ดาวอังคาร (Mars)
ชาวโรมันในยุคโบราณมองเห็นดาวอังคารมีสีแดงดั่งเลือด สีของดาวอังคาร ให้ความรู้สึกถึงพลังอำนาจ ความเข้มแข็ง และความฮึกเหิม จึงขนานนามดาวอังคารว่าเป็น เทพแห่งสงคราม

หุบเหวมาริเนอร์
เหยียดยาวใต้แนวศูนย์สูตรของดาวอังคาร (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
เมื่อมนุษย์สังเกตดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ยุคแรกๆ เห็นขั้วสีขาว และพื้นผิวสีคล้ำ เป็นหย่อมๆ จึงจินตนาการว่า ดาวอังคารน่าจะมีชนชาติที่เจริญแล้ว อาศัยอยู่ จึงสามารถสร้างคลองชลประทานลำเลียงน้ำจากขั้วสีขาว มาใช้ในการเพาะปลูก ที่เห็นเป็นสีมืดคล้ำบริเวณกลางดวง คิดกันว่า ดาวอังคารน่าจะมีพืชและสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เช่นเดียวกับบนโลก จึงเกิดจินตนาการถึงมนุษย์ชาวดาวอังคารในนิยายวิทยาศาสตร์ มาช้านาน

ภูเขาไฟโอลิมปัสบนดาวอังคาร (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
จนเมื่อมนุษย์ส่งยานอวกาศจากโลก ไปสำรวจดาวอังคาร ภาพถ่ายจากยานอวกาศ เปิดเผยลักษณะของดาวอังคารมากขึ้น ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้ในการสำรวจ โดยเฉพาะนับจากช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ยานอวกาศหลายลำถูกส่งขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร ทั้งจากระดับสูง ด้วยยานโคจร ทำหน้าที่คล้ายดาวเทียม สำรวจรอบดาวอังคารอยู่นานหลายปี และด้วยยานขับเคลื่อน สำรวจพื้นผิวดาวอังคาร พบว่า ดาวอังคารมีลักษณะพิเศษเฉพาะดวง มีทั้งความคล้าย และความแตกต่างจากโลกหลายๆ ด้าน

ยานมาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์ ถ่ายภาพหลุมอุกกาบาตบนดาวอังคาร ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ เห็นหินตะกอนทับถมเป็นชั้นหนา (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
ดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย ๒๒๘ ล้านกิโลเมตร และมีขนาดเล็กประมาณ ครึ่งหนึ่งของโลก แต่เป็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน ที่มีความคล้ายคลึงกับโลกหลายอย่าง เช่น หมุนรอบตัวเองครบ ๑ รอบ ใช้เวลายาวกว่า ๑ วันของโลก ประมาณ ๔๕ นาทีเท่านั้น ระนาบศูนย์สูตรของดาวอังคารเอียงประมาณ ๒๕ องศา กับระนาบทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งใกล้เคียงกับโลกที่เอียง ๒๓.๕ องศา ทำให้ขั้วเหนือและใต้ของดาวอังคาร เอียงทำมุมกับดวงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ เกิดฤดูกาล ๔ ฤดู คล้ายบนโลก แต่เนื่องจาก ๑ ปี ของดาวอังคารยาวเป็น ๖๘๗ วัน เกือบเป็น ๒ เท่าของ ๑ ปีบนโลก ในฤดูหนึ่งๆ บนดาวอังคารจึงยาวประมาณ ๖ เดือนบนโลก แต่ดาวอังคารก็มีลักษณะแตกต่างจากโลก จนไม่อาจใช้สภาพบนโลก อธิบายถึงวิวัฒนาการของดาวอังคารได้ มีลักษณะเด่น เช่น ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์แห่งพายุฝุ่น อุณหภูมิที่แปรเปลี่ยน และกระแสลมแรงจัด จึงมักเกิดพายุฝุ่นฟุ้งกระจายในบรรยากาศ ห่อหุ้มทั่วดวงอยู่เสมอ เมื่อพายุสงบ ฝุ่นตกลงปกคลุมพื้นผิว และรวมตัวกับน้ำแข็งใต้ผิวดิน ปรากฏลักษณะคล้ายกับดินเหลวข้นหนืด บริเวณใกล้ขั้วของดาวอังคาร ครั้นเมื่อน้ำแข็งระเหิดเป็นก๊าซ จึงเกิดเป็นรูพรุนที่พื้นผิว นอกจากนั้น พายุรุนแรงยังหอบดินทรายเคลื่อนที่ ทับถมจนเกิดเป็นเนินอยู่ดาษดื่น และพายุทรายที่โหมกระหน่ำอยู่เสมอทำให้เกิดการสึกกร่อน ผุพังสลายตัว พบหลักฐานของลานก้อนหิน และซากตะกอนทับถมเป็นชั้นๆ ปรากฏอยู่ทั่วไป ตามผนัง ของหลุมอุกกาบาต หุบเหว และหน้าผาบนดาวอังคาร

ยานฝาแฝดชื่อ สปิริต กับออปพอทูนิตี ลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ และปฏิบัติการอยู่นานหลายปี (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
บรรยากาศของดาวอังคารประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงร้อยละ ๙๕ แต่บรรยากาศเบาบางมาก จนไม่สามารถเก็บกักความร้อนได้ อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยประมาณ -๔๐ องศาเซลเซียส สิ่งที่มีผลต่อสภาวะอากาศของดาวอังคารอย่างมาก คือ ขั้วน้ำแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งแห้ง หรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง จับตัวเป็นสีขาวที่ขั้วทั้งสอง เปลี่ยนขนาดและรูปร่าง ไปตามฤดูกาล ในฤดูร้อน คาร์บอนไดออกไซด์แข็งระเหิดกลายเป็นก๊าซ ในบรรยากาศ เหลือเพียงน้ำแข็งปริมาณที่ไม่มากนักจับอยู่ที่ขั้ว แต่ในฤดูหนาว คาร์บอนไดออกไซด์จับตัวแข็ง แผ่อาณาเขตกว้างใหญ่เป็นขั้วสีขาว เห็นชัดเจนด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กบนโลก
ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮัลเบิล (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/มหาวิทยาลัยคอร์เนล/สถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศ สหรัฐอเมริกา)
ดาวอังคารมีความกดอากาศต่ำมากจน น้ำไม่สามารถอยู่ในสภาพเหลวได้อย่างเสถียร ไม่มีฝน แต่มีน้ำอยู่ในสภาพแข็งตัวใต้ผิวดิน และอยู่ได้ตลอดปี นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นมาก เมื่อยานอวกาศถ่ายภาพใน พ.ศ. ๒๕๔๓ พบร่องรอยที่ขอบหลุมอุกกาบาตคล้ายน้ำ เพิ่งถูกดูดซึมหายไปใต้ผิวดิน

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แข็งตัวเป็นสีขาว ปกคลุมขั้วใต้ของดาวอังคาร (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
ภูมิประเทศบนดาวอังคารแตกต่างกันระหว่างซีกเหนือกับซีกใต้ ขณะที่ซีกใต้เป็นพื้นที่เก่าแก่ ลักษณะเป็นที่สูง ขรุขระ เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต มีหุบเหว หน้าผา เป็นร่องยาวคดเคี้ยวแตกสาขามากมาย คล้ายเคยถูกกัดเซาะด้วยกระแสน้ำ แต่ซีกเหนือ เป็นพื้นที่อายุน้อยกว่า มีหลุมอุกกาบาตไม่มากนัก พื้นผิวปกคลุมด้วยลาวาจากภูเขาไฟ และซากตะกอนทับถม ที่ไหลมาจากซีกใต้ มีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ซึ่งมีระดับต่ำมาก จนเทียบได้กับระดับพื้นมหาสมุทรบนโลก นักวิทยาศาสตร์จึงค่อนข้างมั่นใจว่า ครั้งหนึ่งดาวอังคารคงเคยมีสภาพอบอุ่น ชุ่มชื้นคล้ายโลก และเคยมีทะเลมาก่อน แต่ปัจจุบันหุบเหวและท้องทะเลล้วนแห้งผาก จึงมีคำถามว่า แล้วน้ำเหือดแห้งหายไปได้อย่างไร

ภูมิประเทศบนดาวอังคารพื้นผิวสีแดง เต็มไปด้วยก้อนหิน เห็นภูเขาอยู่ไกลๆ ถ่ายจากยานสปิริต เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
ในอาณาเขตหนึ่งของอวกาศที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์พอเหมาะสม จนเป็นอาณาเขตของดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดอยู่ได้นั้น ดาวอังคารน่าจะเป็นดาวบริวารดวงหนึ่งที่อยู่ในอาณาเขตนี้เช่นเดียวกับโลก แต่ด้วยเหตุใดเมื่อกาลเวลาผ่านมาหลายพันล้านปี จึงทำให้ดาวอังคารกลายเป็นดาวเคราะห์ ที่มีสภาพแห้งแล้ง เยือกเย็นเช่นในปัจจุบัน