เล่มที่ 31
ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิธีการเก็บรักษาซากดึกดำบรรพ์

            ซากดึกดำบรรพ์ที่เก็บได้ควรนำมาเก็บรักษาไว้อย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

ก. การตระเตรียม (Preparation)

            ขั้นแรกให้ทำความสะอาดซากดึกดำบรรพ์นั้นด้วยการสกัดเนื้อหินที่ติดอยู่กับซากออกไป โดยใช้ค้อนและสิ่ว หรืออาจใช้เครื่องมือกรอหิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องกรอฟัน ของทันตแพทย์ สำหรับสกัดซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นกระดูก หรือเปลือกหอยที่ติดอยู่ในหิน ส่วนซากดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดเล็กมาก หรือที่อยู่ในหินปูน หรือหินเชิร์ต อาจใช้สารเคมี จำพวกกรดน้ำส้มเจือจาง ในการละลายหินออกจากซากดังกล่าว ซากดึกดำบรรพ์บางชนิด ค่อนข้างเปราะ แตกหักง่าย เช่น ฟันสัตว์ หรือกระดูกไดโนเสาร์ ควรใช้สารละลายพลาสติก หรือกาวทาเคลือบเสียก่อน หากซากแตกหัก ให้ใช้กาวอีพ็อกซีต่อเชื่อม เมื่อได้ทำความสะอาด และซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้จัดเก็บซากดึกดำบรรพ์นั้น ใส่ไว้ในกล่อง หรือถาดพลาสติก หากเป็นซากขนาดใหญ่ เช่น กระดูกไดโนเสาร์ ให้ใส่ถาด หรือวางไว้บนแผ่นไม้ แต่หากเป็นซากขนาดเล็กมาก อาจใส่ไว้ในหลอดแคปซูล หรือเก็บโดยการตัดให้เป็นแผ่นหินบางๆ ก็ได้


เครื่องมือขุดค้นซากดึกดำบรรพ์

ข. การตั้งชื่อ (Identification)

            ใช้วิธีการตั้งชื่อ ซึ่ง คาร์ล  ลินเนียส (Carl Linnaeus) นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน ได้กำหนดขึ้น โดยจัดอยู่ในไฟลัม ชั้น อันดับ วงศ์ สกุล และชนิด ตามลำดับ ทั้งนี้ โดยการศึกษาเปรียบเทียบกับหนังสือหรือวารสาร ที่ได้ศึกษาตัวอย่างชนิดเดียวกันมาก่อน หรือศึกษาเปรียบเทียบกับตัวอย่าง ที่ได้ศึกษามาแล้ว หรือจากตัวอย่างต้นแบบ ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์

ค. การใส่หมายเลขและทำบัตรรายการ (Cataloging)

            เมื่อเก็บซากดึกดำบรรพ์มาแล้ว ก็ควรใส่หมายเลขแต่ละชิ้นเพื่อให้อยู่ในระบบการจัดเก็บ นอกจากนี้ ควรทำบัตรรายการแสดงรายละเอียด เช่น ชนิดของซากดึกดำบรรพ์ ชื่อผู้เก็บ วันเดือนปีที่เก็บ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์และทางธรณีวิทยาของบริเวณที่เก็บ แผนผังแสดงตำแหน่งชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ ตลอดจนรายละเอียด เช่น ได้ใช้สารเคมี หรือเครื่องมือชนิดใดในการเตรียมการ การเก็บซากดึกดำบรรพ์โดยไม่มีข้อมูล จะทำให้ขาดคุณค่าทางด้านวิทยาศาสตร์


การจัดเก็บ หรือรวบรวมซากดึกดำบรรพ์ไว้ในตู้จัดเก็บตัวอย่างอย่างเป็นระบบ


ง. การจัดเก็บรวบรวม (Collection)

            มีการจัดเก็บรวบรวมซากดึกดำบรรพ์ โดยจำแนกตามชนิด หรือตามบริเวณที่เก็บมาได้ ห้องที่เก็บควรเป็นห้อง ที่มีความชื้นต่ำ และต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ตู้ที่จัดเก็บ ควรเป็นตู้ไม้ เนื่องจาก ม้มีการถ่ายเทความชื้น และอุณหภูมิ ได้ดีกว่าโลหะ และถ้าเป็นซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ ให้แยกเก็บรักษาไว้ในห้องพิเศษ โดยมีตู้เก็บที่ปลอดภัย จากการโจรกรรม