เล่มที่ 25
วิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๘)

ในยุคนี้เป็นยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ไมโครโพรเซสเซอร์ที่ใช้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
  • สามารถรับคำสั่งได้ถึง ๑๖ ล้านคำสั่งหรือใช้ขนาดข้อมูลได้ถึง ๑๖ ล้านตัวอักษร
  • สามารถประมวล หรือเรียกใช้ข้อมูลได้ขนาด ๑๖ บิตต่อครั้ง ตัวเลขที่มีค่ามากกว่า ๖๕,๕๓๖ จะต้องถูกแยกประมวลเป็นหลายๆ ส่วน ทำให้มีประสิทธิภาพต่ำ ข้อมูลที่ใช้ทั่วไปทางธุรกิจ ก็ยังมีขนาดมากกว่านี้ จึงทำให้ไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะนำไปใช้ทางด้านธุรกิจ
  • วิทยาการในการเปิดหรือปิดวงจรทรานซิสเตอร์ได้เร็วถึง ๑๒.๕ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๑๑๖ เท่า)
  • สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้ถึง ๑๕๐,๐๐๐ ตัว (มากกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๖๕ เท่า)
  • สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๒.๗ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๔๔ เท่า)
            ไมโครคอมพิวเตอร์ยุคนี้ใช้ฟล็อปปีดิสก์ที่มีขนาด ๕.๒๕ นิ้ว และขนาด ๓.๕ นิ้ว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๘.๖ แสนตัวอักษร หรือข้อความ ๔๓๐ หน้า และใช้ฮาร์ดดิสก์ซึ่งสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้รวดเร็วกว่าฟล็อปปีดิสก์ มาก อีกทั้งสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๒๐ ล้านตัวอักษร หรือข้อความ ๑,๐๐๐ หน้า การแสดงผลข้อมูลก็ใช้จอภาพที่มีความละเอียดสูงขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้น มีจนวนสีมากขึ้น และเริ่มมีเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ (laser printer) ซึ่งสามารถตีพิมพ์ข้อมูลทั้งภาพและตัวอักษรแบบขาวดำได้อย่างสวยงาม และใกล้เคียงกับโรงพิมพ์ การป้อนข้อมูลก็ใช้แป้นพิมพ์และเมาส์

แผ่นแม่เหล็ก magnatic tape
วิวัฒนาการ ทางฮาร์ดแวร์

            เมื่อปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๒๒) บริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ ในการผลิตคอมพิวเตอร์รุ่นเมนเฟรม หรือมินิคอมพิวเตอร์ ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของไมโครคอมพิวเตอร์ จากการที่ได้เห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ซื้อไมโคร คอมพิวเตอร์ และบริษัทที่ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ เช่น บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ บริษัทไอบีเอ็มจึงได้ตัดสินใจที่จะผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ให้สำเร็จ ภายในเวลา ๑ ปี และจะเป็นคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ที่สามารถใช้หน่วยคำจำได้มากกว่าคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต เช่น ไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๖ สามารถใช้หน่วยความจำได้ถึง ๑ ล้านตัวอักษร ซึ่งมากกว่าไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต ที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๐ ถึง ๑๖ เท่า จึงเหมาะที่จะใช้โปรแกรมที่มีความซับซ้อน และการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับทางธุรกิจมากกว่า แต่เนื่องจากมีเวลาในการออกแบบน้อย ทางกลุ่มออกแบบของบริษัทไอบีเอ็ม จึงตัดสินใจที่จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิต โดยบริษัทอื่น และชิ้นส่วนที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น ไมโครโพรเซสเซอร์ และหน่วยความจำ

            ในช่วงนั้น ไมโครโพรเซสเซอร์ชนิด ๑๖ บิต รุ่นที่เด่นๆ ที่มีให้เลือก คือ รุ่น ๘๐๘๖ และ รุ่น ๘๐๘๘ จากบริษัทอินเทล และรุ่น ๖๘๐๐๐ จากบริษัทโมโตโรลา ซึ่งไมโครโพรเซสเซอร์จาก บริษัทอินเทลรุ่น ๘๐๘๖ และ ๘๐๘๘ นั้น แทบจะไม่มีข้อแตกต่างระหว่างกัน นอกจากว่า รุ่น ๘๐๘๘ จะแบ่งข้อมูลเป็น ๘ บิต ในการเรียกใช้ และการเก็บ ถึงแม้ว่าจะสามารถประมวล ผลข้อมูลได้ครั้งละ ๑๖ บิต ก็ตาม ในขณะที่รุ่น ๘๐๘๖ สามารถเก็บ เรียกใช้ และประมวลผล ข้อมูลครั้งละ ๑๖ บิต ทำให้ความเร็วในการ ประมวลผล และสมรรถภาพการใช้ข้อมูลของรุ่น ๘๐๘๘ ต่ำกว่ารุ่น ๘๐๘๖ บางครั้งไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๘ จะถูกถือว่าเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ชนิด ๘ บิต เท่านั้น เนื่องจากสามารถ เรียกใช้ข้อมูลครั้งละ ๘ บิต แต่ทั้งสองรุ่นนี้ ใช้ทรานซิสเตอร์ ๒๙,๐๐๐ ตัว และสามารถ ประมวลผลข้อมูลได้เร็วระหว่าง ๓.๓ - ๓.๕ แสน ครั้งต่อวินาที ซึ่งนับว่าเร็วกว่ารุ่น ๘๐๘๐ ถึง ๑๐ เท่า ส่วนไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๘๐๐๐ ของโมโตโรลา ใช้ทรานซิสเตอร์ถึง ๖๘,๐๐๐ ตัว และมีสมรรถภาพที่เหนือกว่าไมโครโพรเซสเซอร์ รุ่น ๘๐๘๘ และ ๘๐๘๖ ของบริษัทอินเทล เนื่องจากไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๘๐๐๐ เรียกใช้ และเก็บข้อมูลครั้งละ ๑๖ บิต แต่ทว่าสามารถประมวลผลข้อมูลได้ครั้งละ ๓๒ บิต ในแนวเดียวกันกับที่ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๘ ถูกเรียกว่า เป็นชนิด ๘/๑๖ บิต ไมโครโพรเซสเซอร์จากโมโตโรลา รุ่น ๖๘๐๐๐ ก็ถูกเรียกว่า เป็นชนิด ๑๖/๓๒ บิต เช่นกัน

            ในที่สุด กลุ่มออกแบบไมโครคอมพิวเตอร์ ของบริษัทไอบีเอ็ม ได้ตัดสินใจเลือกใช้ไมโคร โพรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทล รุ่น ๘๐๘๘ เหตุ ที่เลือกไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ ทั้งๆ ที่ไมโครโพรเซสเซอร์อีก ๒ รุ่นมีสมรรถภาพ และความเร็วเหนือกว่า ก็เพราะว่า ไมโครโพรเซสเซอร์ทั้งสองรุ่นนั้น ยังไม่มีไมโครชิป หรือวงจรเบ็ดเสร็จอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ควบคู่ในการสร้างไมโคร คอมพิวเตอร์ ในขณะที่ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๘ ซึ่งเก็บและเรียกใช้ข้อมูลขนาด ๘ บิต สามารถร่วมใช้วงจรเบ็ดเสร็จอื่นๆ ของไมโครโพรเซสเซอร์แบบเก่าของบริษัทอินเทล รุ่น ๘๐๘๐ ซึ่งเก็บและเรียกใช้ข้อมูลขนาด ๘ บิต เท่ากัน ได้เลย

            และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ และมีความสำคัญในยุคนี้มีดังต่อไปนี้

ไอบีเอ็ม พีซี (IBM PC) (พ.ศ. ๒๕๒๔)

            หลังจากที่ใช้เวลาในการออกแบบ และพัฒนา ถึง ๑ ปี บริษัทไอบีเอ็ม ก็ได้เริ่มออกจำหน่ายไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแรก คือ ไอบีเอ็ม ๕๑๕๐ พีซี (IBM 5150 PC - Personal Computer) ซึ่งคำว่า พีซี หมายถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การให้นิยามคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น เนื่องจากบริษัทไอบีเอ็ม ต้องการเน้นถึงข้อแตกต่างระหว่างคอมพิวเตอร์รุ่นใหญ่ ที่ผู้ใช้หลายคน จะต้องแบ่งกันใช้ในเวลาพร้อมๆ กัน และคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ ที่ผู้ใช้สามารถใช้ทุกอย่างได้คนเดียว


ไอบีเอ็ม ๕๑๕๐ พีซี ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรก

            พีซีรุ่นแรกได้ออกจำหน่ายในราคาประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ โดยใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทล รุ่น ๘๐๘๘ และใช้สัญญาณนาฬิกาด้วยความเร็วถึง ๔.๗๗ ล้านครั้งต่อวินาที โดยมีหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ขนาด ๖๔,๐๐๐ ตัวอักษร และหน่วยความจำแบบถาวร-รอม ขนาด ๔๐,๐๐๐ ตัวอักษร ใช้ฟล็อปปีดิสก์ขนาด ๕.๒๕ นิ้ว ซึ่งสามารถบรรจุข้อมูลได้ถึง ๑๖๐,๐๐๐ ตัวอักษร ใช้จอภาพที่มี ๑ สี และใช้ชุดคำสั่งควบคุมระบบของบริษัทไมโครซอฟต์ คือ พีซีดอส 1.0 (PC-DOS 1.0)

            ปรากฏว่า ไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และเกินความคาดหมายของทั้งบริษัทไอบีเอ็ม และบริษัทคู่แข่ง เมื่อถึง ปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หลังจากเริ่มจำหน่ายได้ ๔ เดือน บริษัทไอบีเอ็มก็สามารถจำหน่ายพีซีได้ ถึง ๕๐,๐๐๐ เครื่อง ในขณะที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ สามารถจำหน่ายไมโครคอมพิวเตอร์ ตลอดทั้งปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เพียง ๑๓๕,๐๐๐ เครื่องเท่านั้น เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เครื่องพีซี ก็สามารถจำหน่ายได้มากกว่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์จากบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ถึง ๒ เท่า

            การประสบความสำเร็จอย่างสูงของเครื่องพีซี ส่งผลให้บริษัทอื่นๆ เริ่มมีความคิด ทึ่จะผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบเครื่องพีซีขึ้นมา โดยเครื่องที่ลอกเลียนแบบเครื่องพีซีนี้ สามารถจะใช้โปรแกรมทุกๆ อย่างของเครื่องพีซีได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแก้ไขเลย เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ชนิดนี้เรีกยกว่า เครื่องโคลน (clone) การผลิตเครื่องพีซีโคลนสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากเครื่องพีซีไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนที่ทำขึ้นพิเศษ โดยบริษัทไอบีเอ็ม จึงทำให้บริษัทอื่นๆ สามารถซื้อชิ้นส่วนต่างๆ จากร้านจำหน่ายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ทั่วไป และสามารถผลิตเครื่องโคลนได้ ส่วนชุดคำสั่งควบคุมระบบพีซีดอสนั้น บริษัทที่ผลิตเครื่องโคลน ก็สามารถซื้อจากบริษัท ไมโครซอฟต์ได้ เนื่องจากบริษัทไอบีเอ็มไม่ได้ทำสัญญากับบริษัทไมโครซอฟต์ว่า ห้ามจำหน่ายให้แก่บริษัทอื่นๆ สิ่งที่ยากที่สุดในการผลิตเครื่องโคลนขึ้นมาคือ การเขียนโปรแกรมการควบคุมระบบเครื่อง และชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราเรียกว่า โปรแกรมไบออส (BIOS - Basic Input Output System) โปรแกรมไบออสโดยทั่วไป จะถูกเรียกใช้โดยชุดคำสั่งควบคุมอีกต่อหนึ่ง จึงทำให้เราสามารถใช้ชุดคำสั่งควบคุม ๑ ชุด ในการควบคุมเครื่องพีซีหลายชนิด ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันได้ โดยชุดคำสั่งควบคุม จะสั่งให้โปรแกรมไบออสทำงานด้วยคำสั่งมาตรฐาน แต่โปรแกรมไบออสของแต่ละเครื่อง จะปฏิบัติงานที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน แล้วแต่ความเหมาะสม ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องทราบถึงรายละเอียดปลีกย่อย และข้อแตกต่างทุกๆ อย่างของเครื่องพีซีทุกชนิด

            ภายในเวลา ๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็มีหลายบริษัทเริ่มผลิตเครื่องโคลนของพีซีออกมาจำหน่าย บริษัทแรกที่ผลิตเครื่องโคลนของพีซี คือ บริษัทโคลัมเบียเดทาโปรดักต์ (Columbia Data Product) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการจำหน่าย บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายเครื่องโคลนของพีซีคือ บริษัทคอมแพก (Compaq) ซึ่งผลิตเครื่องโคลน ชนิดที่สามารถพกพาได้ โดยเรียกชื่อรุ่นว่า คอมแพก พอร์ตทาเบิล พีซี (Compaq Portable PC) ซึ่งใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ ที่เหมือนกันกับที่ใช้ในเครื่องพีซี และด้วยความเร็วของสัญญาณนาฬิกาที่เท่ากัน โดยจำหน่ายในราคา ๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ แต่มีหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ขนาด ๑๒๘,๐๐๐ ตัวอักษร และมีจอภาพขนาด ๙ นิ้ว ที่มี ๑ สี ติดอยู่ที่ตัวเครื่องด้วย บริษัทคอมแพกได้ลงทุนถึง ๑ ล้านเหรียญ สหรัฐ ในการเขียนโปรแกรมไบออสขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมไบออสของบริษัทไอบีเอ็ม ภายในระยะเวลา ๑ ปี บริษัทคอมแพกสามารถจำหน่ายเครื่องโคลนของพีซี ได้ถึง ๕๗,๐๐๐ เครื่อง ซึ่งมีมูลค่าทั้งหมดประมาณ ๑๑๑ ล้านเหรียญสหรัฐ

ลิซ่า (Lisa) (พ.ศ. ๒๕๒๖)


ไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแอปเปิล ลิซา

            บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า ลิซ่า ซึ่งได้ปฏิวัติรูปแบบของชุดคำสั่งควบคุมระบบ และการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์จะต้องใช้เวลาเรียนรู้ และจดจำคำสั่งหลายสิบชนิด เพื่อที่จะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจ้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ แต่สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแอปเปิลลิซ่า ผู้ใช้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจดจำคำสั่งในการใช้เครื่องอย่างมี ประสิทธิภาพ เนื่องจากเราสามารถสั่งงานเครื่องจากการสื่อสารผ่านหน้าจอ โดยการใช้เมาส์ควบคู่กับแป้นพิมพ์ในการเลือกรูปภาพและเมนู เมาส์ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการป้อนข้อมูลแบบกราฟิกได้อย่างง่ายและ สะดวก ซึ่งระบบการควบคุมและสั่งงานเครื่องโดยการใช้กราฟิกเรียกว่า จียูไอ (GUI - Graphic User Interface) แอปเปิลลิซ่า เป็นไมโครคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ใช้ระบบนี้

            แต่การจำหน่ายเครื่องลิซาไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยถูกผลิตทั้งหมดเพียง ๑๐๐,๐๐๐ เครื่องเท่านั้น เพราะว่ามีราคาแพงถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ และทำงานล่าช้า เนื่องจากไมโครโพรเซสเซอร์จะต้องทำงานหนักมาก ในการประมวลผลข้อมูล และวาดภาพบนจอภาพ สำหรับการทำงานแบบกราฟิก เครื่องลิซาใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทโมโตโรลา รุ่น ๖๘๐๐๐ ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็ว ๕ ล้านครั้งต่อวินาที มีหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ขนาด ๑ ล้านตัวอักษร มีหน่วยความจำแบบถาวร - รอม ขนาด ๒ ล้านตัวอักษร มีเครื่องฟล็อปปีคู่ขนาด ๕.๒๕ นิ้ว ที่สามารถเก็บข้อมูลขนาด ๘๖๐,๐๐๐ ตัวอักษร และมีจอภาพขาวดำขนาด ๑๒ นิ้ว ซึ่งมีความละเอียดสูงติดอยู่ที่ตัวเครื่อง

ไอบีเอ็ม พีซีเอ็กซ์ (IBM PC/XT) (พ.ศ. ๒๕๒๖)


ไอบีเอ็มพีซีเอกซ์ที

            หลังจากบริษัทไอบีเอ็มได้ผลิตพีซีรุ่นแรกออกมาได้ ๑๘ เดือน ก็ได้มีการปรับปรุงเครื่องพีซี โดยการเพิ่มหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ให้มีความจุขนาด ๑๒๘,๐๐๐ ตัวอักษร เพิ่มความจุของฟล็อปีดิสก์ให้มีขนาด ๓๖๐,๐๐๐ ตัวอักษร และเริ่มใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาดที่สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๑๐ ล้านตัวอักษร เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๖ บริษัทไอบีเอ็มก็สามารถจำหน่ายพีซีทุกรุ่นเป็นจำนวนทั้งหมด ๕๓๘,๐๐๐ เครื่อง

แมคอินทอช (Macintosh) (พ.ศ. ๒๕๒๗)

            หลังจากบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้เห็นข้อบกพร่องของเครื่องลิซ่า บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ก็ได้ทำการปรับปรุงแก้ไข โดยการผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ออกมา และให้ชื่อว่า แมคอินทอช หรือเรียกสั้นๆ ว่า แมค ไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ได้เพิ่มความเร็ว โดยการใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๘๐๐๐ ที่ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็วถึง ๘ ล้านครั้งต่อวินาที และลดขนาดงานของไมโครโปรเซสเซอร์ที่ต้องทำ โดยการลดความละเอียดของจอภาพถึง ๓๐% การลดต้นทุนของเครื่องก็กระทำ โดยการลดขนาดจอภาพ ให้เหลือเพียง ๙ นิ้ว ลดความละเอียดของจอภาพ ลดจำนวนหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ที่ติดมากับเครื่อง ให้เหลือขนาด ๑๒๘,๐๐๐ ตัวอักษร และลดจำนวนเครื่องฟล็อปปีดิสก์จาก ๕.๒๕ นิ้ว มาเป็นขนาด ๓.๕ นิ้ว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ตัวอักษร และจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่ามาก โดยจำหน่ายในราคา ๒,๕๐๐ เหรียญสหรัฐ

            เครื่องแมคอินทอชยังใช้ระบบสั่งงาน และควบคุมเครื่องแบบกราฟิก เช่นเดียวกันกับเครื่อง ลิซา รวมทั้งได้เพิ่มโปรแกรมหลายอย่าง ที่ใช้สำหรับวาดรูป และใช้ในการเรียงพิมพ์มาพร้อมกับเครื่อง แต่โปรแกรมที่ใช้สำหรับเครื่องรุ่นนี้ จะไม่สามารถใช้กับเครื่องแอปเปิลรุ่นก่อนๆ ได้ ภายในระยะเวลา ๑ ปี บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์สามารถจำหน่ายเครื่องแมคอินทอชได้ ถึง ๒๕๐,๐๐๐ เครื่อง

ไอ บีเอ็มพีซีเอที (IBM PC/AT) (พ.ศ. ๒๕๒๗)


ไอบีเอ็มพีซีเอที

            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ชนิด ๑๖ บิต รุ่นใหม่ ชื่อว่ารุ่น ๘๐๒๘๖ โดยมีทรานซิสเตอร์ ๑๓๔,๐๐๐ ตัว ซึ่งมีจำนวนทรานซิสเตอร์มากกว่ารุ่น ๘๐๘๘ และ ๘๐๘๖ ถึง ๔ เท่า โดยไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้ สามารถประมวลคำสั่งได้ระหว่าง ๙๐๐,๐๐๐ ถึง ๒.๖ ล้านคำสั่งต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่ารุ่น ๘๐๘๘ และ ๘๐๘๖ ระหว่าง ๓-๖ เท่า

            บริษัทไอบีเอ็มได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของอินเทล รุ่น ๘๐๒๘๖ ชื่อว่า รุ่นไอบีเอ็มพีซีเอที ซึ่งเครื่องพีซีเอที นับว่าเป็นไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๒ ของบริษัทไอบีเอ็มเท่านั้น เนื่องจากเครื่องพีซีเอกซ์ที ถือว่า เป็นเครื่องรุ่นเดียวกับเครื่องพีซี แต่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เครื่องพีซีเอที มีความเร็วมากกว่าเครื่องพีซีเอกซ์ทีประมาณ ๕ เท่า และใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็วถึง ๖ ล้านครั้งต่อวินาที ใช้ฟล็อปปีดิสก์ขนาด ๕.๒๕ นิ้ว และสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๑.๒ ล้านตัวอักษร เครื่องรุ่นนี้ได้ใช้ระบบใหม่ สำหรับการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างส่วนต่างๆ ของเครื่อง หรือที่เรียกกันว่า บัส (bus) ให้มีขนาด ๑๖ บิต โดยมาตรฐานของบัสนี้ มีชื่อว่า เอทีบัส (AT bus) หรือไอซาบัส (ISA bus)

            เครื่องพีซีเอทีที่มีหน่วยความจำแบบชั่วคราว -แรม ขนาด ๕๑๒,๐๐๐ ตัวอักษร และฮาร์ดดิสก์ ขนาด ๒๐ ล้านตัวอักษร มีราคาประมาณ ๖,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ และเครื่องพีซีเอทีสามารถใช้โปรแกรมทุกๆ โปรแกรม ของเครื่องพีซีได้

            ครั้งนี้บริษัทคอมแพกใช้เวลาเพียง ๖ เดือน ในการผลิตเครื่องโคลนของเครื่องพีซีเอที ซึ่งผลิตได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อมาถึงจุดนี้ บริษัทที่ผลิตเครื่องโคลนของพีซีเอที ก็เริ่มผลิตเครื่องที่มีความเร็วกว่าเครื่องไอบีเอ็มพีซีเอทีแท้ๆ โดยการใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็วขึ้น คือ ๘/๑๐/๑๒ ล้านครั้งต่อวินาที

วิวัฒนาการ ทางซอฟต์แวร์

            ช่วงแรกๆ ที่เครื่องไอบีเอ็มพีซีถูกผลิตออกมา ก็มีโปรแกรมหลากหลายชนิดถูกผลิตออกมา แต่โปรแกรมที่มีส่วนสำคัญ สำหรับความสำเร็จของเครื่องพีซีนั้นคือ โปรแกรมโลตัส ๑-๒-๓ ซึ่งเป็นชุดโปรแกรม ที่รวบรวมโปรแกรม สำหรับใช้ในการเรียงพิมพ์ สำหรับทางกราฟิก และสำหรับการบริหารฐานข้อมูล โดยผู้ใช้สามารถทำรายงาน ดูข้อมูล และวาดกราฟได้ ซึ่งได้เริ่มออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ หลังจากโปรแกรมนี้ออกมาได้ ๓ เดือน เครื่องไอบีเอ็มพีซี ก็สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายได้ถึง ๓ เท่า ภายในปีแรก บริษัทโลตัสก็มียอดจำหน่ายมากถึง ๕๓ ล้านเหรียญสหรัฐ และอีก ๑ ปีต่อมา ก็มียอดจำหน่ายมากถึง ๑๕๗ ล้านเหรียญสหรัฐ และมีลูกจ้างถึง ๗๐๐ คน

            ส่วนโปรแกรมที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เครื่องแอปเปิลแมคอินทอชประสบความ สำเร็จ ได้แก่ โปรแกรมเพจเมกเกอร์ (PageMaker) ซึ่งเมื่อใช้ด้วยกันกับเครื่องเลเซอร์ ผู้ใช้จะมีความสามารถในการตีพิมพ์ เสมือนเป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็ก โดยผู้ใช้สามารถจัดหน้ารายงาน หรือหนังสือได้อย่างสารพัดรูปแบบ โดยไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องจ้างโรงพิมพ์แบบมืออาชีพ ในการทำรายงาน หรือหนังสือ

             

 โปรแกรมเพจเมคเกอร์เมื่อใช้ร่วมกับเครื่องเลเซอร์จะมีความสามารถในการตี พิมพ์เสมือนเป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็ก

            ยุคนี้ ชุดคำสั่งควบคุมระบบ ถูกแบ่งออก เป็น ๒ อย่าง อย่างแรกจะเป็นวิธีใช้การพิมพ์คำสั่ง เพื่อสั่งงานเครื่อง ซึ่งเครื่องระบบไอบีเอ็มพีซี และเครื่องโคลนทั้งหลาย จะใช้ระบบนี้ และอย่างที่ ๒ เป็นการสั่งงานเครื่อง โดยใช้กราฟิก ซึ่งไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทแอปเปิลรุ่นลิซา และแมคอินทอชจะใช้ระบบนี้

            ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ บริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตชุดคำสั่งควบคุมระบบแบบกราฟิกที่มีชื่อว่า ไมโครซอฟต์ วินโดวส์ ๑.๐ (Window 1.0) โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำให้เครื่องพีซีใช้งานอย่างเครื่องแอปเปิลแมคอิน ทอช แต่ปรากฏว่า ไมโครโพรเซสเซอร์ของตระกูลพีซี ยังมีสมรรถภาพต่ำ จึงทำให้การใช้งานช้า และไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีโปรแกรมอื่นๆ น้อยมาก ที่จะสามารถใช้ควบคู่ไปกับวินโดวส์ได้ จึงทำให้มีผู้ใช้น้อยมาก