เล่มที่ 25
วิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต (พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๓)

ในยุคนี้เป็นยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต ไมโครโพรเซสเซอร์ที่ใช้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
  • สามารถรับคำสั่งได้ถึง ๖๕,๐๐๐ คำสั่ง หรือใช้ขนาดข้อมูลได้ถึง ๖๕,๐๐๐ ตัวอักษร ไม่สามารถใช้คำสั่ง หรือข้อมูลที่ใหญ่กว่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างรวดเร็ว
  • สามารถประมวลข้อมูลได้ขนาด ๘ บิตต่อครั้ง ตัวเลขที่มีค่ามากกว่า ๒๕๖ จะต้องถูกแยกประมวลเป็นหลายๆ ส่วน ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ แต่ข้อมูลที่ใช้ทั่วไปทางธุรกิจ จะมีขนาดมากกว่านี้ ไมโครคอมพิวเตอร์จึงมีประสิทธิภาพต่ำ สำหรับใช้ทางด้านธุรกิจ
  • มีวิทยาการในการเปิด หรือปิดวงจรทรานซิสเตอร์ได้เร็วถึง ๒ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๑๘ เท่า)
  • สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้ถึง ๖,๐๐๐ ตัว (มากกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๒.๕ เท่า)
  • สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๖๕,๐๐๐ คำสั่งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๑๐ เท่า)
            ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุกนี้ใช้ฟล็อปปีดิสก์ที่มีขนาด ๕.๒๕ และเทศคาสเซ็ตต์ในการเก็บข้อมูล ดิสก์ ๑ แผ่น สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๓.๖ แสนตัวอักษร หรือข้อความประมาณ ๑๘๐ หน้า โดยมีจอภาพ และเครื่องพิมพ์ในการแสดงผล

            ในยุคนี้ เราจะแยกวิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต เป็น ๒ ส่วน คือ วิวัฒนาการทางส่วนประกอบของเครื่อง หรือฮาร์ดแวร์ (hardware) และวิวัฒนาการทางส่วนระบบสั่งงานของเครื่อง หรือซอฟต์แวร์ (software)

วิวัฒนาการทางฮาร์ดแวร์

            ไมโครโพรเซสเซอร์อันแรก ที่ได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างไมโครคอมพิวเตอร์คือ รุ่น ๘๐๘๐ ซึ่งผลิตขึ้นในต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยบริษัทอินเทล ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้มีขนาดของข้อมูล ๘ บิต สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้ถึง ๖,๐๐๐ ตัว ใช้ความถี่ของสัญญาณนาฬิกาได้ถึง ๒ ล้านครั้งต่อวินาที และสามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๖๔,๐๐๐ คำสั่งต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรก อินเทล ๔๐๐๔ ถึง ๑๐ เท่า และสามารถมีขนาดของชุดคำสั่งและข้อมูลได้ถึง ๖๕,๐๐๐ ตำแหน่ง ซึ่ง ณ จุดนี้ ไมโครโพรเซสเซอร์ก็มีสมรรถภาพพอ ที่จะใช้ชุดคำสั่งขนาดใหญ่ๆ ได้ และสามารถประมวลข้อมูล ประเภทตัวอักษรได้อย่างสะดวก จึงทำให้ไมโครโพรเซสเซอร์สามารถพัฒนาได้ถึงระดับ ที่มีสมรรถภาพเพียงพอ ที่จะใช้สร้างไมโครคอมพิวเตอร์ได้

            ช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ภายในไม่กี่เดือนหลังจากไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๐ ถูกผลิตออกมา ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นเครื่องแรก คือ อัลแทร์ ๘๘๐๐ (Altair 8800) ก็ได้ถูกผลิตออกมา ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ และใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคนี้ มีดังต่อไปนี้

อันแทร์ ๘๘๐๐ (Altair 8800) (พ.ศ. ๒๕๑๗)


เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์อัลแทร์ ๘๘๐๐


            บริษัทเอ็มไอทีเอส (MITS,Model Instrumentation Telemetry Systems) ได้พัฒนาเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ อันแทร์ ๘๘๐๐ ขี้นมา และนำออกจำหน่ายในราคาประมาณ ๔๐๐ เหรียญสหรัฐ โดยใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทล รุ่น ๘๐๘๐ แต่อัลแทร์ ๘๘๐๐ เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความสมบูรณ์น้อยมาก เพราะจะต้องประกอบเครื่องเองจากอุปกรณ์ชิ้นส่วน และไม่มีแป้นพิมพ์ เพื่อรับข้อมูล หรือจอภาพแสดงผล การป้อนข้อมูลจะต้องใช้สวิตช์เปิดหรือปิด เพื่อที่จะใส่ข้อมูลทุกบิต แต่ไม่มีโปรแกรมให้มาด้วย รวมทั้งไม่สามารถจะบันทึกข้อมูล เพื่อที่จะเรียกใช้ในภายหลังได้ง่าย ในระยะแรก บริษัทคาดว่า จะสามารถจำหน่ายเครื่องอัลแทร์ได้อย่างมาก ปีละ ๘๐๐ เครื่อง แต่หลังจากได้เริ่มจำหน่ายภายในไม่กี่เดือน บริษัทก็สามารถจำหน่ายได้ถึงวันละ ๒๕๐ เครื่อง ซึ่งถือว่า ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายเป็นอย่างมาก ต่อมาภายหลัง อุปกรณ์เสริม เช่น แป้นพิมพ์ เทปบันทึกข้อมูล และหน่วยความจำเพิ่มขึ้น ก็เริ่มถูกผลิตออกมาจำหน่าย

            ซอฟต์แวร์ที่สำคัญ และมีส่วนทำให้ผู้ใช้ สามารถสั่งงานเครื่องอัลแทร์ ๘๘๐๐ ได้ ก็คือ โปรแกรมภาษาเบสิก ซึ่งนายบิล เกตส์ (William Gates, ค.ศ. ๑๙๕๕ -, ชาวอเมริกัน) และนายพอล อัลเลน (Paul Allen, ค.ศ. ๑๙๕๓-, ชาวอเมริกัน) ได้เป็นผู้เขียน และออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ต่อมา ทั้งสองคนได้ร่วมกันเปิดบริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft Corporation) ขึ้นมา ปัจจุบัน บริษัท ไมโครซอฟต์นับได้ว่า เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

            เมื่อเครื่องอัลแทร์ ๘๘๐๐ ได้ออกวางตลาด และประสบความสำเร็จ บริษัทอื่นๆ ก็ได้เริ่มผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ออกจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐ อาทิเช่น บริษัทคอมโมดอร์ (Commodor) ที่ผลิตเครื่องคอมโมดอร์ ๒๐๐๑ บริษัทเรดิโอแช็ก (Radio ShacK Corporation) ที่ผลิตเครื่องทีอาร์เอส-๘๐ (TRS-80) และบริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ (Apple Computer Corpora- tion) ที่ได้ผลิตเครื่องแอปเปิล II (Apple II) ใน คอมพิวเตอร์กลุ่มดังกล่าว เครื่องแอปเปิล II ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด

แอปเปิล II (Apple II) (พ.ศ. ๒๕๑๙)


เครื่องแอปเปิล II

            บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ผลิตเครื่องแอปเปิล II แบบสำเร็จรูปออกมา โดยมีทั้งแป้นพิมพ์ และสามารถใช้จอภาพสีได้ทันที โดยผู้ใช้ไม่ต้องประกอบเครื่องด้วยตัวเอง เหมือนเครื่องอัลแทร์ ๘๘๐๐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ซื้อเครื่องแล้ว สามารถใช้ได้ทันที

            เครื่องแอปเปิล II ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๕๐๒ ของบริษัทมอส เทคโนโลยี (MOS Technology) สาเหตุที่เลือกใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ เนื่องจากรุ่นนี้มีราคาถูกกว่า ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทลมาก โดยสามารถซื้อได้ในราคา ๒๐ เหรียญสหรัฐ ต่อชิ้น ในขณะที่ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทอิทเทลรุ่น ๘๐๘๐ ซึ่งได้ออกจำหน่าย ในราคามากกว่า ๑๕๐ เหรียญสหรัฐ ต่อชิ้น

            เครื่องแอปเปิล II ได้เริ่มออกจำหน่ายใน ราคา ๑,๒๙๘ เหรียญสหรัฐ และมีหน่วยความจำแบบชั่วคราว ขนาดสามารถเก็บตัวอักษรได้ ๔,๐๙๖ ตัว เท่านั้น และใช้เทปคาสเซตต์ในการเก็บข้อมูล อีก ๑ ปีต่อมา หน่วยความจำได้ถูกเพิ่มตัว อักษรเป็นขนาด ๔๘,๐๐๐ ตัว เมื่อได้ผลิตรุ่น แอปเปิล II+ ออกมา การเรียกข้อมูลโดยใช้เทป คาสเซตต์ค่อนข้างล่าช้าและไม่สะดวกต่อการใช้ ดังนั้น เมื่อมีการผลิตเครื่องเก็บข้อมูลแบบฟล็อปปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้ใช้ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้เครื่องนี้ แทนเทปคาสเซตต์ เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ รุ่นแอปเปิล II นับได้ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเพิ่งถูกเลิกผลิตในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในช่วง ๑๗ ปีที่ถูกผลิตขึ้น เครื่องแอปเปิล II สามารถจำหน่ายได้ถึง ๕ ล้านเครื่อง

วิวัฒนาการทางซอฟต์แวร์

            ยุคนี้ (พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๓) ในช่วงแรกๆ ไมโครคอมพิวเตอร์มีหลากหลายชนิดมาก โดยแต่ละเครื่อง จะใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ต่างชนิด เช่น รุ่น ๘๐๘๐ ของบริษัทอินเทล รุ่น ๖๕๐๒ ของบริษัทมอสเทคโนโลยี หรือรุ่น ๖๘๐๐ ของบริษัทโมโตโรล่า (Motorola Corporation) แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ไมโครโปรเซสเซอร์นานาชนิดคือ การมีชุดคำสั่งที่ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ จึงทำให้โปรแกรมไม่สามารถใช้กันได้ แม้กระทั่งการย้ายข้อมูลข้ามเครื่องก็ยังมีปัญหา เนื่องจากเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของแต่ละบริษัท ใช้วิทยาการต่างชนิดในการเก็บข้อมูล เช่น เทปคาสเซ็ตต์ หรือแผ่นฟล็อปปี และมีวิธีการแตกต่างกันในการจัดเก็บข้อมูล

            ชุดคำสั่งควบคุมระบบที่ใช้กันแพร่หลายในยุคนี้คือ ซีพีเอ็ม (CPM - Control Program for Microcomputer) ระบบซีพีเอ็มสามารถใช้ได้กับไมโครโพรเซสเซอร์ ที่มีชุดคำสั่งของบริษัทอินเทล ตระกูล ๘๐๘๐ เช่น รุ่น ๘๐๘๐, ๘๐๘๕ ของบริษัทอินเทล หรือ Z 80 ของบริษัทไซล็อก (Zilog Corporation) ชุดคำสั่งควบคุมระบบซีพีเอ็มได้รับความนิยมสูงมาก จนกระทั่งได้มีอุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องแอปเปิล II เพื่อที่จะทำให้สามารถใช้ชุดคำสั่งควบคุมระบบซีพีเอ็มได้ ในยุคนั้น มีไมโครคอมพิวเตอร์เกิน ๑๐๐ ชนิด ที่สามารถใช้ชุดคำสั่งควบคุมระบบซีพีเอ็มได้

            ในยุคนั้น ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียงพิมพ์ (word processing) บริหารฐานข้อมูล (database management) งานบัญชี และเล่นเกม โปรแกรมที่ได้รับความนิยม สำหรับใช้ในการเรียงพิมพ์ ได้แก่ โปรแกรม เวิร์ดสตาร์ (WordStar) และโปรแกรมที่ได้รับความนิยม สำหรับประมวลข้อมูล ได้แก่ โปรแกรม ดีเบส (Dbase) แต่โปรแกรมประเภทนี้ ก็มีใช้อยู่ในคอมพิวเตอร์รุ่นที่ใหญ่กว่า เช่น ในมินิคอมพิวเตอร์ หรือเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีกลเม็ดมากกว่า และรวดเร็วกว่า จึงทำให้บริษัท และธุรกิจขนาดกลาง ยังไม่ค่อยมีความสนใจ ที่จะใช้ไมโครคอมพิวเตอร์มากนัก

            โปรแกรมที่ทำให้บริษัท และธุรกิจ เริ่มหันมาใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ คือ โปรแกรมวิสิเคาก์ (Visicalc) ซึ่งนายแดน บริกลิน (Dan Bincklin, พ.ศ. ๒๔๙๕-, ชาวอเมริกัน) เป็นผู้คิดค้นขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยเขาเล็งเห็นว่า จะมีประโยชน์มาก ถ้าเขาเขียนโปรแกรม ที่สามารถนำมาใช้ในทางธุรกิจได้อย่างอเนกประสงค์ โดยผู้ใช้จะต้องให้โครงสร้างของปัญหา หลังจากนั้นผู้ใช้สามารถป้อนข้อมูลในหลายๆ สถานการณ์ และสามารถดูผลวิเคราะห์ได้อย่างทันที วิธีการเช่นนี้ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจปัญหาได้ดียิ่งขึ้น สะดวก และง่ายดาย จึงสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โปรแกรมประเภทนี้ เรียกว่า โปรแกรมสเปรดชีต (spread sheet) ซึ่งจะมีประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และทำรายงาน โปรแกรมนี้ได้เริ่มต้นใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์ของแอปเปิล II ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไมโครคอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมที่ยอดเยี่ยม และยังไม่มีใช้บนเครื่องเมนเฟรม และมินิคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้ที่ทำงานบริษัท หรือธุรกิจขนาดกลาง มองเห็นประโยชน์ของโปรแกรมนี้ จึงได้เริ่มนำไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้ในบริษัท โปรแกรมนี้จึงมีส่วนสำคัญมาก ในการทำให้เครื่องแอปเปิล II จำหน่ายได้ดีมาก