีลายปูนปั้น เป็นรูปวิมาน เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระอุมา และเครื่องมือพิธี กลศ สังข์ กุมภ์ ลอยอยู่บนเมฆ ภายในเมฆมีโคนนทิ ซึ่งปรากฏเป็นรูปโค มีเฉพาะแต่หน้า ไม่มีตัวโค ภายในโบสถ์ไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สถานพระอิศวรมีขนาดใหญ่กว่าสถานพระพิฆเนศและสถานพระนารายณ์ ส่วนสถานพระพิฆเนศและสถานพระนารายณ์ มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งได้รับอิทธิพลการสร้างโบสถ์ในสมัยอยุธยา
เทวรูปพระอิศวร ในปัจจุบัน นำไปเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔
เทวรูปที่ประดิษฐานภายในโบสถ์
๑. สถานพระอิศวร หรือโดยทั่วไปเรียกว่า โบสถ์ใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าสถานพระพิฆเนศและสถานพระนารายณ์ ภายในประดิษฐานเทวรูปสำคัญ คือ เทวรูปพระอิศวร ปางประทานพร ประทับในท่ายืน และมีเทวรูปขนาดเล็กหลายองค์อยู่บนชั้นลดทั้งซ้ายและขวา เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเนศ พระพรหม และพระฤาษี ซึ่งมีขนาดประมาณ ๑ ศอก ด้านบนชั้นลดทั้งซ้ายและขวา มีเทวรูปพระศิวนาฏราช และพระอุมา เทวรูปที่อยู่ภายในโบสถ์ส่วนใหญ่เป็นเทวรูปที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชะลออัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัย มีอยู่หลายองค์ที่เป็นศิลปะขอม ยุคอินเดียใต้ เช่น พระศิวนาฏราช ศิลปะขอม
เทวรูปพระอิศวร ในปัจจุบัน นำไปเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔
ภายในสถานพระอิศวรมีเสาหงส์ซึ่งใช้สำหรับประกอบพิธีในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ส่งพระอิศวร ที่จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๒ และมีที่สำหรับประดิษฐานรูปสลักไม้พระแม่ธรณี พระแม่คงคา และพระอาทิตย์กับพระจันทร์ซึ่งอยู่ในแผ่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้เรียกว่า นางกระดาน มี ๓ แผ่น สูงประมาณเท่าคน ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑
๒. สถานพระพิฆเนศ ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยเช่นเดียวกับพระอิศวร สันนิษฐานว่า ชะลอมาพร้อมกัน โดยองค์พระพิฆเนศประดิษฐานอยู่บนเบญจา เป็นพระพิฆเนศสลักหิน ศิลปะขอม สมัยโจฬะของอินเดียใต้ องค์ใหญ่ขนาดเท่าคนนั่ง
๓. สถานพระนารายณ์ มีเทวรูปพระนารายณ์ สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า ชะลอมาในสมัยเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเทวรูปพระลักษมี พระมเหศวรี (ภูมิเทวี) ประดิษฐานอยู่บนบุษบก มีลักษณะและขนาดเท่าคน และมีเสาหงส์ใช้ประกอบพิธีส่งพระนารายณ์ ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๒
โบสถ์ทั้ง ๓ หลัง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ซึ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ หน้า ๕๒๘๑ ลำดับที่ ๑๑ ระบุว่า เทวสถานเป็น "โบราณวัตถุสถาน" สำคัญของชาติประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒
หอเวทวิทยาคม ตั้งอยู่ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณฑ์
สำหรับเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ ที่ประดิษฐานภายในโบสถ์ทั้ง ๓ หลัง สันนิษฐานว่า สร้างในสมัย พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย ราว พ.ศ. ๑๙๐๐ แล้วโปรดให้ประดิษฐานไว้ในเทวาลัยมหาเกษตร ใกล้กับวัดป่ามะม่วง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ชะลอจากเมืองสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร เมื่อตอนแรกสร้าง ปัจจุบันเทวรูปพระอิศวรและเทวรูปพระนารายณ์ บางส่วนได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่เมื่อคราวเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๘๔ คงเหลือแต่เทวรูปพระพิฆเนศที่ยังคงประดิษฐานอยู่ ณ สถานพระพิฆเนศ ตราบจนปัจจุบัน