เล่มที่ 30
กฎหมายตราสามดวง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เหตุที่เรียกชื่อว่ากฎหมายตราสามดวง

            ผู้ชำระกฎหมายคณะนี้ ใช้เวลาดำเนินการชำระอยู่ประมาณ ๑๑ เดือนก็แล้วเสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานอาลักษณ์จารึกไว้เป็น ๓ ฉบับ หรือ ๓ ชุด ชุดละ ๔๑ เล่ม เขียนด้วยหมึกบนสมุดข่อยสีขาว ถือเป็นต้นฉบับแท้ เรียกว่า ฉบับหลวง เขียนเสร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ เก็บไว้ใกล้ชิดพระองค์คือ ห้องเครื่อง ๑ ชุด เก็บไว้ที่หอหลวง ๑ ชุด และไว้ที่ศาลหลวงอีก ๑ ชุด กฎหมายที่ชำระจัดทำขึ้นใหม่นี้ โปรดเกล้าฯ ให้ปิดดวงตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ไว้บนปกทุกเล่มเป็นสำคัญ ทรงกำชับว่า ต่อไปเมื่อมีการอ้างใช้ตัวบทกฎหมายใดๆ ในการพิจารณาพิพากษาคดี หากกฎหมายที่อ้างไม่มีตราทั้งสามดวงนี้ อย่าให้ผู้ใดเชื่อฟังเป็นอันขาด

            ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว รวม ๓ ดวงนั้น เป็นตราสำคัญ ในสมัยอยุธยา ซึ่งมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ รวมเบ็ดเสร็จอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ การบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น แบ่งการปกครองบังคับบัญชาออกเป็น ๔ ส่วน ได้แก่ หัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร อยู่ใต้บังคับบัญชาของมหาดไทย ซึ่งใช้ตราพระราชสีห์เป็นสำคัญ โดยมี "เจ้าพญาจักรีศรีองครักษ" ตำแหน่งสมุหนายก ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองไชยา อยู่ในบังคับบัญชาของกรมพระกลาโหม ซึ่งใช้ตราพระคชสีห์เป็นสำคัญ มี "เจ้าพญามหาเสนาบดีฯ" ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เช่น เมืองจันทบุรี เมืองตราด เมืองระยอง อยู่ในบังคับบัญชาของกรมพระคลัง ซึ่งใช้ตราบัวแก้วเป็นสำคัญ มี "ออกพญาศรีธรรมราชฯ" ตำแหน่งโกษาธิบดี หรือเจ้าพระยาพระคลัง ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนการปกครองในราชธานีขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์

            ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว รวม ๓  ดวง ที่ประทับบนปกของกฎหมาย ที่ชำระใหม่แต่ละเล่ม จึงมีนัยสำคัญ หมายความถึง การบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร นั่นเอง

            กฎหมายตราสามดวงที่ได้รับการชำระ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการคัดลอกตัวบทกฎหมายเดิมที่สืบทอดต่อๆ กันมาจากสมัยอยุธยาแล้ว ยังเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ตัวบทใหม่ๆ ลงไปด้วย อย่างไรก็ดีหากคำนึงถึงจำนวนคณะกรรมการที่มีเพียง ๑๑ คน และใช้เวลาชำระกฎหมายเพียง ๑๑ เดือน น่าจะสันนิษฐานได้ว่า ตัวบทกฎหมายส่วนใหญ่ คงเป็นบทบัญญัติแต่เดิมที่สืบต่อกันมา หากมีการแก้ไขปรับปรุงต่อเติม หรือแม้กระทั่งยกร่างใหม่ในบางมาตรา ก็เป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงส่วนใด และประเด็นใดเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์กฎหมายจะได้ทำการค้นคว้ากันต่อไป

            กฎหมายตราสามดวงได้รับยกย่องว่า เป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑" เนื่องจากเป็นการนำบทกฎหมายลักษณะต่างๆ ขณะนั้น อันมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มารวบรวมเป็นหมวดหมู่ และชำระดัดแปลงบางบทที่วิปลาส ซึ่งทำให้เสียความยุติธรรมออกไป