แนวทางการป้องกันโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์สามารถป้องกันได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้
๑. หลีกเลี่ยงและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
ปัจจัยเสี่ยงโรคที่หลีกเลี่ยงได้หรือแก้ไขได้ มีหลายประการ ได้แก่
- อุบัติเหตุที่ศีรษะ
- การสูบบุหรี่
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะซึมเศร้า
- ระดับการศึกษาต่ำ
๒. อาหาร
ข้อมูลจากสัตว์ทดลองพบว่า การควบคุมปัจจัยด้านอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สัตว์ทดลองมีอายุยืนขึ้น และลดการตาย ของเซลล์สมองลง อาหารที่มีประโยชน์และอาจป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ มีดังนี้
- อาหารที่มีวิตามินอีสูง
- อาหารที่มีวิตามินซีสูง
- อาหารที่มีวิตามินบี ๖ สูง
- อาหารที่มีวิตามินบี ๑๒ สูง
- อาหารที่มีโฟเลตสูง
- อาหารที่มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) จำนวนมาก เช่น ปลาชนิดต่างๆ
ในกรณีที่ผู้สูงอายุบางราย อาจได้รับสารอาหารดังกล่าวไม่ครบ และในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ควรเสริมวิตามินอี วิตามินซี และวิตามินบี รวมกัน เพราะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าสามารถลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
ผักและผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้รับ ควรมีสารอาหารที่ครบถ้วน ในปริมาณที่เพียงพอ และผลไม้จะต้องมีรสไม่หวานมาก
๓. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เป็นวิธีธรรมชาติที่พบว่าทำให้เกิดผลดีต่อร่างกายหลายประการ เช่น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เป็นการป้องกันโรคเบาหวาน ทำให้ขับเหงื่อและขับเกลือในร่างกาย เป็นการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ใช้พลังงานจากไขมันของร่างกาย จึงทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลง ทั้งยังป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และลดความเครียด หรือความกังวลได้อย่างดี
การออกกำลังกายและการฝึกฝนใช้สมองอยู่เสมอๆ สามารถป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
๔. การฝึกสมอง
สมองของคนเรานั้น พบว่า สามารถสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นได้ ถ้ามีการใช้ และฝึกฝน หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า การฝึกฝน ใช้สมองเสมอๆ เช่น การฝึกจำ ทำแบบทดสอบ คิดเลข ฝึกสังเกต ฝึกคิดแก้ไขปัญหาและสิ่งต่างๆ เป็นวิธีที่น่าจะเป็นประโยชน์ ในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
สำหรับในประเทศไทย วิธีฝึกสมองแบบชาวพุทธที่ผู้เขียนคิดขึ้น น่าจะเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ แต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์แน่ชัดในปัจจุบัน คงต้องรอการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต
วิธีฝึกสมองของชาวพุทธในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์
๑. ฝึกสติ (consciousness)
คือ รู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต โดยการฝึกจิตให้ติดตามกายทุกขณะ ในทุกอิริยาบถของร่างกายและการเคลื่อนไหวของกาย พร้อมกับติดตามความคิดทุกขณะ ซึ่งถ้าทำได้คล่องแคล่วหรือชำนาญ จะทำให้จิตตื่นตัวตลอดเวลาและรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ จึงเป็นวิธีฝึกสติที่ดี ทำให้สมองไม่เสื่อม
๒. ฝึกสมาธิ (concentration)
คือ การสวดมนต์โดยอ่านคำสวดมนต์ หรือคำบาลีที่อาจรู้ หรือไม่รู้ความหมายก็ตาม โดยฝึกอ่านทีละคำตามลำดับ วิธีนี้จะทำให้จิตติดตามคำที่อ่านทีละคำ โดยไม่ใช่การท่อง หรือสวดคำที่รู้อย่างคล่องแคล่วดีแล้ว ถือเป็นวิธีฝึกการจดจ่อ เพื่อทำให้เกิดสมาธิได้ดีวิธีหนึ่ง เช่น การสวดคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า ได้แก่ "อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธนาเมอิ อิเนมา พุทธตังโสอิ อิโสตัง พุทธปิติอิ" เป็นต้น
การฝึกสมาธิ ทำให้จิตใจสงบ เป็นอีกวิธีหนึ่ง ในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์
๓. ฝึกปัญญา (wisdom)
โดยการศึกษาพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกถือว่า เป็นความรู้สูงสุด ด้านปัญญาของมนุษย์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และนำมาสั่งสอนชาวโลก เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว การฝึกวิธีนี้ จึงเป็นการฝึกนึกคิดไตร่ตรอง ด้านคุณธรรมที่สูงสุด ซึ่งเป็นความรู้ ที่มีค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อมวลมนุษยชาติ