การฟื้นฟูบูรณะความเสียหาย
มีการฟื้นฟูบูรณะความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ การฟื้นฟูบูรณะชายหาด ให้กลับคืนสภาพปกติดังเดิม มีการจัดระเบียบชายหาด เพื่อมิให้มีการปลูกสร้างอาคาร และสิ่งก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ การดูแลให้มีการก่อสร้างที่มั่นคงแข็งแรง มีเส้นทางหนีภัยคลื่นสึนามิได้ รวมทั้งมีการสร้างซ่อมสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ใช้การได้ดีดังเดิม เช่น การสร้าง ซ่อมถนนและทางเดินเลียบชายหาด การสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล การสร้างท่าเทียบเรือ

สภาพของรีสอร์ตบนเกาะพีพี จังหวัดกระบี่
ที่ถูกคลื่นสึนามิทำลาย
การดำเนินงานที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในด้านการฟื้นฟูบูรณะ คือ การสำรวจความเสียหาย ของแนวปะการังใต้น้ำ และการทำความสะอาดสร้างซ่อมแนวปะการังที่ได้รับความเสียหาย เป็นที่ทราบกันดีว่าชายฝั่งภาคใต้ของไทยนั้นมีแนวปะการังใต้น้ำที่งดงามมาก เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจผู้คนจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมชม ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีค่าอย่างหนึ่งของประเทศ ดังนั้นการฟื้นฟูบูรณะปะการังใต้น้ำจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนนักดำน้ำอาสาสมัคร ร่วมมือกันปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ รวมทั้งสิ้นเกือบ ๓๐๐ คน ทำการสำรวจพื้นที่ซึ่งเป็นแนวปะการังใน ๖ จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งสิ้น ๓๒๔ จุด เพื่อนำข้อมูลมาประมวล เป็นแนวทาง ในการฟื้นฟูบูรณะปะการังใต้น้ำต่อไป ผลการสำรวจพบว่า มีแนวปะการัง ที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิในครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๓ ของจุดสำรวจทั้งหมด แยกเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากร้อยละ ๑๓.๒ ได้รับความเสียหายปานกลางร้อยละ ๙.๒ และได้รับความเสียหายน้อยร้อยละ ๓๗.๙ จุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สำคัญ คือ บริเวณชายฝั่งเขาหลัก ที่แหลมปะการังหรือแหลมหัวกรังใหญ่ และที่หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน ในจังหวัดพังงา เกาะกำใหญ่ และเกาะกำนุ้ย ในจังหวัดระนอง เกาะพีพีดอนและเกาะพีพีเล ในจังหวัดกระบี่

การฟื้นฟูสภาพชายหาดที่เสียหาย
จากการเกิดคลื่นสึนามิ
เมื่อทราบจุดความเสียหายของปะการังใต้น้ำแล้ว ในขั้นต่อมาคือ การดำเนินงาน เพื่อการฟื้นฟูบูรณะ โดยเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัครจากหน่วยงานเอกชน รวมกันเป็นจำนวนหลายร้อยคน เก็บขยะ ที่ทับถมกันอยู่บนแนวปะการังใต้น้ำ บางแห่งลึกถึง ๒๐ - ๓๐ เมตร เก็บขยะเป็นจำนวนมาก ได้ถึง ๑๐๐ ตันเศษ มีขยะทุกประเภทตั้งแต่เครื่องเรือนและของใช้ในบ้าน เศษปรักหักพัง จากสิ่งก่อสร้าง ซากเรือประมงที่ถูกคลื่นพัดพาลงสู่ก้นทะเล นอกจากการเก็บขยะแล้ว มีการพลิกปะการังที่ล้มคว่ำ การปักกิ่งปะการังเขากวาง เพื่อมิให้ถูกทรายกลบ และล่อตัวอ่อนปะการังให้มาเกาะใหม่
งานด้านการฟื้นฟูบูรณะทางธรรมชาติที่สำคัญอย่างอื่นๆ ได้แก่ การฟื้นฟูบูรณะป่าชายเลน ที่ได้รับความเสียหาย การปลูกหญ้าทะเล และการดูแลความเรียบร้อย ของอุทยานแห่งชาติทางทะเลต่างๆ ซึ่งเป็นงาน ที่ต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงจะสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติดังเดิมได้