ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๓๒ บิต (พ.ศ. ๒๕๓๙ - ปัจจุบัน)
ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันจะมีฮาร์ดดิสก์หลายรูปแบบและหลายขนาด
ในยุคนี้เป็นยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๓๒ บิต ไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- สามารถรับคำสั่งได้ถึง ๖๔,๐๐๐ ล้านคำสั่ง หรือใช้ขนาดข้อมูลได้ถึง ๖๔,๐๐๐ ล้านตัวอักษร
- สามารถประมวลข้อมูลได้ขนาด ๓๒ บิตต่อครั้ง ตัวเลขที่มีค่ามากกว่า ๔,๒๙๕ ล้านจะต้องถูกแยกประมวลเป็นหลายๆ ส่วน ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพต่ำ แต่ข้อมูลที่ใช้ทั่วไปทางธุรกิจจะมีค่าอยู่ในช่วงนี้ ไมโครคอมพิวเตอร์จึงมีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับใช้ทางด้านธุรกิจ
- มีวิทยากรในการเปิดหรือปิดวงจรทรานซิสเตอร์ได้เร็วกว่า ๑,๐๐๐ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๙,๒๐๐ เท่า)
- สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้มากกว่า ๙ ล้านตัว (มากกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๓,๙๐๐ เท่า)
- สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วกว่า ๒๒๐ ล้านคำสั่งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๓,๖๐๐ เท่า)
- บางรุ่นสามารถประมวลคำสั่งได้มากกว่า ๑ คำสั่ง พร้อมๆ กัน
- บางรุ่นจะมีคำสั่งพิเศษที่สามารถประมวลข้อมูลทางด้านรูปภาพ เสียง หรือภาพยนตร์ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เหมาะสม ที่จะใช้ทางด้านการสื่อสาร และโทรคมนาคม
- บางรุ่นจะมีหน่วยความจำแบบเร็ว (cache memory) อยู่ข้างในไมโครโพรเซสเซอร์ เพื่อที่จะได้เพิ่มความเร็วของการเรียกใช้ข้อมูล
ไมโครคอมพิวเตอร์ยุคนี้ก็ยังใช้ฟล็อปปีดิสก์ที่มีขนาด ๕.๒๕ นิ้ว และขนาด ๓.๕ นิ้ว บางรุ่นสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้นถึง ๒.๘ ล้านตัวอักษร หรือข้อความ ๑,๔๐๐ หน้า และใช้ฮาร์ดดิสก์หลายรูปแบบ ที่มีหลายขนาด มีทั้งขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่า ๑๖,๐๐๐ ล้านตัวอักษร หรือข้อความ ๘ ล้านหน้า ซึ่งเท่ากับหนังสือขนาด ๔๐๐ หน้า จำนวน ๒๐,๐๐๐ เล่ม และขนาดเล็กเท่ากล่องไม้ขีดไฟ ที่มีขนาดเพียง ๑.๓ นิ้ว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้หลายร้อยล้านตัวอักษร ฮาร์ดดิสก์ก็ได้เพิ่มความเร็วในการเก็บและเรียกใช้ บางชนิดสามารถถอดและสับเปลี่ยนได้เหมือนฟล็อปปีดิสก์ แต่ว่ามีความเร็วสูง และสามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าฟล็อปปีดิสก์
การแสดงผลข้อมูลก็ใช้จอภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีจำนวนสีมากขึ้นเป็นล้านๆ สี สำหรับเครื่องพิมพ์ ก็ใช้เครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ (laser printer) และอิงก์เจ็ต (inkjet printer) ซึ่งสามารถตีพิมพ์ข้อมูล ทั้งภาพและตัวอักษรแบบขาวดำและสีได้อย่างสวยงามเทียบเท่าโรงพิมพ์ และเริ่มมีการใช้เสียง ในการแสดงผล เช่น การรับฟังวิทยุ หรือเล่นเพลง โดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ และลำโพง ส่วนการป้อนข้อมูล ก็มีการใช้แป้นพิมพ์ เมาส์ กล้องถ่ายภาพสี ไมโครโฟน และสแกนเนอร์ (scanner) ทำให้เราสามารถแม้กระทั่งสั่งงานคอมพิวเตอร์ โดยใช้เสียงได้ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียงพิมพ์ เราสามารถจะเขียนข้อความ โดยที่คอมพิวเตอร์สามารถเปลี่ยนข้อมูลของเสียงมาเป็นตัวอักษรได้ หรือเราสามารถจะเขียนข้อความบนจอภาพ หรือบนกระดาษ แล้วให้คอมพิวเตอร์อ่านลายมือ และเปลี่ยนมาเป็นตัวอักษร การสื่อสารของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มีหลายประเภท ทั้งเครือข่ายประเภทแลน (LAN - local area network) แวน (WAN - wide area network) หรืออินเทอร์เน็ต (Internet) จึงทำให้ไมโครคอมพิวเตอร์ยุคนี้ มีอุปกรณ์เสริมหลายชนิด เช่น โมเด็ม (modem) ที่ช่วยในการส่งและรับข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เร็วกว่า ๕๖,๐๐๐ บิตต่อวินาที หรือแลนการ์ดที่ช่วยต่อคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่นที่อยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้อย่าง รวดเร็ว โดยสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เร็วกว่า ๑๐๐ ล้านบิตต่อวินาที
เครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ต (inkjet printer)
เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่มีระยะเวลายาวนาน จึงมีการปรับปรุง และคิดค้นวิทยาการใหม่ๆ หลายอย่าง เพื่อทำให้ไมโครคอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วขึ้น ดีขึ้น และมีความสามารถมากขึ้น ไมโครคอมพิวเตอร์จึงมีขนาดเล็กลง และทำงานได้เร็วขึ้น เราสามารถแบ่งขนาดของไมโครคอมพิวเตอร์ได้ ดังต่อไปนี้
ขนาดตั้งโต๊ะ
ขนาดวางบนตัก
- ขนาดสมุดบันทึก (notebook)
ขนาดสมุดบันทึก
- ขนาดฝ่ามือ (palmtop or pad)
ขนาดฝ่ามือ
เราถือว่า เครื่องขนาดวางบนตัก ขนาดสมุด บันทึก และขนาดฝ่ามือ เป็นเครื่องที่สามารถหอบหิ้ว และพกพาได้ โดยจะมีแบตเตอรี่ช่วยให้สามารถใช้เครื่องได้ โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟฟ้า เครื่องขนาดวางบนตัก และขนาดสมุดบันทึก จะมีสมรรถภาพ และความเร็วเทียบเท่าเครื่องขนาดตั้งโต๊ะ แต่มีราคาที่แพงกว่า เนื่องจากออกแบบได้ยากกว่า และจะต้องมีความทนทานมากกว่า เพราะเป็นเครื่องที่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อยๆ สำหรับเครื่องขนาดฝ่ามือนั้น ส่วนมากจะใช้สำหรับการเก็บข้อมูลที่ใช้ทั่วไป เช่น การเก็บเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เวลานัดหมาย เนื่องจากเครื่องมีขนาดเล็กมาก จึงทำให้ไม่สามารถป้อนข้อมูลมากๆ โดยการพิมพ์หรือเขียนบนเครื่องได้สะดวก ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในช่วงปลายยุคของไมโครคอมพิวเตอร์ ชนิด ๓๒ บิต ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จะเริ่มมีไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๖๔ บิต ใช้กันอย่างแพร่หลาย
วิวัฒนาการทางฮาร์ดแวร์
ช่วงต้นๆ ของยุคนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ บริษัทไอบีเอ็ม และบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์คือ สองบริษัทใหญ่ของวงการไมโครคอมพิวเตอร์ บริษัทที่ใหญ่รองลงมาคือ บริษัทคอมโมดอร์ และบริษัทเรดิโอแช็ค โดยบริษัทไอบีเอ็มจำหน่ายเครื่องตระกูลพีซีได้ทั้งหมด ๗ ล้านเครื่อง บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์จำหน่ายได้ทั้งหมด ๕ ล้านเครื่อง บริษัทคอมโมดอร์จำหน่ายได้ทั้งหมด ๔ ล้านเครื่อง และบริษัทเรดิโอแช็คจำหน่ายได้ทั้งหมด ๒ ล้านเครื่อง ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ และมีความสำคัญในยุคนี้ มีดังต่อไปนี้
พีซีรุ่น ๘๐๓๘๕๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์ รุ่นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ชื่อว่า รุ่น ๘๐๓๘๖ ซึ่งเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ขนาด ๓๒ บิต ใช้ทรานซิสเตอร์ ๒๗๕,๐๐๐ ตัว (มากกว่ารุ่น ๘๐๒๘๖ ถึง ๒ เท่า) และมีความสามารถทำงานหลายๆ อย่างสลับกันไปมาในเวลาเดียวกันได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ (multitasking) ทำให้มีสมรรถภาพเพียงพอ ที่จะใช้กับชุดคำสั่งควบคุม ที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างบนระบบยูนิกซ์ (Unix) หรือบนวินโดวส์รุ่นหลังๆ ได้ ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๖ ล้าน คำสั่งต่อวินาที (เร็วกว่าพีซีรุ่นแรกถึง ๑๘ เท่า) เมื่อไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๓๘๖ ออกมา บริษัทที่ผลิตเครื่องโคลนทั้งหลายก็ราอให้บริษัท ไอบีเอ็มผลิตเครื่องพีซีที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ รุ่นใหม่ แต่หลังจากรอเป็นเวลานาน บริษัท คอมแพกจึงตัดสินใจที่จะไม่รอบริษัทไอบีเอ็ม โดยได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๓๘๖ ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ชื่อว่า รุ่นคอมแพกเดสก์โปร ๓๘๖ (Compaq Deskpro 386) และใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความ เร็ว ๑๖ ล้านครั้งต่อวินาที และนี่คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้บริษัทไอบีเอ็มได้สูญเสียความเป็นผู้นำของวงการไมโครคอมพิวเตอร์
นับจากจุดนี้เป็นต้นไป เมื่อบริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ๆ ออกมา บริษัทที่ผลิตเครื่องโคลน ต่างก็แข่งขันกันผลิตเครื่องพีซี ที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ออกจำหน่าย โดยไม่มีบริษัทใดสนใจ ที่จะรอบริษัทไอบีเอ็มอีกต่อไป การที่บริษัทไอบีเอ็มมีความล่าช้าในการผลิตพีซี ที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๓๘๖ นั้น เพราะว่า บริษัทไอบีเอ็ม ต้องการที่จะดึงตลาดของเครื่องพีซีให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทมากขึ้น โดยได้เปลี่ยนการออกแบบโครงสร้าง ของพีซีรุ่นต่อมา และจดลิขสิทธิ์ของโครงสร้าง ใหม่ๆ นี้ไว้ เพื่อจะได้สามารถบังคับให้บริษัทอื่นๆ ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่แพงมากให้แก่บริษัทไอบีเอ็ม เพื่อที่จะได้สิทธิในการผลิตเครื่องโคลนของพีซี แบบใหม่นี้ เนื่องจากเริ่มมีหลายๆ บริษัทได้ผลิต เครื่องโคลนของตระกูลพีซี และได้เริ่มแย่งตลาด ไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทไอบีเอ็ม โดย จำหน่ายในราคาถูกกว่า และเครื่องโคลนยังมี ความเร็วกว่าเครื่องตระกูลพีซีแท้ๆ ทำให้ยอด จำหน่ายเครื่องโคลนทั้งหมดมีมากกว่าเครื่องพีซี ของบริษัทไอบีเอ็ม
เครื่องพีซีรุ่นใหม่นี้ ใช้วิทยาการใหม่ สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลของส่วนต่างๆ ภายในตัวเครื่องที่มีชื่อว่า เอ็มซีเอบัส (MCA - Micro Channel Architecture) เครื่องรุ่นใหม่ออกแบบเสร็จ และเริ่มนำออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยเรียกชื่อตระกูลใหม่ของพีซีรุ่นนี้ว่า พีเอส ๒ (PS2) แต่ความพยายามของบริษัทไอบีเอ็มไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากอุปกรณ์เสริม เช่น การ์ดต่างๆ จะต้องถูกออกแบบใหม่หมด สำหรับบัสชนิดนี้ ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถย้ายอุปกรณ์เสริมต่างๆ เหล่านี้ มาจากเครื่องรุ่นเก่าได้ และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องโคลนใหญ่ๆ ๗ บริษัท ได้รวมตัวกันออกมาตรฐานบัสใหม่ ที่มีสมรรถภาพเทียบเท่าไมโครแชนเนลบัส โดยเรียกว่า ไอซาบัส (EISA - Extended Industry Standard Architecture) ซึ่งผู้ผลิตเครื่องโคลนทั้งหลาย สามารถใช้ได้ และไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ มีผลให้เอ็มซีเอบัสของบริษัทไอบีเอ็มไม่ค่อยได้รับความนิยม
แมคอินทอช II (พ.ศ. ๒๕๓๐)
แมคอินทอช II
บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ออกไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า แมคอินทอช II หรือ เรียกสั้นๆ ว่า แมค II โดยใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทโมโตโรล่ารุ่น ๖๘๐๒๐ ซึ่งออกมาในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ มีทรานซิสเตอร์ ๑๙๐,๐๐๐ ตัว และเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ชนิด ๓๒ บิตอย่างแท้จริง โดยสามารถใช้เก็บและประมวลข้อมูลแบบ ๓๒ บิต ต่อมาบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ก็ได้ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ของโมโตโรล่ารุ่น ๖๘๐๓๐ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ซึ่งมีทรานซิสเตอร์ ๒๗๓,๐๐๐ ตัว และรุ่น ๖๘๐๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ซึ่งมีทรานซิสเตอร์ ๑.๒ ล้านตัว
พีซีรุ่น ๘๐๔๘๖ (พ.ศ. ๒๕๓๒)
บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ชื่อว่า รุ่น ๘๐๔๘๖ ซึ่งเป็นไมโครโปรเซสเซอร์ขนาด ๓๒ บิต และมีทรานซิสเตอร์ ๑.๒ ล้านตัว โดยไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้ มีหน่วยความจำเล็กๆ ที่มีความเร็วสูง (cache memory) ขนาด ๘,๐๐๐ ตัวอักษร ซึ่งช่วยเก็บคำสั่ง และข้อมูลที่ใช้บ่อยๆ เพื่อที่จะทำให้ได้รับข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้น และมีหน่วยคำนวณทางคณิตศาสตร์ (math coprocessor) อยู่ในตัว ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วของการคำนวณ จึงมีสมรรถภาพ และความเร็ว เพียงพอที่จะใช้กับโปรแกรมการออกแบบต่างๆ (CAD - Computer Aided Design) เช่น ออกแบบบ้าน เครื่องจักรหรือโปรแกรมจำลองต่างๆ (simulation program) ซึ่งจะต้องใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์มาก ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้สามารถประมวลคำสั่งได้ระหว่าง ๒๐-๔๑ ล้านคำสั่งต่อวินาที และสามรารถใช้สัญญาณที่มีความเร็วระหว่าง ๒๕-๔๐ ล้านครั้งต่อวินาที ไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ได้เริ่มใช้หน่วยความจำแบบชั่วคราว-แรมมาก โดยจะใช้ขนาดระหว่าง ๔-๓๒ ล้านตัวอักษร และเริ่มนิยมใช้ระบบสั่งงานและควบคุมเครื่องแบบกราฟิกคือวินโดวส์รุ่น ๓.๐ ของบริษัทมโครซอฟต์ ซึ่งไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้มีความเร็วพอสำหรับระบบวินโดวส์ทำให้ผู้ใช้ไม่เห็นความช้าของเครื่องและไม่รู้สึกรำคาญเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วินโดวส์บนเครื่องพีซีรุ่น ๘๐๓๘๖ การเริ่มใช้สัญญาณนาฬิกาที่รวดเร็วมากทำให้ต้องเริ่มออกแบบบัสของตัวเครื่องใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับส่วนต่างๆ ของเครื่อง ให้มีความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วของการประมวลผลของไมโครโปรเซสเซอร์ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีบัสใหม่ออกมา ๒ มาตรฐาน ได้แก่ เวอซ่าบัส (VESA-Video Electronics Standard Association) และ พีซีไอบัส (PCI-Peripheral Component Interconnect) ปรากฏว่า พีซีไอบัสได้รับความนิยมและได้กลายเป็นมาตรฐานของเครื่องรุ่นใหม่ พีซีไอบัสสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เร็วถึง ๑๓๒ ล้านไบต์ต่อวินาที ซึ่งเท่ากับสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ ๖๖,๐๐๐ หน้าต่อวินาที ในขณะที่เวอซ่าบัสสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ถึง ๑๐๗ ล้านไบต์ต่อวินาที ส่วนไอซ่าบัสสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เพียง ๘ ล้านไบต์ต่อวินาที
พีซีรุ่นเพนเทียม (Pentium) (พ.ศ. ๒๕๓๖)
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ บริษัทอินเทลได้ออกไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่มีชื่อว่า รุ่นเพนเทียม การที่ตั้งชื่อใหม่นี้ แทนที่จะเรียกว่า รุ่น ๘๐๕๘๖ เพราะว่าในช่วงนี้ได้มีบริษัทอื่นๆ ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์ที่เลียนแบบไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นต่างๆ ของบริษัทอินเทล และได้ใช้ชื่อรุ่นไมโครโพรเซลเซอร์เหมือนบริษัทอินเทล โดยบริษัทอินเทลไม่สามารถที่จะห้ามปรามได้ เนื่องจากไม่ได้จดลิขสิทธิ์ชื่อรุ่นของไมโครโพรเซสเซอร์ไว้ บริษัทอินเทลจึงได้เปลี่ยนชื่อรุ่นใหม่ และจดลิขสิทธิ์ชื่อใหม่เอาไว้ ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ ใช้ทรานซิสเตอร์ ๓.๑ ล้านตัว (มากกว่ารุ่น ๘๐๔๘๖ ถึง ๒.๕ เท่า) ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็ว ๖๐ ล้านครั้งต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๔๘๖ ที่ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็ว ๓๓ ล้านครั้งต่อวินาที ถึง ๕ เท่า และเร็วกว่าพีซีรุ่นแรกถึง ๑๕๐ เท่า โดยสามารถประมวลคำสั่งได้เร็วกว่า ๑๐๐ ล้านคำสั่งต่อวินาที ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้มีส่วนคำนวณตรรก ๒ ชุด ซึ่งทำให้สามารถคำนวณ ๒ ครั้งพร้อมกัน และมีหน่วยความจำเล็กๆ ที่มีความเร็วขนาด ๘,๐๐๐ ตัวอักษร ๒ ชุด โดยชุดหนึ่งใช้เก็บคำสั่งที่ใช้บ่อยๆ และอีกชุดหนึ่งใช้เก็บข้อมูลที่ใช้บ่อยๆ เพื่อที่จะทำให้การเรียกข้อมูลและการปฏิบัติตามคำสั่งมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
พาวเวอร์แมค (PowerMac) (พ.ศ. ๒๕๓๗)
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ มีชื่อว่า รุ่นพาวเวอร์แมค โดยใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ตระกูลใหม่ของบริษัทโมโตโรล่า ซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์ ๒.๘ ล้านตัว โดยบริษัทโมโตโรล่าได้ร่วมกับบริษัทไอบีเอ็มพัฒนาและผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ การใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ ทำให้เครื่องพาวเวอร์แมคมีประสิทธิภาพสูง และสามารถแข่งขันกับเครื่องพีซีตระกูลเพนเทียมได้
พีซีรุ่นเพนเทียมโปร (Pentium Pro) (พ.ศ. ๒๕๓๘)
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า รุ่นเพนเทียมโปร ซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์ ๕.๕ ล้านตัว (มากกว่ารุ่นเพนเทียม ๗๐%) และสามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่ารุ่นเพนเทียมประมาณ ๒๕% ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ สามารถรับข้อมูลได้ครั้งละ ๖๔ บิต มีส่วนคำนวณตรรก ๒ ชุด และได้ปรับปรุงหน่วยความจำขนาดเล็กๆ ที่รวดเร็ว ให้มีประสิทธิภาพที่ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น
พีซีรุ่นเพนเทียม II (Pentium II) (พ.ศ. ๒๕๔๐)
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ บริษัทอินเทลได้ผลิต ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า รุ่นเพนเทียม II ซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์ ๗.๕ ล้านตัว (มากกว่ารุ่นเพนเทียมโปร ประมาณ ๕๐%) ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ สามารถรับข้อมูลได้ครั้งละ ๖๔ บิต มีส่วนคำนวณตรรก ๒ ชุด และมีหน่วยประมวลผลข้อมูลประเภทภาพและเสียง ซึ่งทำให้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ เหมาะสำหรับการใช้ภาพ เสียง และภาพยนตร์
วิวัฒนาการทางซอฟแวร์
คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่สามารถแสดงผลในรูปแบบภาพยนตร์ได้
ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ใช้ระบบสั่งงาน และควบคุมเครื่องแบบกราฟิก ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียนรู้การใช้งานได้ง่าย เมื่อบริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตวินโดวส์ รุ่น ๓.๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็สามารถจำหน่ายได้ถึง ๓ ล้านชุดภายในปีแรก การที่บริษัทไมโครซอฟต์ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ เพราะได้มีการโฆษณาไว้มาก และได้ชักชวนบริษัทที่ผลิตซอฟต์แวร์จำนวนมาก ให้พัฒนาโปรแกรมสำหรับวินโดวส์ ผู้ใช้จึงมีซอฟต์แวร์ให้เลือกอย่างมากมาย จึงทำให้ผู้ใช้เริ่มเลือกใช้วินโดวส์มากขึ้น บริษัทไมโครซอฟต์ก็ได้ปรับปรุงวินโดวส์ขึ้นเรื่อยๆ โดยผลิตวินโดวส์รุ่น ๓.๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ วินโดวส์ ๙๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และวินโดวส์ ๙๘ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา อินเทอร์เน็ตก็เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้มีซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับอินเทอร์เน็ตออกมามากมาย ซึ่งมีข้อมูลหลายประเภท รวมทั้งโปรแกรมภาพ เสียง และภาพยนตร์
นับแต่ไมโครคอมพิวเตอร์ได้เริ่มต้นขึ้นมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ไมโครคอมพิวเตอร์ก็ได้มีวิวัฒนาการไปอย่างมาก โดยมีความเร็วมากขึ้น หลายพันเท่า และมีการผลิตซอฟต์แวร์หลากหลาย สำหรับการใช้งานแทบทุกประเภท ปัจจุบันทั่วโลก มีไมโครคอมพิวเตอร์ใช้กันหลายร้อยล้านเครื่อง และจะมีใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ขนาดสมุดบันทึก iBook ของบริษัทแอปเปิล