เล่มที่ 33
การแพทย์แผนไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
บูรพาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทย

            ศิลปวิทยาไม่ว่าแขนงใดก็ตามต้องมีครูฉันใด ผู้ประกอบโรคศิลปะ ก็ย่อมต้องมีครูฉันนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ไม่ว่าจะเป็น สาขาเวชกรรม (การตรวจ การวินิจฉัยโรค การบำบัด หรือการป้องกันโรค ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย) ก็ดี หรือสาขาเภสัชกรรม (เตรียมยา การผลิตยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา ตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย) ก็ดี ต่างมีครูร่วมกัน โดยเฉพาะฤๅษีครูแพทย์ และหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งบูรพาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทยนับถือกันว่า เป็น "ปฐมครู"


สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

            การศึกษาเพื่อให้เข้าใจ "การแพทย์แผนไทย" นั้น จำเป็นต้องเข้าใจระบบ และวิธีคิดของ "แพทย์แผนไทย" ซึ่งมีศูนย์รวมของจิตใจอยู่ที่ "ครู" ก่อน ในบทไหว้ครูอันเป็นบทเริ่มต้น ของคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์แพทย์แผนไทย ที่สำคัญเล่มหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นร่องรอยอิทธิพล ของความเชื่อ และหลักปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนา ที่ปรากฏในตำราแพทย์โบราณของไทย ดังนี้

                ข้าขอประณมหัตถ์    พระไตรรัตนนาถา
            ตรีโลกอมรมา        อภิวาทนาการ
            อนึ่งข้าอัญชลี         พระฤๅษีผู้ทรงญาณ
            แปดองค์เธอมีฌาน    โดยรอบรู้ในโรคา
            ไหว้คุณอิศวเรศ        ทั้งพรมเมศวร์ทุกชั้นฟ้า
            ศาปสรรค์ซึ่งหว้านยา    ประทานทั่วโลกธาตรี
            ไหว้ครูกุมารภัจ        ผู้เจนจัดในคัมภีร์
            เวชศาสตร์บรรดามี    ให้ทานทั่วแก่นรชน
            ไหว้ครูผู้สั่งสอน        แต่ปางก่อนเจริญผล
            ล่วงลุนิพพานดล        สำเร็จกิจประสิทธิ์พร

            คัดตามต้นฉบับจากแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๖๖ หน้า ๑

            ในบทไหว้ครูตอนต้นที่ว่า "พระไตรรัตนนาถา ตรีโลกอมรมา" และ "ไหว้ครูกุมารภัจ ผู้เจนจัดในคัมภีร์" นั้น ผู้นิพนธ์ได้สะท้อนคติความเชื่อ ของสังคมทางพระพุทธศาสนาไว้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) และเรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์พระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา

            ส่วนในตอน "ไหว้คุณอิศวเรศ ทั้งพรมเมศวร์ทุกชั้นฟ้า" และ "...พระฤๅษีผู้ทรงญาณ แปดองค์เธอมีฌาน..." ซึ่งเป็นการสรรเสริญพระอิศวร พระพรหม ว่า เป็นผู้ประทานสมุนไพรใบยาให้แก่มวลมนุษยชาติ และสรรเสริญฤๅษี ๘ ตน (ฤๅษีอาเตรยะ ฤๅษีหาริด ฤๅษีอัคนิเวศ ฤๅษีกาศยป ฤๅษีเภท ฤๅษีจรกะ ฤๅษีสุศรุต และฤๅษีวาคภัฏ) ซึ่งถือว่า เป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ อันเกิดแก่มนุษย์ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นอิทธิพล ของคติความเชื่อ ทางศาสนาพราหมณ์ อันมีรากเหง้ามาจากคัมภีร์พระเวท โดยเฉพาะคัมภีร์อาถรรพเวท ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดตำราการแพทย์ ของอินเดียโบราณ

ฤๅษีครูแพทย์

            พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำ ฤๅษี ว่า "นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ" คำนี้มาจากคำ ฤษิ ซึ่งแปลว่า ผู้เห็น โดยนัยหมายถึง ผู้ที่แลเห็น ด้วยความรู้พิเศษ อันเกิดจากฌาน สามารถแลเห็นได้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต


รูปปั้นฤๅษีครูแพทย์กับหินบดยา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ

            แพทย์แผนโบราณบูชาฤๅษี ๘ ตน เป็นปฐมครูผู้ประสาทวิชาการแพทย์ และเภสัชกรรมแผนโบราณสืบทอดมาจวบจนปัจจุบัน เห็นได้จากบทไหว้ครู ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ที่คัดมาข้างต้น

ชีวกโกมารภัจจ์

            แพทย์แผนไทยนับถือและยกย่องหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า เป็นปฐมครูผู้รอบรู้ ในศาสตร์ด้านการแพทย์แผนโบราณทุกแขนง หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธ และเป็นหมอประจำพระองค์ ของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ผู้เป็นพุทธสาวกทั้งหลาย ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นเรื่องราวประวัติการแพทย์สมัยพุทธกาล ที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในพระไตรปิฎก ดังความใน "วินัย มหาวัคค์ จีวรขันธกะ" สรุปความได้ดังนี้


หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งแพทย์แผนไทยเคารพนับถือว่า เป็นปฐมครู ด้านการแพทย์แผนโบราณทุกแขนง

            หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรชายของนางสาลวดี ผู้เป็นนางบำเรอชั้นสูงแห่งกรุงราชคฤห์ นครหลวงแคว้นมคธ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อนางสาลวดีตั้งครรภ์ เกรงว่า จะเกิดผลกระทบกับหน้าที่การงาน จึงอ้างว่า ป่วย และพักงาน จนให้กำเนิดบุตรชาย แล้วสั่งให้สาวใช้เอาทารกนั้น ไปทิ้งที่กองขยะในตอนกลางคืน ในตอนเช้า เจ้าชายอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ เสด็จไปเฝ้าพระราชบิดา ขณะเสด็จผ่านบริเวณนั้น ทอดพระเนตรเห็นฝูงกาล้อมเป็นกลุ่มอยู่ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่โดยเสด็จด้วยเข้าไปดู เมื่อทรงทราบว่า มีคนนำเด็กทารกมาทิ้ง จึงรับสั่งถามมหาดเล็กนั้นว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มหาดเล็กทูลตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ จึงทรงรับสั่งให้นำทารกนั้น กลับเข้าไปในพระราชวัง ด้วยเหตุที่มหาดเล็กทูลตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง ผู้คนจึงเรียกเด็กคนนี้ว่า ชีวก (แปลว่า ยังมีชีวิต) และเพราะเจ้าชายอภัยทรงเลี้ยงดูเป็นโอรสบุญธรรม คนทั้งหลายจึงเรียกเด็กคนนี้ ว่า โกมารภัจจ์ (แปลว่า ที่พระกุมารทรงเลี้ยงไว้) และเรียกรวมกันเป็น ชีวกโกมารภัจจ์

            เมื่อเติบโตขึ้น ชีวกตัดสินใจศึกษาวิชาแพทย์ จึงหนีเจ้าชายอภัย ออกเดินทางไปยังเมืองตักกสิลา และเลือกศึกษากับทิศาปาโมกข์ ทางด้านการแพทย์ ชีวกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และปรนนิบัติครูบาอาจารย์ ประกอบกับเป็นผู้ที่มีไหวพริบ และสติปัญญาดี จึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ทั้งยังมีประสบการณ์ฝึกหัด ตามที่อาจารย์สอน หลังจากศึกษากับอาจารย์ครบ ๗ ปี ก็ได้เรียนรู้จนหมดสิ้น หากเทียบกับนักศึกษาผู้อื่นต้องใช้เวลาในการศึกษาถึง ๑๖ ปี

            เมื่อได้ศึกษาความรู้จากอาจารย์จนหมดสิ้นแล้ว จึงเข้าไปหาอาจารย์ และถามถึงที่สุดแห่งความรู้ อาจารย์รู้อยู่แก่ใจว่า ชีวกเรียนดี และมีความรู้ดี แต่ต้องการทดสอบให้แน่ใจ จึงให้ชีวกถือเสียม ไปสำรวจหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ใช้เป็นยาไม่ได้ โดยให้เดินทางหาอยู่ ๔ วัน วันละทิศ ทิศละ ๑ โยชน์ รอบเมืองตักกสิลา ชีวกรับคำสั่งอาจารย์ ออกสำรวจจนทั่วเมือง ตามที่อาจารย์กำหนดให้ แต่ไม่พบสิ่งใด ที่ใช้เป็นยาไม่ได้ จึงกลับมารายงานให้อาจารย์ทราบ อาจารย์จึงบอกว่า เรียนสำเร็จแล้ว ถึงที่สุดแห่งวิชาแล้ว ความรู้เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอให้ใช้เป็นวิชาชีพได้แล้ว

            เมื่อกลับถึงกรุงราชคฤห์แล้ว เจ้าชายอภัยจึงนำหมอชีวกเข้าถวายตัว ต่อพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารโปรดให้หมอชีวก รักษาโรคริดสีดวงทวาร ที่ทรงป่วยมาเป็นแรมปีแล้ว หมอชีวกได้ตรวจพระอาการ แล้วถวายการรักษา ด้วยการพอกยาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น พระโรคก็หายสนิท จึงได้รับพระราชทานรางวัล และโปรดตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งปวงด้วย หมอชีวกรับพระราชทานสนองพระคุณ และปฏิบัติตนเป็นอุบาสก ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

            ในพระไตรปิฎก ได้มีบันทึกผลงานการรักษาโรค ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้งสำคัญๆ หลายครั้ง ได้แก่ การรักษาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรัง ด้วยการผ่าตัดที่ศีรษะ การผ่าตัดรักษาโรคลำไส้ขอดของลูกเศรษฐี ชาวกรุงพาราณสี การรักษาพระโรคผอมเหลือง ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต (ผู้ครองกรุงอุชเชนี) การผ่าตัดบาดแผลที่พระบาท ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดจากพระเทวทัตกลิ้งหินให้ทับพระองค์ และสะเก็ดหินแตกมาถูก ทำให้ห้อพระโลหิต

            หมอชีวกโกมารภัจจ์มีคุณูปการทั้งในด้านอาณาจักรและพุทธจักร พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานเอตทัคคะให้แก่หมอชีวก เมื่อคราวประทับอยู่ที่วัดเชตวัน กรุงสาวัตถี โดยได้รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสกผู้เป็นสาวกของตถาคต ซึ่งเป็นผู้มีความเลื่อมใสในบุคคล ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเลิศ"