โลก (Earth)
โลกเป็นดาวเคราะห์ซึ่งโคจรห่างจาก ดวงอาทิตย์เป็นดวงที่ ๓ ระยะห่างเฉลี่ย ๑๕๐ ล้านกิโลเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๒,๗๕๖ กิโลเมตร พื้นผิวเป็นหินเช่นเดียวกับ ดาวเคราะห์ชั้นในดวงอื่นๆ

ดาวเทียมเทอร์รา (Terra) ถ่ายภาพโลกซีกตะวันออกใน พ.ศ. ๒๕๔๔ (ภาพอนุเคราะห์โดย Visible Earth/NASA)
ส่วนประกอบของโลก
โลกมีอายุประมาณ ๔,๖๐๐ ล้านปี ก่อตัวขึ้นจากมวลสารรอบนอกกลุ่มก้อนก๊าซ ต้นกำเนิดของดวงอาทิตย์ และมีวิวัฒนาการ จนมีสภาพปัจจุบัน ลักษณะภายในโลกแบ่งเป็น ๔ ชั้น คือ
๑) แก่นโลกชั้นใน เป็นของแข็งจำพวกเหล็กและนิกเกิล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒,๔๐๐ กิโลเมตร อุณหภูมิสูงถึง ๔,๐๐๐ องศาเซลเซียส
๒) แก่นโลกชั้นนอก เป็นชั้นของเหล็กและนิกเกิลหลอมเหลว
๓) เนื้อโลก อยู่ถัดจากแก่นโลกชั้นนอกออกมา เป็นแร่และหินแข็งจำพวกซิลิเกต ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของธาตุซิลิคอน ออกซิเจน และโลหะชนิดต่างๆ และ
๔) เปลือกโลก ประกอบด้วยดินและหิน หนาประมาณ ๖ - ๔๐ กิโลเมตร
ลักษณะของเปลือกโลกประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกหลายๆ แผ่น ที่เคลื่อนตัวอยู่บนชั้นหินหนืด ที่ร้อนเหลวลึกลงไป บางครั้งแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวแยกออกจากกัน บางครั้ง ก็เคลื่อนตัวเข้าหากัน หรือเคลื่อนตัวสวนทางกัน เป็นต้นเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว และทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศแตกต่างกัน บนพื้นผิวโลก เช่น เป็นภูเขา เทือกเขา แอ่งแผ่นดิน ร่องลึกในมหาสมุทร ภูเขาไฟ

ลักษณะภายในโลก ๑.แก่นโลกชั้นใน ๒.แก่นโลกชั้นนอก ๓.เนื้อโลก ๔.เปลือกโลก
บนพื้นผิวของเปลือกโลกมีน้ำปกคลุมอยู่ถึงร้อยละ ๗๑ ของเนื้อที่พื้นแผ่นดิน โลกมีกระบวนการหมุนเวียนเก็บกักน้ำไว้ตามธรรมชาติ คือ เมื่อน้ำได้รับอุณหภูมิสูงขึ้น เปลี่ยนสภาพเป็นไอน้ำ ลอยขึ้นไปในบรรยากาศโลกครั้นไอน้ำคายความร้อนมีอุณหภูมิต่ำลง จึงกลั่นตัวกลายเป็นละอองน้ำ ที่เราเห็นเป็นเมฆลอยอยู่ในท้องฟ้า และกลายสภาพเป็นฝน ซึ่งเป็นน้ำบริสุทธิ์ตกลงมา น้ำจึงแปรสภาพได้ ทั้งในสถานะของ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ตามระดับอุณหภูมิบนโลก ทำให้น้ำไม่เหือดแห้งหายไปจากโลก จึงเป็นลักษณะพิเศษ ที่ไม่มีบนดาวเคราะห์อื่นใดในระบบสุริยะ

หลุมอุกกาบาตแบริงเยอร์ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑,๒๐๐ เมตร ลึก ๑๗๐ เมตร สันนิษฐานว่า อุกกาบาตชนิดเหล็กพุ่งชนโลก เมื่อประมาณ ๔๙,๐๐๐ ปีมาแล้ว (ภาพอนุเคราะห์โดย David Roddy : United States Geological Survey)
นอกจากนี้ ยังมีบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก หนาประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ประกอบด้วย ก๊าซไนโตรเจน ประมาณ ร้อยละ ๗๘ ก๊าซออกซิเจนร้อยละ ๒๑ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๑ เป็นไอน้ำ ก๊าซอาร์กอน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ เหนือชั้นบรรยากาศโลกเป็นชั้นโอโซนซึ่งเป็นก๊าซ ออกซิเจนที่ไม่เสถียรเพราะมีโมเลกุลเพียง ๓ อะตอม มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถดูดจับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้ลงมาถึงพื้นโลกได้ จึงช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก
ไม่ให้เป็นอันตรายจากรังสีดังกล่าว
จากการที่โลกมีน้ำและบรรยากาศห่อหุ้มอยู่ ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ ขึ้นบนโลก ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของโลกที่ยากจะหาได้ บนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะ
ฤดูกาลบนโลก
โลกหมุนรอบแกนตัวเองครบรอบใน ๑ วัน หรือประมาณ ๒๔ ชั่วโมง และเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ใน ๑ ปี หรือประมาณ ๓๖๕.๒๖ วัน โดยมีแกนโลกเอียงคงที่ จากแนวตั้งฉากกับระนาบทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ ๒๓.๕ องศา ลักษณะเช่นนี้ ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนในรอบ ๑ วัน ไม่แตกต่างกันมากนัก และเกิดฤดูกาลต่างๆ ใน รอบปี ซึ่งค่อยๆ ปรับอุณหภูมิของท้องถิ่นต่างๆ บนโลกอย่างช้าๆ
ในท้องถิ่นแถบใกล้ขั้วโลกมีการแบ่งฤดูกาลออกเป็น ๔ ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ส่วนในเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างเช่นประเทศไทย แบ่งฤดูกาลออกเป็น ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อย่างไรก็ดี ลักษณะการเคลื่อนที่ของโลกดังกล่าว ทำให้โลกหันพื้นที่ทุกส่วน ตั้งแต่แถบศูนย์สูตร จนถึงแถบขั้วโลก ทั้งโลกซีกเหนือ และโลกซีกใต้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เข้ารับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ เกิดเป็นวัฏจักรของฤดูกาลแต่ละท้องถิ่นบนโลก แต่ละฤดูมีช่วงเวลาไม่ยาวนานเกินไป อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยจึงพอเหมาะ และใกล้เคียงกันตลอดทั้งปี
ดวงจันทร์บริวารของโลก
โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารโคจรอยู่รอบโลกเพียงดวงเดียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓,๔๗๖ กิโลเมตร หรือประมาณ ๑ ใน ๔ ของเส้นผ่าศูนย์กลางโลก โคจรอยู่ห่างจากโลกโดยเฉลี่ย ประมาณ ๓๘๔,๔๐๐ กิโลเมตร และโคจรรอบโลกในระยะเวลาประมาณ ๒๙.๕ วัน เป็นดาวดวงเดียวที่มนุษย์เดินทางไปสำรวจ นำตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมาศึกษา ตรวจวิเคราะห์บนโลก

ยานอวกาศกาลิเลโอ ถ่ายภาพดวงจันทร์ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าดวงจันทร์เกิดขึ้นได้อย่างไร มีข้อสมมุติฐานว่า ดวงจันทร์น่าจะเกิดจากมีวัตถุขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลกในอดีต ทำให้ชิ้นส่วนแตกกระจาย กระเด็นออกไปรอบโลก ต่อมาชิ้นส่วนเหล่านั้นรวมตัวกัน เกิดเป็นดวงจันทร์โคจรรอบโลก ดังปัจจุบัน

ตัวอย่างหินบนดวงจันทร์
(ภาพอนุเคราะห์โดย NASA)
ดวงจันทร์มีขนาดเล็ก มีมวลน้อย ไม่มีบรรยากาศห่อหุ้ม ไม่มีลมพัดพาฝุ่นให้ฟุ้งกระจาย ปราศจากน้ำ และปราศจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในใจกลางดวง จึงกล่าวได้ว่า ดวงจันทร์เป็นดาวที่ดับแล้ว
พื้นผิวของดวงจันทร์เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่เล็กมากมาย เรามองเห็นพื้นผิวดวงจันทร์เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่มืดคล้ำเป็นหย่อมๆ และส่วนที่ปรากฏสว่าง ส่วนที่มืดคล้ำนั้นความจริงเป็นพื้นที่ราบต่ำ และส่วนที่ปรากฏสว่างเป็นพื้นที่สูง ซึ่งสูงกว่าส่วนพื้นที่ราบต่ำประมาณ ๓ กิโลเมตร
มนุษย์เดินทางไปลงสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกโดยยานอะพอลโล ๑๑ ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ หลังจากนั้น ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๕ โครงการอะพอลโลได้ส่งยานอวกาศ ไปลงดวงจันทร์อีก ๕ ครั้ง รวมมนุษย์อวกาศที่เดินทางไปลงสำรวจดวงจันทร์แล้วทั้งสิ้น ๑๒ คน และได้นำตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์ ซึ่งมีน้ำหนักรวม ๓๘๒ กิโลกรัม กลับมายังโลก