บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในประเทศไทย
ในประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารแห่งแรกที่เริ่มมีเว็บไซต์ สำหรับเผยแพร่ข้อมูลทั่วไป ของธนาคาร ผ่านอินเทอร์เน็ตใน พ.ศ. ๒๕๓๘ นับตั้งแต่นั้นมา การมีเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็เริ่มแพร่หลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมธนาคารได้เองมีการริเริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่นำมาให้บริการได้จริงหลังจากที่ธนาคารแห่ง ประเทศไทยได้อนุมัติการให้บริการดังกล่าวได้ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน)* เป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้รับการอนุมัติให้เปิดการบริการนี้ในช่วงต้น พ.ศ. ๒๕๔๓ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารที่ ๒ ที่เปิดให้บริการนี้ในกลาง พ.ศ. ๒๕๔๓ ตามมาด้วย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในปีเดียวกันนั้น
ตารางที่ ๑ ธนาคารในประเทศไทยที่ให้บริการทำธุรกรรมธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต ใน พ.ศ. ๒๕๕๑
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ประเทศไทยมีธนาคารอยู่ ๘ แห่งที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
ประเทศไทยไม่เคยมีการจัดตั้งธนาคารอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้สาขา ทั้งนี้เพราะตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุญาต ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ประสบปัญหาธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ต้องปิดกิจการดังเช่นในสหรัฐอเมริกา