เล่มที่ 34
บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความเป็นมา

            สหรัฐอเมริกาเริ่มนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ก่อนประเทศอื่นๆ และเป็นประเทศแรก ที่ริเริ่มการให้บริการข้อมูลของธนาคาร ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยแรกเริ่มเป็นการจัดทำระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า เว็บไซต์ ที่ให้ข้อมูลทั่วไปของธนาคาร เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ การส่งเสริมการขาย รายงาน และข่าวสารทางธุรกิจ และเศรษฐกิจการเงิน สถานที่ตั้งสาขาธนาคาร และที่ตั้งตู้เอทีเอ็ม ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ ธนาคารต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มมีการจัดแบ่งกลุ่มขึ้นเป็นหลายๆ กลุ่ม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการใช้อินเทอร์เน็ต ให้เป็นประโยชน์แก่ธนาคาร และประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แม้ในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่า การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตจะเป็นไปได้ในเร็ววันก็ตาม ความสนใจในสื่อนี้ สืบเนื่องมาจาก ความคาดหวังที่ว่า การให้บริการของธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง (Internet Banking) จะสามารถลดต้นทุนในการบริการธนาคารได้มาก เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ จากการศึกษา ของนายสแต็กแมน (Mr. Stagman) ได้ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายของธนาคารในการให้บริการหน้าเคาน์เตอร์ที่สาขาของธนาคาร ต่อหนึ่งธุรกรรม โดยเฉลี่ยเท่ากับ ๑.๐๗ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๔๕ บาท) บริการผ่านตู้เอทีเอ็ม เฉลี่ยเท่ากับ ๐.๒๗ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๑๑ บาท) และบริการผ่านโทรศัพท์ เฉลี่ยเท่ากับ ๐.๐๔ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๑ บาท ๗๐ สตางค์) แต่ถ้าให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตจะเหลือเพียง ๐.๐๑ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๔๒ สตางค์) เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑ ของค่าใช้จ่ายในการให้บริการที่สาขาของธนาคารต่อหนึ่งธุรกรรม นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า สาขาของธนาคารบนอินเทอร์เน็ตจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสาขาธรรมดาถึงร้อยละ ๗๐ ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา อาทิ ธนาคารเวลส์ฟาร์โก (Wells Fargo & Co.) ธนาคารแห่งอเมริกา (Bank of America) ได้เริ่มเปิดสาขาบนอินเทอร์เน็ต โดยเริ่มบริการให้ลูกค้าดูข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ต สมัครสินเชื่อ และชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการได้ นอกจากนี้ ธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งยังระดมทุนกันเพื่อจัดตั้ง “ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นธนาคาร ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องมีสาขาใดๆ ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกของโลก คือ ธนาคารซิเคียวริตีเฟิร์สเน็ตเวิร์ก (Security First Network Bank) ซึ่งเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยลูกค้าสามารถเรียกดูบัญชีของตน ชำระค่าสินค้าและค่าบริการ ดูเช็คที่ถูกอายัดผ่านอินเทอร์เน็ต ส่วนการเบิกเงินก็ทำผ่านตู้เอทีเอ็ม ธนาคารดังกล่าว สามารถดึงดูดลูกค้าโดยให้ดอกเบี้ยสูง และไม่คิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม

หน้าจอสมัครใช้งาน SCB Easy Net ของธนาคารไทยพาณิชย์

ใน พ.ศ.  ๒๕๓๙ จากการสำรวจของบริษัทดาตาโปร อินฟอร์เมชัน เซอร์วิเซส (DataPro Information Services Group) พบว่า ร้อยละ ๗ ของธนาคารทั้งหมดมีบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งแล้ว และร้อยละ ๕๙ มีแผนพัฒนาระบบดังกล่าวภายใน พ.ศ. ๒๕๔๐ บริการนี้เริ่มเผยแพร่ไปในทวีปยุโรป โดยอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ธนาคารเริ่มให้บริการนี้

            การให้บริการผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตของธนาคารใหญ่ๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ลูกค้าของธนาคารเวลส์ฟาร์โก และธนาคารแห่งอเมริกา ได้ย้ายเข้ามาใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ธนาคารคาดไว้ ภายในเวลา ๑ ปี ธนาคารซิเคียวริตีเฟิร์สเน็ตเวิร์กก็มีลูกค้าถึง ๔,๐๐๐ คน และมีสินทรัพย์มากถึง ๑๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความสำเร็จนี้ ทำให้มีการเปิดตัวธนาคารอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้สาขาแห่งที่ ๒ คือ ธนาคารแอตแลนตาอินเทอร์เน็ต (Atlanta Internet Bank) แม้ว่าในช่วงนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงมีเว็บไซต์ที่ให้เพียงข้อมูลเท่านั้น สมาคมธนาคารของสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งมาก จนต้องจัดทำสื่อการสอน ให้แก่ผู้บริหารธนาคารขนาดเล็ก เพื่อช่วยในการวางแผนจัดพัฒนาบริการอินเทอร์เน็ตต่อไป

            ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ - พ.ศ. ๒๕๔๒ การให้บริการธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในสหรัฐอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ทวีปยุโรป และภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในทวีปยุโรปมีประเทศที่เริ่มให้บริการ ได้แก่ ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ส่วนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การบุกเบิกในด้านการให้บริการธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตเริ่มขึ้นที่ฮ่องกง และประเทศสิงคโปร์ ก่อนขยายมาที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และประเทศอื่นๆ สำหรับในสหรัฐอเมริกา ธนาคารเวลส์ฟาร์โกก็ยังคงเป็นผู้นำ ในด้านการพัฒนาบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และได้เริ่มการให้บริการนำเสนอใบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bill Presentment) เพื่อให้บริษัทเรียกเก็บเงินจากคู่ค้าผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และการเปิดตัวธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็มีเพิ่มขึ้น เช่น ธนาคารวิงสแปน (Wingspan Bank) และธนาคารเน็ตแบงก์ (Net Bank, Inc.) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ (e-commerce) กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก มีบริษัทที่ทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า ธุรกิจดอตคอม (Dot.com) ซึ่งเปิดให้บริการบนอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ร้านค้าจริงๆ ให้คนเดินเข้ามาใช้บริการ หรือซื้อของ ธุรกิจดอตคอมมีนายทุนให้การสนับสนุนจำนวนมาก หลายๆ บริษัทได้เข้าตลาดหลักทรัพย์และราคาหุ้น ของบริษัทเหล่านั้น สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับได้ว่า เป็นยุคฟองสบู่ของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์


ใบเรียกเก็บเงินค่าสินค้าและบริการทางอิเล็กทรอนิกส์

            ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ บริษัทซีเอสเอฟบีได้มีการสำรวจธนาคารใหญ่ๆ จำนวน ๑๕ แห่ง พบว่า จำนวนลูกค้าอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ของธนาคารเหล่านี้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗๖ แต่ช่วงปลายปีเกิดภาวะฟองสบู่แตก ธุรกิจดอตคอมต่างๆ เริ่มทรุดตัว ทำให้ราคาหุ้น ของบริษัทเหล่านั้นตกลง เนื่องจากขาดทุน มีธุรกิจดอตคอมจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการ แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มธุรกิจ ที่มีช่องทางการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเพียงช่องทางเดียว จะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจที่ให้บริการหลายๆ ช่องทางได้ โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางขายเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว

ใน พ.ศ. ๒๕๔๔ การเกิดภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจดอตคอม ก็เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีสาขาเลย  ไม่อาจแข่งขันกับธนาคารที่มีสาขา หรือมีช่องทางบริการที่หลากหลาย รวมทั้งให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งด้วย ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหลายแห่งต้องเลิกกิจการไป รวมทั้งธนาคารซิเคียวริตีเฟิร์สเน็ตเวิร์ก และธนาคารวิงสแปน ในสหรัฐอเมริกา


บริการอิแบงกิ้งรูปแบบต่างๆ ของธนาคารไทยพาณิชย์

            ในทางตรงกันข้ามธนาคารใหญ่ๆ ที่เปิดบริการบนอินเทอร์เน็ตเสมือนเป็นอีกสาขาหนึ่ง กลับมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น  ธนาคารเวลส์ฟาร์โก มีลูกค้าอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ๒.๕ ล้านคน ธนาคารแห่งอเมริกา มี ๔ ล้านคน แม้กระนั้น ธนาคารก็เริ่มยอมรับความจริงที่ว่า การให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตนี้ไม่ได้ประหยัดเงินมากอย่างที่เคยคาดไว้ แม้ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีลูกค้ามากกว่า ๑ ใน ๔ ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งแต่ธนาคารก็ยังไม่มีผลกำไร ซึ่งเดิมเคยมีการคาดการณ์ว่า การให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการให้บริการผ่านสาขาถึงร้อยละ ๗๐ แต่ธนาคารเวลส์ฟาร์โกพบว่า ค่าใช้จ่ายลดลงเพียงร้อยละ ๑๔ เท่านั้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายของการทำแต่ละธุรกรรมที่ผ่านอินเทอร์เน็ต จะถูกลง แต่ก็ไม่ได้ลดลงเหลือเพียง ๐.๐๑ ดอลลาร์สหรัฐต่อธุรกรรม อย่างที่เคยมีการประเมินเอาไว้

            นับจาก พ.ศ. ๒๕๔๕  เป็นต้นไป เริ่มเห็นชัดว่า บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งของธนาคารที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี  ผู้บริหารธนาคารเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมอง เห็นว่า บริการนี้เป็นบริการที่จำเป็นต้องมี เพื่อดึงดูดลูกค้าให้คงอยู่กับธนาคาร แบบเดียวกับที่ธนาคารต้องมีตู้เอทีเอ็ม แต่ก็ไม่ได้เป็นบริการที่ทำกำไรหรือประหยัดค่าใช้จ่ายมากนัก