๔. อาการแสดงทางใบหน้าแบบไม่ยินดียินร้าย ไม่ตอบสนองต่ออารมณ์ใดๆ
ไม่ว่าจะดีใจ หรือเสียใจ ผู้ป่วยบางรายมีอาการซึมเศร้า ไม่ค่อยยิ้ม หรือร่าเริงเหมือนเช่นปกติ โดยมีใบหน้าเป็นเหมือนหุ่นยนต์ หรือเหมือนใส่หน้ากาก ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจาก มีอาการเกร็ง ของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ร่วมกับอาการเคลื่อนไหวช้า ของกล้ามเนื้อร่วมกัน
๕. อาการเกร็งที่ก่อให้เกิดลักษณะวิกลรูปที่บริเวณมือและเท้า
ไม่ว่าจะเป็นการงอของข้อเท้าหรือนิ้วเท้า หรือการเหยียดเกินของข้อนิ้วมือ หรืออาการงอชิดของนิ้วเท้า หรือกระดกขึ้นมากเกินปกติ ของนิ้วแม่โป้งเท้า ปัจจุบันเรายังไม่ทราบกลไกในการเกิดลักษณะวิกลรูปเหล่านี้ที่แน่ชัด อย่างไรก็ดี ลักษณะวิกลรูปอาจดีขึ้น หรือหายไปได้ ถ้าได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่มักมีลักษณะการเดินชนิดไม่แกว่งแขน ท่าเดินมีการงอข้อศอกและข้อเข่า จึงทำให้ผู้ป่วยเดินชนิดตัวซุนๆ ไปข้างหน้า ตัวงอ คอก้ม และบางรายอาจเดินเซข้างไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้
๖. อาการปวดคอ หรือปวดหลัง
อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม อาการปวดมักเกิดบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านหลัง และบริเวณเอว แต่อาการปวดเหล่านี้ ไม่มีอาการปวดเสียวร้าวไปตามเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง
อาการเคลื่อนไหวช้า
การเคลื่อนไหวช้าเป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่อาจพบได้ในระดับต่างๆ กันของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของร่างกายมีได้ตั้งแต่กล้ามเนื้อแขนและขาที่ใช้ในการทำงานอย่างละเอียด เช่น การเขียนหนังสือ ตลอดจนกล้ามเนื้อบริเวณ ใบหน้า ปาก และลิ้น อาการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกตินี้ มีสูงถึงร้อยละ ๙๘ ของผู้ป่วยทั้งหมด และพบว่าราวร้อยละ ๕๐ มีอาการเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แต่เมื่อติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปอีก ๑๐ ปี พบว่าร้อยละ ๗๐ ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการเป็นมากขึ้น โดยมีอาการเกิดขึ้นทั้งสองข้างของร่างกาย อาการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกตินี้ พบบ่อยกว่า ทั้งอาการสั่นและอาการเกร็ง และสามารถก่อให้เกิดลักษณะของอาการแสดงทางคลินิกในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ได้หลายรูปแบบ ดังนี้
๑. การเคลื่อนไหวที่เกิดน้อยกว่าปกติ
ภาวะนี้จะไม่ทำให้มีอาการอัมพาตของแขนขาที่แท้จริงแต่อย่างใด การเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติของร่างกายชนิดนี้ อาจเกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อใดกล้ามเนื้อหนึ่ง นับจากบริเวณเท้าถึงใบหน้า ในกรณีที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน้าไม่แสดงอารมณ์แบบสวมหน้ากาก ซึ่งหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อที่บริเวณกล่องเสียง ก็จะทำให้เกิดการพูดเสียงเบาๆ แบบเสียงราบเรียบเป็นระดับเดียวกันตลอดเวลา และในเวลาต่อมา อาจมีอาการพูดรัว หรือพูดไม่ชัด ตามมาได้
ผู้ป่วยพาร์กินสันมักมีน้ำลายไหลยืดออกมากตลอดเวลา
๒. ภาวะน้ำลายออกมาก
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีน้ำลายไหลยืดออกมากอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลเนื่องมาจาก ร่างกายผู้ป่วยมีการสร้างน้ำลาย ในปริมาณที่มากกว่าปกติ ร่วมกับมีการเคลื่อนไหวลดลงของกล้ามเนื้อ บริเวณริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน
๓. ภาวะเดินเกร็งและแขนไม่แกว่ง
ในคนปกติขณะเดินมักมีการแกว่งแขนสลับข้างกับขาร่วมไปด้วยพร้อมๆ กันโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักมีการสูญเสียการเคลื่อนไหวของแขนร่วมกับการเดิน ทำให้การเดินเป็นลักษณะเหมือนหุ่นยนต์
๔. การเขียนลำบาก
เกิดขึ้นที่บริเวณมือ โดยที่การเขียนหนังสือนั้นจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานและร่วมมือกันอย่างดีของกล้ามเนื้อต่างๆ ที่บริเวณแขนและมือ ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจใดๆ ที่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเกือบทุกรายมีปัญหาในด้านการเขียนหนังสือ โดยอาจเริ่มเขียนหนังสือได้ช้า หรือเขียนหนังสือตัวเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งในระยะท้ายๆ ของโรค ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีความยากลำบากในการเขียนหนังสือมากขึ้น จนเขียนหนังสือไม่ได้เลย แม้กระทั่งการเซ็นชื่อตนเองก็ตาม
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีภาวะการเคลื่อนไหวลำบาก เช่น ติดกระดุมเสื้อ
๕. การเคลื่อนไหวลำบาก
ในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ อันได้แก่ การติดกระดุมเสื้อ การผูกเชือกรองเท้า การโกนหนวด การแปรงฟัน การล้างถ้วยชาม จะทำได้ด้วยความยากลำบาก และในเวลาต่อมาอาจทำไม่ได้เลยในที่สุด นอกจากนี้ การพลิกตัวของผู้ป่วยในเตียง การลุกจากเก้าอี้นั่ง และการเดินก้าวสั้นๆ โดยที่ไม่สามารถยกเท้าสูงขึ้นจากพื้น ต่างก็เป็นผลเนื่องมาจาก ภาวะเคลื่อนไหวลำบาก จนในที่สุดผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะท้ายๆ มักไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เลย และต้องการคนดูแลช่วยเหลือตลอดเวลา
๖. ความผิดปกติในการพูด
การพูดของคนเราตามปกติต้องอาศัยการประสานงานของกล้ามเนื้อหลายๆ ตำแหน่ง เช่น กล้ามเนื้อของริมฝีปาก ลิ้น เพดาน คอ และกล่องเสียง แต่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีความผิดปกติของการพูดในอัตราที่สูง โดยจะพูดเบาลงหรือเสียงค่อยกว่าเดิม หรือพูดชนิดที่ไม่มีน้ำหนักของคำพูดที่เปล่งเสียงออกมา และในระยะต่อมาพบว่า เสียงพูดของผู้ป่วยจะเป็นแบบเสียงราบเรียบ ระดับเดียวกัน กล่าวคือ เสียงพูดจะราบเรียบเสมอเท่ากันทั้งหมด ไม่มีระดับเสียงสูงหรือเสียงต่ำแต่อย่างใด และการพูดจะไม่มีการแสดงออกทางด้านอารมณ์ของคำพูดเลย
การเสียการทรงตัว
ความผิดปกติในการเดินของผู้ป่วย โรคพาร์กินสันนั้น พบได้บ่อยและสามารถใช้เป็นเครื่องช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายกลไกด้วยกัน กล่าวคือ ในช่วงแรกๆ เป็นผลเนื่องมาจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเดินมีการเคลื่อนไหวช้า หรือมีการเคลื่อนไหวน้อยผิดปกติ อันเนื่องมาจากการเสียการทรงตัวของร่างกาย ความผิดปกติในการเดินของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ในช่วงระยะเวลา ๕ ปีแรก ที่เป็นโรคนั้น จะพบว่ามีความผิดปกติของการเดินในอัตราสูงถึงร้อยละ ๕๕ - ๖๐ ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยอาจพบว่า มีการเดินแบบแขนไม่แกว่งข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคมานานเกิน ๘ - ๑๐ ปี มักมีความผิดปกติในท่าการเดินได้หลายรูปแบบ จนในที่สุดก็จะเดินไม่ได้ และต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา
ความผิดปกติของลูกตา
ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีอาการที่เกี่ยวข้องกับลูกตาได้หลายรูปแบบดังนี้
๑. สูญเสียความสามารถในการมองใกล้
ผู้ป่วยโรคนี้มักพบว่า เวลามองสิ่งของใกล้ๆ จะเห็นภาพซ้อน ในขณะที่การมองไกลจะเห็นเป็นปกติ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการควบคุมการมองใกล้ของผู้ป่วยได้สูญเสียไป
๒. สูญเสียความสามารถในการมองสิ่งของที่อยู่สูง
ผู้ป่วยมีการสูญเสียด้านการมองขึ้นด้านบน แต่จะมองสิ่งของที่อยู่ต่ำได้ดี มีรายงานว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางราย อาจมีการสูญเสียความสามารถ ในการกลอกตาขึ้นบนหรือลงล่าง ในแนวดิ่งทั้งสองทิศทางได้
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีความผิดปกติของการกลอกลูกนัยน์ตาในแนวราบ และจะเห็นภาพซ้อนในการมองสิ่งของใกล้ๆ
๓. มีความผิดปกติของการกลอกลูกตาในแนวราบ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลอกตาในแนวราบ ในจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ และช้า ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลูกตา เป็นแบบมีจังหวะ แบบสะดุดๆ หลายหน และไม่ราบเรียบ สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจพบการเคลื่อนไหวแบบตากระตุกด้วย นอกจากนี้ หากสั่งให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกลอกลูกตาอย่างรวดเร็ว จากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง โดยไม่หมุนศีรษะ หรือหันคอแต่อย่างใด จะพบว่า ผู้ป่วยมีการกะพริบตาร่วมด้วยทุกครั้ง ที่กลอกลูกตา ซึ่งแตกต่างจากคนปกติที่จะไม่มีการกะพริบตาเลย
๔. การกะพริบตามีน้อย
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักมีการเบิ่งตาและตาเปิดกว้างกว่าของคนปกติ จึงทำให้มองดูเหมือนว่า ผู้ป่วยกำลังอยู่ในท่าจ้องมองอยู่ตลอดเวลา
ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติได้หลายแบบ โดยแบ่งความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละระบบ ของร่างกาย ดังนี้
๑. ระบบทางเดินอาหาร
อาการที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันคือ อาการท้องผูก ซึ่งมักเป็นอาการหลักของโรคนี้ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทุกรายมีความทุกข์ทรมานมาก อาการนี้อาจเกิดจากยาที่ใช้รักษาโรค หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยดื่มน้ำน้อย และไม่ยอมเดิน หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง และพบว่า ลำไส้ใหญ่มักมีการเคลื่อนไหวตัวน้อยกว่าปกติ ซึ่งบางรายอาจมีอาการมาก จนเกิดภาวะลำไส้ใหญ่ขยายโตมาก นอกจากนี้ยังพบว่า หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน มักมีการเคลื่อนไหวช้าและลดน้อยลงอีกด้วย
๒. ระบบทางเดินปัสสาวะ
ส่วนใหญ่กล้ามเนื้อหูรูดของการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วยโรคพาร์กิน-สันมักยังทำงานได้ดีอยู่ จนกว่าจะถึงระยะท้ายๆ ของโรค ซึ่งเกิดภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย จึงมีภาวะผิดปกติขึ้น สำหรับอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และถ่ายราด จะพบได้บ่อยกว่า และมักเป็นในผู้ป่วยชาย ที่เกิดจากต่อมลูกหมากโต
๓. ระบบหัวใจและหลอดเลือด
อาการที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ ความดันโลหิตต่ำเวลาลุก นั่ง หรือยืน ซึ่งอาจเป็นผลที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคนี้ก็ได้ และยิ่งกว่านั้น อาจพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางรายมีความผิดปกติโดยตรงเกิดขึ้นกับระบบประสาทส่วนปลาย
๔. ระบบผิวหนังและต่อมเหงื่อ
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางคนอาจมีอาการร้อนวูบวาบๆ ตามผิวหนัง ซึ่งถือว่าเป็นอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นเดียวกับอาการเหงื่อออกมากเฉพาะที่ของร่างกาย
อาการทางด้านจิต
ความผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้นสามารถจำแนกเป็น ๒ ประการหลัก ดังนี้คือ
๑. ภาวะสมองเสื่อม
ใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มีรายงานว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันราวร้อยละ ๔๐ มีปัญหาในด้านความฉลาด ความจำ อารมณ์ และบุคลิกภาพ เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนนั้น มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มานานมากกว่า ๑๐ - ๑๕ ปีขึ้นไป ในรายงานต่างๆ ทั่วโลกพบว่า อุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมนั้น พบได้ราวร้อยละ ๒๐ - ๘๐ ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ในประเทศไทย นิพนธ์ พวงวรินทร์ และคณะ ได้ศึกษาอุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันชาวไทยจำนวน ๑๓๒ ราย พบว่ามีอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมสูงถึงร้อยละ ๒๕.๗๖
๒. ภาวะผิดปกติทางอารมณ์
อาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันคือ ภาวะซึมเศร้า ในอดีตเคยเชื่อกันว่า ภาวะนี้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นผลตอบสนองของจิตใจต่อโรคทางกายที่รักษาไม่หาย และเป็นเรื้อรัง ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่มีความพิการทางร่างกายนำมาก่อน แต่ในปัจจุบันหลายคนเชื่อว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นผลโดยตรงจากโรคพาร์กินสัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง อุบัติการณ์ของภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้นมักไม่รุนแรง และไม่ค่อยมีปัญหา ในการที่ผู้ป่วยจะพยายามฆ่าตัวตายแต่อย่างใด และพบว่า ภาวะซึมเศร้านี้ มีความสัมพันธ์กับความจำ และความฉลาดที่ลดลง แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค อายุ และเพศของผู้ป่วย