เล่มที่ 32
หุ่นกระบอกไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โอกาสในการแสดงหุ่นกระบอก

            หุ่นกระบอกเป็นมหรสพที่เล่นทั้งใน งานหลวง และงานราษฎร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่อธิบายรายละเอียด เป็นบันทึกทางราชการเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐ ซึ่งมีข้อความระบุว่า ในรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖) ได้มีการแสดงหุ่นกระบอก เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา ที่พระราชวังบางปะอิน โดยได้กล่าวบันทึกงานพระราชพิธีครั้งนั้นว่า

            "วันที่ ๑๙ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ เวลาย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ประทับที่ปรำริมน้ำ ข้างตพาน เสด็จโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเรือแข่ง เมื่อแข่งเรือแล้ว เริ่มมีการเล่นที่ลานที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน แลในสระมีแตรวงพิณพาทย์ ทแย แลเพลงแคนต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรหุ่น (เลียนอย่าง) เมืองเหนือ จนเวลาทุ่มเศษ เสด็จขึ้นประทับในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน"

            จะเห็นได้ว่า ในเวลานั้น ผู้คนทั่วไปเรียก และรู้จักหุ่นชนิดนี้ ในชื่อว่า "หุ่น (เลียนอย่าง) เมืองเหนือ" สันนิษฐานว่า แต่แรกเริ่ม คงใช้เรียกด้วยภาษาปากกันมานานอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จนคำที่ใช้เรียกชื่อมหรสพชนิดนี้ เป็นที่เข้าใจ และรู้จักกันแพร่หลายพอสมควรแล้ว จึงได้รับการบันทึกเป็นภาษาเขียน และปรากฏในบันทึกของทางราชการ โดยใช้คำว่า "หุ่นกระบอก" ไม่ได้เรียกว่า "หุ่น" เลียนอย่างเมืองเหนือ อย่างแต่ก่อน ดังปรากฏ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑ หน้า ๔๗๓ พุทธศักราช ๒๔๓๖ ในตอนที่กล่าวถึงงานพระเมรุ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลวาดวรองค์ "การมหรสพสมโภช มีตั้งแต่วันนี้ไป คือ โขน ๑ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้ว ๑ โรง มอญรำ ๑ โรง หนัง ๒ โรง หุ่นกระบอก ๑ โรง และญวนหก สิงโต มังกร รำโคม ตามเคย"


หุ่นจีนไหหลำที่เป็นต้นแบบให้เกิดหุ่นกระบอกของไทย

            นอกจากนี้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒ หน้า ๑๐ พุทธศักราช ๒๔๓๘ มีกล่าวถึงงานพระเมรุ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี เมื่อปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ (พุทธศักราช ๒๔๓๘) ว่ามีการละเล่นมหรสพแสดงในงาน คือ "โขน ๑ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้ว ๑ โรง มอญรำ ๑ โรง หนัง ๒ โรง ไม้ลอย แลญวนหก สิงโต มังกร รำโคม กับหุ่นกระบอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพมีถวาย ๑ โรง"

            สันนิษฐานว่า หุ่นกระบอก ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดมาช่วยงานพระเมรุ ในครั้งนั้น คือ หุ่นกระบอก คณะคุณเถาะ ซึ่งทรงอุปถัมภ์อยู่นั่นเอง มีข้อน่าสังเกต เกี่ยวกับการแสดงหุ่นกระบอก ในระยะแรกนี้คือ หุ่นกระบอกที่ใช้เล่นเป็นมหรสพ ในรัชกาลที่ ๕ นิยมเล่นในงานพระเมรุพระราชโอรส และพระราชธิดาเป็นส่วนใหญ่ แต่ในงานพระเมรุเจ้านายลำดับชั้นพระราชวงศ์อื่นๆ ยังคงนิยมเล่นเฉพาะหุ่นหลวง ตามประเพณีที่มีมาแต่เดิม อาจกล่าวได้ว่า ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่ความเจริญรุ่งเรือง ของการเล่นหุ่นหลากหลายชนิด ดำเนินมาถึงขีดสุด เพราะนอกจากมีหุ่นหลวงที่ใช้เล่นเป็นเครื่องมหรสพ ในงานพิธีสำคัญๆ แล้ว ก็มีหุ่นกระบอก อีกทั้งยังได้เริ่มนำหุ่นจากทางตะวันตก มาเชิดแสดงเป็นครั้งแรกด้วย

            กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในยุคเริ่มแรกนี้ คณะหุ่นกระบอกไทยของครูเหน่ง ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในหัวเมืองทางเหนือ ที่จังหวัดสุโขทัย โดยเลียนแบบหุ่นจีนไหหลำ ต่อมา คณะหุ่นกระบอกไทยของหม่อมราชวงศ์เถาะ ก็ได้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นหุ่นกระบอกคณะที่ ๒ ในประเทศไทย แต่เป็นคณะแรกในกรุงเทพฯ และในชั่วระยะเวลาไม่นาน ก็เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยทั่วไป หุ่นกระบอกมีโอกาสแสดงในงานราษฎร์มากกว่างานหลวง โดยนิยมหาไปเล่นแก้บน งานทำขวัญจุก ขวัญนาค และงานมงคลอื่นๆ