การขนส่งไม้ด้วยรถแทรกเตอร์และรถยนต์
การทำไม้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังต้องอาศัยสภาพของดินฟ้าอากาศอยู่ เพราะถนนในป่าของเรายังไม่ดีพอที่จะใช้ขนส่งไม้ตลอดปีได้ ดังนั้น คนทำไม้จึงพยายามตัดพันชักลากไม้ที่อยู่ในป่า แล้วนำมากองไว้ริมถนนในป่าให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูแล้ง เพราะถนนในป่านั้นจะใช้การได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ในช่วงฤดูแล้งซึ่งอาจจะมีเวลาเพียง ๓-๔ เดือน จะต้องรับขนส่งไม้เหล่านี้มาไว้ริมถนนหลวงให้เสร็จ ก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง เมื่อถึงถนนหลวงแล้ว อาจขนส่งต่อไปยังจุดที่ต้องการในระหว่างฤดูฝนได้ เพราะการขนส่งบนถนนหลวงทำได้ตลอดปี ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าการขนส่งไม้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ ตอนขนส่งในป่า และตอนขนส่งบนถนนหลวง สำหรับการขนส่งในป่า ถ้าหากระยะทางขนส่งไม่เกิน ๒๕ กิโลเมตร ผู้ทำไม้ซึ่งใช้รถแทรกเตอร์ล้อยางแบบรถไถนา อาจใช้รถแทรกเตอร์พ่วงล้อพ่วงบรรทุกไม้ เพื่อขนส่งในระยะทางสั้นๆ ได้ ในการขนส่งโดยใช้รถแทรกเตอร์ลากล้อพ่วงนี้ สามารถบรรทุกไม้ซุงได้ครั้งละ ๕-๗ ลูกบาศก์เมตร ตามความหนักเบาของไม้ซุง แต่ในการเอาไม้ซุงขึ้น และลงล้อพ่วง จะมีเครื่องมืออื่น เช่น รถยก หรือช้างช่วย ถ้าหากระยะทางลากขนในป่าไกล หรือผู้ทำไม้มีรถยนต์ลากไม้อยู่แล้ว ควรใช้รถยนต์ขนส่งไม้ซุงแทน การขนส่งไม้ซุงโดยรถยนต์นั้น ในชั้นแรกจะต้องรวมกองไม้ให้มีขนาด และน้ำหนักพอที่จะบรรทุกรถยนต์แต่ละเที่ยวเสียก่อน การรวมกองไม้นี้ ส่วนมากมักจะใช้ช้าง หรือรถแทรกเตอร์เป็นผู้รวมกอง ซึ่งเรียกกันในวงการไม้ว่า "ก๊บไม้" ต่อจากนั้น จึงใช้รถปั้นจั่น หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "รถยก" ยกไม้ทั้งกองขึ้นบนล้อพ่วง ซึ่งติดอยู่กับส่วนท้ายของรถยนต์ลากไม้ แล้วมัดไม้ทั้งกองให้ติดแน่นกับรถพ่วงด้วยโซ่ หรือลวดเกลียว รถยกที่ใช้ในการทำไม้ของไทยนั้น เป็นรถที่ประดิษฐ์ขึ้นเองภายในประเทศโดยใช้รถยนต์ทหารที่เหลือใช้จากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งมีราคาถูก และมีคุณภาพใช้การได้ดี สามารถยกไม้ซุงซึ่งมีน้ำหนัก ๑๐ ตันได้ จึงนับได้ว่ารถยกนี้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และการทำไม้ในประเทศไทยในสมัยปัจจุบัน เนื่องจากการขนส่งไม้ซุงในป่า ต้องใช้ถนนสำหรับใช้ลากไม้ แต่เป็นถนนชั่วคราว ซึ่งตัดขึ้นเฉพาะใช้งานขนส่งไม้ในฤดูแล้งนั้น อัตราบรรทุกไม้บนรถยนต์แต่ละเที่ยวจึงน้อย คือ บรรทุกไม้ได้ครั้งละไม่เกิน ๗ ลูกบาศก์เมตร เมื่อขนส่งไม้ไปถึงริมถนนหลวงแล้ว ถ้าผู้ทำไม้ต้องการจะขนส่งไม้ทางรถยนต์บนถนนหลวงต่อไปเป็นระยะทางยาว ผู้ทำไม้มักจะเพิ่มอัตราบรรทุกแต่ละเที่ยวให้สูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเที่ยวละ ๑๒-๒๕ ลูกบาศก์เมตร ตามความหนักเบาของไม้ และประเภทของรถยนต์ และล้อพ่วงที่ใช้ ทั้งนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งบนถนนหลวงลง การเพิ่มอัตราบรรทุก ผู้ทำไม้จะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า และจะต้องกำหนดสถานที่รวมกองไม้ไว้ริมถนนหลวง เพื่อใช้เป็นที่วางไม้ และรวมกองไม้ใหม่ให้แต่ละกองมีปริมาตรของไม้เท่ากับ อัตราที่จะบรรทุกรถยนต์บนถนนหลวง การขนส่งไม้บนถนนนี้ รถยนต์แต่ละคันจะต้องมีใบเบิกทางกำกับไม้ที่บรรทุกรถยนต์แต่ละคัน และจะต้องนำใบเบิกทาง พร้อมทั้งนำไม้ที่บรรทุกไปให้เจ้าหน้าที่ ตรวจตามด่านป่าไม้ต่างๆ ผ่านไปด้วย
รถยนต์บรรทุกไม้ขึ้นเขา ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
การบรรทุกไม้ขึ้นรถยนต์ในภาคใต้ของไทย ได้มีผู้ประดิษฐ์เครื่องมือประกอบรถยนต์บรรทุกไม้ ให้สามารถนำไม้ซุงขึ้นลงจากรถได้เอง โดยไม่ต้องใช้รถยก โดยติดกว้านรอก และกรอบไม้สี่เหลี่ยมเป็นโครงไว้บนรถยนต์ ใช้กำลังเครื่องยนต์ของรถหมุนกว้านเอาไม้ซุงขึ้นลงได้ รถบรรทุกไม้ชนิดนี้เรียกว่า "รถจอหนัง" บรรทุกไม้ซุงได้ครั้งละประมาณ ๕-๖ ลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่เป็นไม้สั้นๆ