การล่องแพ
แต่เดิมมาการขนส่งไม้ซุงเป็นจำนวนมากๆ มาสู่ตลาดการค้า หรือโรงเลื่อย ได้อาศัยวิธีการขนส่งทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายถูก ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า บรรดาโรงเลื่อยโรงงานที่อาศัยไม้ซุงเป็นวัตถุดิบ จึงมักจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำ การขนส่งไม้ซุงทางน้ำนั้น ใช้วิธีผูกไม้ซุงรวมกันเป็นแพ แล้วล่องลงมาตามน้ำ เรียกว่า "การล่องแพ" โดยใช้คนเป็นผู้ควบคุมในแพล่องไปตามน้ำในทิศทางที่ต้องการ ในปัจจุบันนี้ได้มีการใช้เรือโยงช่วยโยงแพ เพื่อให้แพถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น การล่องแพแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทตามลักษณะของไม้ซุง คือ ไม้ซุงลอยน้ำ และไม้ซุงจมน้ำ
แพไม้ซุงลอยน้ำ (ไม้สัก)
ไม้ซุงลอยน้ำ
ได้แก่ ไม้สัก ไม้สมพง ไม้กระท้อน ฯลฯ เมื่อผู้ทำไม้ต้องการจะขนส่งไม้ซุงโดยวิธีล่องแพ จะต้องเตรียมนำไม้ซุงมาไว้ ริมตลิ่งให้เสร็จก่อนฤดูฝนเมื่อรวบรุมไม้ซุงได้จำนวนมากพอแล้ว จึงคัดหรือกลิ้งไม้ซุงนั้นลงน้ำ เรียกกันว่า "การคัดไม้ลงน้ำ" ในแม่น้ำจะมีคนคอยจับไม้ซุงมัดติดกัน โดยใช้หวายหรือลวดร้อยจมูกซุง (ซึ่งเคยใช้เป็นรูสำหรับร้อยโซ่ให้ช้างลากไม้) แต่ละท่อนให้ติดกันเป็นแพใหญ่ และมีคานแพซึ่งเป็นไม้ท่อนเล็กๆ หรือไม้ไผ่ เป็นตัวสำหรับยึดทางด้านกว้างของแพ บนหลังแพ คือ ส่วนที่อยู่บนน้ำ จะมีกระท่อมเล็กๆ จำนวน ๑ หรือ ๒ กระเท่อมเรียกกันว่า "ทับแพ" ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนแพในขณะเดินทางทางด้านหัวแพ (ด้านที่อยู่ทางเหนือน้ำ) จะมีบันไดไม้ไผ่ผูกเป็นรูปสามเหลี่ยมตั้งสูงกว่า ทับแพ เรียกว่า "พะอง" ใช้เป็นที่สำหรับนายแพ หรือหัวหน้าคนแพ ซึ่งรับผิดชอบในการล่องแพนั้นๆ ไต่ขึ้นไปดูร่องน้ำ เพื่อจะได้สั่งให้คนแพของตน นำแพล่องไปให้ตรงร่องน้ำ จะได้ไม่เกยตื้น และทางด้านหัวแพนี้จะมีเชือกทำด้วยหวายขวั้นเป็นเส้นยาวติดกับคานแพคอยถือ ยู่ในน้ำ จะได้ไม่เกยตื้นและทางด้านหัวแพนี้จะมีเชือกทำด้วยหวายขวั้นเป็นเส้นยาวติด กับคานแพทางด้านหัวแพอยู่ ๒ หรือ ๓ เส้น เรียกว่า "พรวน" ปลายของพรวนนี้จะผูกติดกับโคนหลัก ซึ่งมีคนแพคอยถืออยู่ในน้ำ เวลาแพลอยไปตามน้ำ พรวนจะดึงโคนหลักนี้ให้ครูดกับท้องน้ำอยู่ตลอดเวลา และคนแพที่บังคับหลักจะคอยฟังคำสั่งจากนายแพ ซึ่งยืนสั่งการอยู่บนพะอง ให้เคลื่อนย้ายหลักไปทางซ้าย หรือทางขวา เพื่อให้แพเลี้ยวไปตามร่องน้ำในทิศทางที่ต้องการทางด้านท้ายแพ (ส่วนที่อยู่ทางท้ายน้ำ) จะมีพายขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกว่า "พุ้ย" ๒ อัน วางพาดบนง่ามไม้ ซึ่งติดอยู่กับคานแพ พุ้ยนี้จะมีคนคอยพายลงในน้ำ เพื่อช่วยให้ท้ายแพเลี้ยวไปมาตามร่องน้ำได้รวดเร็วขึ้น เมื่อถึงฤดูฝนระดับน้ำสูงพอที่จะล่องแพได้ คนแพก็จะเริ่มปล่อยแพทันที
รูปร่างของแพไม้ซุงที่ลอยน้ำนั้น มีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของลำน้ำ เช่น ในแม่น้ำปิง ซึ่งมีลักษณะกว้าง น้ำตื้น แพที่ผูกจะเป็นรูปป้อมสั้นคล้ายปลา เรียกกันว่า "แพรูปปลาตะเพียน" ส่วนในแม่น้ำยม ซึ่งมีลักษณะแคบและลึก รูปของแพจะมีลักษณะเรียวยาว อ่อนตัวได้ง่าย แพลักษณะนี้เรียกว่า "รูปงูไช"
ช้างคัดไม้ลงน้ำ
ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสำคัญๆ หลายสาย เพื่อประโยชน์ ในด้านการผลิตไฟฟ้า และด้านชลประทาน ทำให้การล่องแพไม้ตอนเหนือเขื่อน มีอุปสรรคมากขึ้น ดังนั้น การล่องแพจึงยังคงมีอยู่เฉพาะตอนใต้เขื่อนกั้นน้ำลงมา และขนาดของแพไม้ที่จะล่องในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ถูกจำกัดขนาดลง ให้เหลือกว้างไม่เกิน ๑๒ เมตร และยาวไม่เกิน ๑๒๐ เมตร ทั้งนี้ เพื่อให้แพสามารถล่องผ่านประตูน้ำ ที่เขื่อนเจ้าพระยาได้สะดวก
ไม้ซุงจมน้ำ
มีไม้ซุงหลายชนิดที่จมน้ำ เช่น ไม้แดงประดู่ เต็งรังยาง ฯลฯ ไม้เหล่านี้หากจะผูกเป็นแพก็ต้องมีทุ่นช่วย ทุ่นที่ใช้ช่วยพยุงแพไม้ซุง ที่จมน้ำให้ลอยขึ้นมาได้นั้น ได้แก่ ไม้ไผ่ ซึ่งนำมามัดรวมกันเป็นมัดๆ ละ ๘๐-๑๒๐ ลำ มัดไม้ไผ่เหล่านี้เรียกกันว่า "ลูกบวบ" ก่อนที่จะผูกแพให้จมน้ำ คนแพมักจะผูกลูกบวบให้ติดกับคานแพไว้ก่อน โดยเว้นช่องไว้สำหรับนำไม้ซุงมาผูก ให้มีลูกบวบขนาบไม้ซุงอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ถ้าเป็นไม้ซุงขนาดเล็ก อาจจะผูกไม้ซุงเรียงกันเป็นแถวๆ กว้างประมาณ ๑๐-๑๒ เมตร การผูกไม้ซุงแถวหนึ่ง เรียกว่า "ตับหนึ่ง" แพหนึ่งๆ มีระหว่าง ๘-๑๕ ตับ วิธีการล่องก็เช่นเดียวกับแพไม้ซุงลอยน้ำ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ในปัจจุบันนี้ คนแพมักจะใช้เรือยนต์โยงแพ เพื่อจะได้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น