ดาวพุธ (Mercury)
ในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะด้วยกัน ดาวพุธก่อกำเนิดจากกลุ่มก๊าซ ต้นกำเนิดระบบสุริยะด้วยอุณหภูมิสูงที่สุด เป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะดวง และแม้จะเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไม่ไกลจากโลกมากนัก แต่มนุษย์มีความรู้ เกี่ยวกับดาวพุธน้อยมาก
ภาพถ่ายดาวพุธจากยานมาริเนอร์ ๑๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ พื้นผิวเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA / JPL)
ดาวพุธอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย ๕๘ ล้านกิโลเมตร เราเห็นดาวพุธเป็นดวงเล็ก สีขาว อยู่ใกล้ขอบฟ้าด้านตะวันออก หรือด้านตะวันตกของฟากฟ้าด้านหนึ่งนานหลายสัปดาห์ ความสูงในท้องฟ้า ขณะเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ที่ขอบฟ้าไม่เกินกว่า ๒๗ องศา ที่เป็นเช่นนี้ เพราะวงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์ มีขนาดเล็กกว่าวงโคจรของโลก เมื่อมองจากโลก ขณะดวงอาทิตย์อยู่ที่ขอบฟ้า บางครั้ง เราจึงเห็นดาวพุธเคลื่อนที่นำหน้าดวงอาทิตย์ ปรากฏทางฟากฟ้าด้านตะวันออกก่อนตะวันขึ้น หรือเคลื่อนที่ตามหลังดวงอาทิตย์ ปรากฏทางฟากฟ้าด้านตะวันตก หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับฟ้าแล้ว และด้วยเหตุที่ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก แสงของดาวพุธจึงมักกลืนหายไปในแสงของดวงอาทิตย์หมด ทำให้มองเห็นดาวพุธค่อนข้างยาก
ข้อมูลเกี่ยวกับดาวพุธ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นข้อมูล ที่ได้รับจากยานมาริเนอร์ ๑๐ (Mariner 10) ซึ่งเคยไปสำรวจดาวพุธในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ ลำเดียวเท่านั้น ยานอวกาศส่งภาพถ่ายกลับมาจำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ ภาพ เป็นภาพดาวพุธเฉพาะด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ แต่ไม่มีข้อมูลของอีกด้านหนึ่งเลย พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต คล้ายดวงจันทร์ ทำให้คิดกันว่า ดาวพุธคงมีสภาพ ที่ไม่ต่างไปจากดวงจันทร์เท่าใดนัก
แกนในดาวพุธ
เมื่อเปรียบเทียบดาวพุธกับเหล่าสมาชิกที่อยู่ในเขตชั้นในของระบบสุริยะด้วยกัน คือ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และโลก ดาวพุธมีขนาดเล็กพอๆ กับดวงจันทร์ของโลก แต่กลับมีความหนาแน่นสูงพอๆ กับโลก อีกทั้ง ดาวพุธมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูง จึงสันนิษฐานว่า แกนในของดาวพุธประกอบด้วยโลหะเหล็ก และห่อหุ้มด้วยชั้นของเหลว ที่เป็นส่วนผสมของเหล็กและกำมะถัน ที่อุณหภูมิสูงประมาณ ๘๐๐ องศาเซลเซียส โดยมีพื้นผิวชั้นเปลือกเป็นหินทราย
พื้นผิวดาวพุธ
พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย เนื่องจากถูกเศษดาวเคราะห์วัตถุดั้งเดิม สมัยเมื่อระบบสุริยะแรกเกิด คือ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย และอุกกาบาตพุ่งชน ตลอดอายุอันยาวนาน จึงปรากฏหลุมอุกกาบาตขนาดเล็กใหญ่ต่างๆ กันทั่วทั้งดวง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลุมอุกกาบาตบนดาวพุธ มีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่า หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ และดาวอังคาร แสดงว่า วัตถุอวกาศที่พุ่งชน ต้องมีความเร็วสูงมาก ซึ่งแน่นอนว่า วัตถุที่โคจรเข้าหาดวงอาทิตย์ ในอาณาเขตใกล้ดาวพุธ ก็น่าจะเคลื่อนที่เร็วกว่าวัตถุที่โคจรไกลจากดวงอาทิตย์ออกไป
พื้นผิวดาวพุธ จากยานมาริเนอร์๑๐ (ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
บรรยากาศของดาวพุธ
ดาวพุธมีอุณหภูมิพื้นผิว ๒ ด้าน ที่แตกต่างกันมาก ด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ เป็นเวลากลางวัน อุณหภูมิสูงถึงประมาณ ๔๕๐ องศาเซลเซียส ซึ่งสูงพอ ที่จะหลอมละลายตะกั่วได้ ขณะที่ด้านตรงข้ามเป็นเวลากลางคืน อุณหภูมิต่ำประมาณ -๑๗๐ องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงมาก ทำให้โมเลกุลก๊าซ เคลื่อนที่เร็วกว่าที่ดาวพุธจะดึงดูดไว้ได้ ดาวพุธจึงไม่สามารถรักษาบรรยากาศ ที่ห่อหุ้มไว้ได้มากนัก แต่ยานมาริเนอร์ ๑๐ ตรวจพบก๊าซไฮโดรเจน ฮีเลียม และออกซิเจน ปริมาณเล็กน้อย และการสังเกตจากโลก ก็พบร่องรอยของโซเดียมและโพแทสเซียมด้วย

รอยเลื่อนเป็นทางยาวบนดาวพุธ
(ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
น้ำแข็งที่ขั้วดาวพุธ
เมื่อส่งคลื่นเรดาร์สะท้อนบริเวณขั้วของดาวพุธ ได้ตรวจพบร่องรอยของน้ำแข็ง จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ที่ดาวเคราะห์ร้อนจัดอย่างดาวพุธจะมีขั้วน้ำแข็งหรือมีน้ำอยู่ได้ การที่ดาวพุธเอียงแกนเล็กน้อยแต่คงที่ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์ จึงมีบางส่วนของขั้ว ที่ตกอยู่ในความมืด ไม่เคยได้รับแสงอาทิตย์เลย และกลายเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ที่ดาวหางพุ่งชนตั้งแต่อดีตกาล น้ำฝังตัวเป็นน้ำแข็งค้างอยู่ในเขตใกล้ขั้ว และระเหยช้า อาจเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซไฮโดรเจน และออกซิเจน ในบรรยากาศ ของดาวพุธก็ได้
การสำรวจดาวพุธ
จากการที่ดาวพุธมีลักษณะคล้ายดวงจันทร์ที่สงบนิ่ง ซึ่งมนุษย์เคยมีประสบการณ์การสำรวจมาแล้ว อีกทั้งดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการสำรวจสูงเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันอันตราย จากพลังงานความเข้มสูง ที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์โดยตรง และพลังงานบางส่วน เช่น แสงที่สะท้อนกลับออกมาจากพื้นผิวดาวพุธ ซึ่งอาจรุนแรงกว่าแสงจากดวงอาทิตย์เอง ดังนั้นหลังจากยานมาริเนอร์ ๑๐ ได้สำรวจดาวพุธ ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว การสำรวจดาวพุธจึงว่างเว้นมานาน
จนเมื่อมนุษย์สะสมความรู้ และมีประสบการณ์จากการส่งยานอวกาศ ไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่นมาหลายดวง สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้สูงมากพอ ที่จะสร้างเครื่องมือสำรวจ ที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรง ทั้งบนดาวพุธ และในอวกาศรอบๆ ดาวพุธได้ จึงส่งยานเมสเซนเจอร์ (Messenger) ไปสำรวจดาวพุธเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ยานส่งภาพถ่ายระยะใกล้ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ พบว่า ดาวพุธมีหน้าผาใหญ่ หลุมอุกกาบาต และรอยแตกยาวคดเคี้ยวแตกต่างจากดวงจันทร์ของโลก