การขนส่งไม้โดยทางรถไฟ
หากการขนส่งไม้ซุงมีระยะทางเกินกว่า ๒๕๐ กิโลเมตร และมีเส้นทางรถไฟผ่าน ควรจะพิจารณาขนส่งทางรถไฟ เพราะค่าใช้จ่ายในการขนส่งไม้ซุงทางรถไฟ จะต้องมีช้าง หรือรถสำหรับยกไม้ขึ้นตู้รถไฟด้วย โดยทางการจะจัดตู้สำหรับบรรทุกไม้ซุงให้โดยเฉพาะ เมื่อนำไม้ซุงขึ้นตู้รถไฟเรียบร้อยแล้ว จะต้องใช้ลวดผูกมัดไม้ซุงให้ติดแน่นกับตู้รถไฟ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นระหว่างทาง ตู้รถไฟสำหรับบรรทุกไม้ซุงตู้หนึ่งๆ จะบรรทุกไม้ซุงได้ประมาณ ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร การบรรทุกไม้ขึ้นตู้รถไฟนี้ จะต้องคำนึงถึงน้ำหนัก ความยาว ของไม้ซุง และความสูงของกองไม้ที่บรรทุก ตามที่ทางการรถไฟได้กำหนดไว้ด้วย การบรรทุกไม้ขึ้นตู้รถไฟมีข้อเสียที่ว่า เมื่อซุงถึงสถานีปลายทางแล้ว จะต้องใช้รถยนต์ หรือพาหนะอย่างอื่นขนส่งต่อไปยังโรงงานอีกทอดหนึ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงขึ้น ส่วนการขนส่งไม้ทางรถยนต์นั้น สามารถขนส่งจากต้นทางส่งถึงโรงงาน หรือจุดหมายปลายทางได้โดยตรง
การขนส่งไม้ทางรถไฟ ที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
การนำไม้ออกจากป่าโดยบริษัททำไม้ใหญ่ๆ ที่มีไม้ซุง ซึ่งจะขนส่งปีละมากๆ ทางบริษัทอาจจะลงทุนสร้างทางรถไฟ เพื่อขนส่งไม้ของตนเอง และมีรถไฟบรรทุกไม้ซุงของตนเองเข้าสู่โรงงานได้ แต่การสร้างทางรถไฟ และมีรถไฟเป็นของตนเองนั้น ต้องลงทุนสูง และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามาก ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนในเรื่องนี้ จะต้องคำนึงถึงจำนวนไม้ซุงที่จะต้องขนส่ง และจำนวนปีที่จะต้องทำงานไว้ด้วย หากจำนวนไม้ซุงที่จะขนส่งมีน้อย และมีระยะเวลาที่จะทำงานเพียง ๔-๕ ปี ก็ควรจะใช้การขนส่งวิธีอื่นซึ่งลงทุนน้อยกว่า