การขนส่งไม้ด้วยสัตว์พาหนะ
เมื่อได้ชักลากไม้ในป่ามารวมกองไว้ ณ จุดที่ยานพาหนะอย่างอื่น สามารถจะเข้ามารับช่วงขนส่งไม้ซุงไปยังจุดหมายปลายทางต่อไปแล้ว เราเรียกช่วงงานทำไม้ขั้นต่อไปว่า การขนส่งไม้ซุง หากการขนส่งไม้ซุงไปยังจุดหมายปลายทางมีระยะทางสั้น คือ ไม่เกิน ๑๐ กิโลเมตร เราอาจใช้การขนส่งด้วยสัตว์พาหนะได้ พาหนะที่ใช้ในการขนส่งด้วยสัตว์พาหนะนี้ ได้แก่ ล้อหรือเกวียน ซึ่งเทียบด้วยวัวควาย ล้อหรือเกวียนที่ใช้ในการขนส่งไม้ เป็นล้อเกวียนที่ชาวบ้านใช้กันทั่วๆ ไป แต่เอากระบะที่ใช้บรรทุกของออก และติดตั้งหมอน คือ ท่อนไม้สี่เหลี่ยมยาวขวางไว้บนล้อหรือเกวียน เพื่อรองรับไม้ซุง การบรรทุกไม้บนล้อหรือเกวียนนี้ ใช้เฉพาะไม้ที่มีน้ำหนักไม่มากนัก และบรรทุกได้เพียงครั้งละ ๑-๒ ท่อน วิธีเอาไม้ขึ้นล้อ ชาวบ้านจะใช้ล้อนั้นเอง เป็นคานยกหัวไม้ซุงให้สูงขึ้น แล้วค่อยๆ เลื่อนล้อให้เข้าหาศูนย์กลางของท่อนไม้ โดยใช้ชะแลงเหล็กช่วยงัด เสร็จแล้วจึงมัดไม้ซุงให้ติดกับคานของล้อ ให้วัวหรือควายเทียมคู่ลากไปยังสถานที่ที่ต้องการต่อไป การขนส่งไม้ด้วยล้อหรือเกวียนนี้ นิยมใช้กันในละแวกบ้านที่มีล้อเกวียนเป็นจำนวนมากๆ อันเป็นวิธีหนึ่งที่จะกระจายงานให้ชาวบ้านได้มีงานทำ
การขนส่งไม้ด้วยเกวียน