เล่มที่ 30
กฎหมายตราสามดวง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สาเหตุของ การชำระกฎหมายตราสามดวง

            ก่อน พ.ศ. ๒๓๔๗ ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองราชสมบัติอยู่นั้น ได้เกิดกรณีผู้พิพากษาตัดสินคดีหย่าร้างเรื่องหนึ่ง โดยไม่เป็นธรรมเรื่องมีว่า นายบุญศรี  ช่างเหล็กหลวง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระองค์ อ้างเหตุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินคดีของผู้พิพากษา โดยระบุว่า ภรรยาของนายบุญศรีชื่ออำแดงป้อม ประพฤติตนไม่สมควรโดยเป็นชู้กับนายราชาอรรถ แต่อำแดงป้อมกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรี พระเกษมซึ่งทำหน้าที่ผู้พิพากษา กลับเข้าข้างอำแดงป้อมและยังพูดจาเกี้ยวพาราสีอำแดงป้อม แล้วพิพากษาให้อำแดงป้อมหย่าขาดจากนายบุญศรีได้ทั้งที่นายบุญศรีไม่มี ความผิด คดีดังกล่าวมีการอ้างตัวบทกฎหมายว่า แม้ชายผู้เป็นสามีไม่มีความผิด หากหญิงผู้เป็นภรรยาขอหย่าก็ให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันตามกฎหมายได้


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมาย และประกาศใช้กฎหมายตราสามดวง
เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๓๔๗ (ในสมัยนั้น การขึ้นปีใหม่ เริ่มเมื่อเดือนเมษายน)

            ในสมัยนั้นตัวบทกฎหมายจะเก็บรักษาไว้ ที่ศาลหลวงฉบับหนึ่ง ที่ข้างพระที่ในพระบรมมหาราชวังอีกฉบับหนึ่ง และที่หอหลวงอีกฉบับหนึ่ง รวม ๓ แห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวบทกฎหมายที่เก็บรักษาไว้ทั้ง ๓ แห่ง มาตรวจสอบทานกัน ปรากฏว่า มีข้อความตรงกันทุกฉบับว่า "ชาย หาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้"

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงมีพระราชดำริว่า ตัวบทกฎหมายเช่นนี้ไม่มีความยุติธรรม คงมีความฟั่นเฟือนวิปริตไป เหตุคงมาจากผู้ที่มีความโลภหลงไม่รู้จักละอายต่อบาปจ้องแต่จะหาประโยชน์ ส่วนตัว ทำการแต่งกฎหมายตามใจชอบ มาพิพากษาคดีให้เสียความยุติธรรม โดยทรงยกตัวอย่างว่า ในทางพุทธจักรได้โปรดเกล้าฯ ให้ชำระสะสางพระไตรปิฎก เพื่อเป็นหลักแก่พระพุทธศาสนามาแล้ว ในทางอาณาจักรนี้ ก็ต้องดำเนินการเช่นกัน คดีหย่าร้างเรื่องนายบุญศรีกับอำแดงป้อม จึงเป็นเหตุให้เกิดการชำระสะสางกฎหมายครั้งใหญ่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งผู้ชำระกฎหมายจำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วยอาลักษณ์ (ผู้ทำหน้าที่ทางหนังสือในราชสำนัก) ๔ คน ลูกขุน (ปัจจุบันคือ ผู้พิพากษา) ๓ คน และราชบัณฑิต ๔ คน รวมเป็น ๑๑ คน นำตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด มาตรวจสอบเนื้อความจัดเป็นหมวดหมู่ ชำระดัดแปลงเนื้อความที่วิปริตผิดความยุติธรรมออกเสีย ตัวบทกฎหมายที่นำมาชำระ ก็เป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนใหญ่