เล่มที่ 34
บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

            โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโทรศัพท์มือถือ (Mobile Phone) กลายเป็นสิ่งจำเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่มักนำติดตัว เมื่อต้องออกจากบ้าน นอกเหนือไปจากกระเป๋าเงินและนาฬิกา บางคนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จนติดเป็นนิสัย ต้องพกติดตัวตลอดเวลา เพราะเกรงว่า หากมีใครติดต่อมาแล้วไม่ได้รับสาย จะทำให้พลาดการติดต่อสื่อสาร จากตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนเรามาก และยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จาก องค์การโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union) รายงานว่า ใน พ.ศ. ๒๕๕๑ มีผู้สมัครใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า ๔,๐๐๐ ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้นมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หลายสิบล้านคน


บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งบนหน้าจอของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ธนาคารให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก

            จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เราเห็นว่า อัตราการเติบโตของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละปี ทำให้ธนาคารต่างๆ ที่เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เห็นความสำคัญของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการทำธุรกรรมกับธนาคาร เพื่อเพิ่มช่องทาง การให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารมากขึ้น ซึ่งเราเรียกบริการนี้ว่า การธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ “โมบายแบงกิ้ง” (Mobile Banking) จุดเด่นของบริการนี้คือ ค่าใช้จ่ายในการทำรายการถูกกว่าการเดินทางไปทำรายการ ที่สาขาของธนาคาร ทั้งยังสะดวกสบาย เพราะเสมือนมีสาขาของธนาคารพกติดตัว สามารถใช้บริการได้ตลอด  ๒๔ ชั่วโมง

            บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มมีครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยเยอรมนีเป็นประเทศแรก ที่เริ่มส่งเสริมด้านการใช้บริการโมบายแบงกิ้งอย่างจริงจัง และประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ทำให้ประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจเรื่องโมบายแบงกิ้งด้วย เช่น ประเทศอังกฤษ ดังเห็นได้จาก ธนาคารในอังกฤษได้ทยอยเปิดให้บริการโมบายแบงกิ้งกันมากขึ้น เช่น ธนาคารวูลวิช ลูกค้าของธนาคารสามารถสอบถามอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ความเคลื่อนไหวทางการเงิน รวมทั้งการชำระค่าสินค้า หรือบริการ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว


ลำดับขั้นตอนของการใช้บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

            ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ - พ.ศ. ๒๕๔๑ บริการโมบายแบงกิ้งได้รับการยอมรับมากขึ้นจากธนาคารในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น สเปน ฝรั่งเศส รวมไปถึงประเทศทางแถบสแกนดิเนเวีย เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ นอกจากนั้นบริการโมบายแบงกิ้งได้เริ่มเป็นที่รู้จัก และแพร่หลายเข้าไปในทวีปอื่นๆ เช่น อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย แต่ในช่วงเวลานั้น ผู้ใช้ยังไม่สนใจใช้บริการจากโทรศัพท์เคลื่อนที่มากนัก

            ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ธนาคารในสหรัฐอเมริกาเริ่มนำบริการโมบายแบงกิ้งไปใช้กันอย่างจริงจัง โดยเพิ่มเติมความสามารถในหลายๆ ด้านเข้าไป เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น สามารถใช้อินเทอร์เน็ต พร้อมกับการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ได้ทันที สามารถซื้ออาหารและเครื่องดื่ม จากตู้อัตโนมัติ ซึ่งแต่เดิมต้องใช้วิธีหยอดเหรียญจึงจะซื้อได้

            ส่วนทวีปเอเชีย ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ประเทศญี่ปุ่นมีบริการอย่างหนึ่งที่มีระบบทำงานคล้ายๆ กับโมบายแบงกิ้ง โดยบริษัทเอ็นทีที ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นความสำคัญของโมบายแบงกิ้ง แต่เนื่องจาก ยังไม่มีข้อจำกัด ในเรื่องมาตรฐานกลางของโมบายแบงกิ้ง ทำให้บริษัทเอ็นทีทีตัดสินใจพัฒนาบริการใหม่ขึ้นมาเรียกว่า “ไอโมด” (i-mode) ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ โมบายแบงกิ้งที่ใช้เวลาประมาณเกือบ ๒ ปี กว่าจะมีผู้ใช้โมบายแบงกิ้ง ๑ ล้านคน แต่ไอโมดใช้เวลาเพียง ๘ เดือนก็มีผู้ใช้มากถึง ๑ ล้านคนเช่นกัน