ปัจจัยเสี่ยงโรค
ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์ แต่ปัจจัยเสี่ยงโรคที่สำคัญของการเกิดโรคอัลไซเมอร์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ
๑) ปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่
๑. อายุ
๒. ประวัติครอบครัว
๓. พันธุกรรมชนิด Apolipo protein E-4 (APOE-4)
๔. กลุ่มอาการดาวน์ (Down's syndrome)
๒) ปัจจัยเสี่ยงรอง ได้แก่
๑. เพศหญิง
๒. ระดับการศึกษาต่ำ
๓. ภยันตรายต่อศีรษะ
๔. โรคหลอดเลือดสมอง (cerebro-vascular disease)
๕. การได้รับพิษจากสารเคมีต่างๆ
๖. พันธุกรรมเสี่ยงโรคอื่นๆ ที่กำลังศึกษาค้นคว้ากันอยู่
ปัจจัยเสี่ยงโรคที่กล่าวมานั้น บางอย่างเราไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น อายุและเพศ สำหรับปัจจัยทางพันธุกรรมนั้น ในปัจจุบันได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยกันมาก โดยพบว่า โครโมโซมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ ในคนที่มีอายุน้อย ในครอบครัว เป็นผลมาจากการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม (genetic mutation) ที่เกิดกับโครโมโซม ๑, ๑๔ และ ๒๑ ส่วนการพบ APOE-4 บนโครโมโซม ๑๙ ของผู้ใด จะทำให้ผู้นั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เมื่อผู้นั้น มีอายุสูงกว่า ๖๕ ปี อย่างไรก็ตาม APOE-4 นี้ ก็อาจพบได้ในคนสูงอายุ ที่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน และผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก็ ไม่จำเป็นต้องพบ APOE-4 เสมอไป ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงยังไม่แนะนำให้ใช้การตรวจ APOE-4 ในการตรวจคัดกรองสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อดูว่าผู้ใดจะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่
ในด้านระดับการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาสูง จะมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ น้อยกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาต่ำ ทั้งนี้เชื่อว่า อาจเป็นเพราะผู้ที่มีการศึกษาสูงมีปริชานสำรอง (cognitive reserve) คือ ความสามารถในการรับรู้ที่เตรียมเผื่อไว้มากกว่า หรือมีการกระตุ้นการพัฒนา ของระบบประสาทติดต่อประสานงานมากกว่า และยาวนานกว่า จึงทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดพยาธิสภาพในสมอง นอกจากนี้ ผู้ที่มีการศึกษาสูงมักเป็นกลุ่มที่มีฐานะดี ดังนั้น จึงมักมีภาวะโภชนาการดีกว่า และมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษน้อยกว่า จึงทำให้โอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ลดลงกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ
ในด้านภยันตรายต่อสมองพบว่า เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ เพราะอุบัติเหตุกับสมองอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติ และเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีรายงานทางการแพทย์ว่า อาการซึมเศร้าในกลุ่มอาการดาวน์ อาจพบได้ก่อนเกิดโรคอัลไซเมอร์ จึงทำให้คิดว่า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน