เล่มที่ 31
ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย

            ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทยมีหลากหลายเกือบทุกประเภท ได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ปะการัง หอย ไทรโลไบต์ สัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น เต่า ไดโนเสาร์ ปลา จระเข้ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนซากพืชพบหลายชนิด มีทั้งส่วนของลำต้น ใบ และละอองเรณู นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เช่น รอยเท้า และรอยทางเดินของไดโนเสาร์ รูและรอยชอนไชของหนอน ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย คือ ซากไทรโลไบต์ มีอายุราว ๕๐๐ ล้านปี พบที่เกาะตะรุเตา ส่วนซากดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุใหม่ ได้แก่ ซากหอยนางรมยักษ์ ที่พบจากชุดดินกรุงเทพฯ มีอายุเพียง ๕,๕๐๐ ปี


แหล่งซากดึกดำบรรพ์ เกาะตะรุเตา อ.ละงู จ.สตูล

            ในที่นี้จะกล่าวถึงซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทยเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยเรียงลำดับ ตามอายุทางธรณีวิทยาจากเก่าสุด ไปหาใหม่สุด ดังนี้


ไทรโลไบต์ ซึ่งมีอายุราว ๕๐๐ ล้านปี พบที่เกาะตะรุเตา

ซากดึกดำบรรพ์ในมหายุคพาลีโอโซอิก

๑. แหล่งซากดึกดำบรรพ์เกาะตะรุเตา อำเภอละงู จังหวัดสตูล

            แหล่งซากดึกดำบรรพ์เกาะตะรุเตา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสตูลไปทางทิศตะวันตก ราว ๔๕ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีซากดึกดำบรรพ์ อายุเก่าแก่ ที่สุดในประเทศไทย มีการสะสมตัวตั้งแต่ ยุคแคมเบรียนตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น ราว ๕๐๐ - ๔๗๐ ล้านปี มาแล้ว ได้พบซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหินดินดาน และหินทรายจากหลายบริเวณ บนเกาะตะรุเตา ได้แก่ อ่าวตะโละโต๊ะโป๊ะ อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวมะละกา เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ไทรโลไบต์ บราคิโอพอด นอติลอยด์ และร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์

            ไทรโลไบต์

                        เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda) พวกเดียวกับกุ้ง ปู ที่เรียกชื่อว่า ไทรโลไบต์ เนื่องจากลำตัวแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนแกนลำตัว และอีก ๒ ส่วนด้านข้างลำตัว รูปลักษณะคล้ายกับแมงดาทะเลปัจจุบัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ตั้งแต่ขนาดไม่กี่มิลลิเมตร จนถึง ๙๐ เซนติเมตร ไทรโลไบต์อาศัยอยู่ในทะเลตื้น และตามแนวปะการัง พบแพร่หลาย ในมหายุคพาลีโอโซอิกตอนต้น สูญพันธุ์ไปเมื่อปลายยุคเพอร์เมียน ไทรโลไบต์ที่พบบนเกาะตะรุเตา มีบางชนิด เป็นชนิดใหม่ที่เพิ่งพบในโลก เช่น Parakoldinioidia thaiensis, Thailandium solum และ Eosaukia buravasi


แบรคิโอพอดพบในชั้นหินทรายสีแดง
ที่เกาะตะรุเตา

            บราคิโอพอด

                        เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ในไฟลัมบราคิโอโพดา (Brachiopoda) ส่วนใหญ่เป็นพวกเกาะติดที่ (sessile) ตามหิน หรือวัตถุ ที่อยู่บนพื้นทะเลบริเวณน้ำตื้น มีลักษณะคล้ายหอยกาบคู่ เช่น หอยแครง แต่ต่างกันที่เปลือกทั้ง ๒ ฝา ที่มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ฝาเดียวกันจะมีลักษณะด้านซ้าย และด้านขวาสมมาตรกัน เปลือกมีขนาดประมาณ ๒ - ๗ เซนติเมตร พบแพร่หลายมาก ในมหายุคพาลีโอโซอิก บราคิโอพอดที่พบบนเกาะตะรุเตามีไม่มากนัก และมีขนาดเล็ก เช่น สกุล อะพีออร์ทิส (Apheorthis sp.)

            นอติลอยด์

                        เป็นสัตว์ทะเลจัดอยู่ในไฟลัมมอลลัสกา (Mollusca) หรือสัตว์จำพวก หอย ชั้นเซฟาโลโพดา (Cephalopoda) กลุ่มเดียวกับปลาหมึกในปัจจุบัน พบแพร่หลาย ในมหายุคพาลีโอโซอิก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงชนิดเดียว คือ หอยนอติลุส เป็นสัตว์กินเนื้อ ลำตัวแบ่งเป็นห้องๆ โดยมีผนังกั้นห้อง ส่วนใหญ่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ทำให้พบได้ทั้งบริเวณทะเลตื้นและทะเลลึก


รอยชอนไชของหนอน พบที่เกาะตะรุเตา

            ร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์

                        คือ ร่องรอยที่เกิดจากการทำกิจกรรมของสัตว์ เช่น รู หรือรอยชอนไชของสัตว์ในดิน เพื่ออยู่อาศัย หรือเพื่อหาอาหาร สัตว์ต่างชนิดกันจะขุดรู และมีแนวทางการชอนไช เพื่อหาอาหารที่ต่างกัน ที่เกาะตะรุเตา พบร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายชนิด ในหินทรายสีแดง เช่น รอยทางเดิน ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และรอยชอนไชของหนอน สกุลGordia sp. ซึ่งเป็นรอยวนกลมๆ

๒. แหล่งซากดึกดำบรรพ์บ้านป่าเสม็ด อำเภอละงู จังหวัดสตูล

            แหล่งซากดึกดำบรรพ์บ้านป่าเสม็ด อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศเหนือประมาณ ๔๕ กิโลเมตร เป็นบริเวณที่ค้นพบ ซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด ได้แก่ แกรปโทไลต์ (Graptolite) และเทนทาคูไลต์ (Tentaculite) อายุราว ๔๐๐ - ๓๘๕ ล้านปี ในยุคดีโวเนียน