เล่มที่ 25
อินเทอร์เน็ต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต

บริการบนอินเทอร์เน็ต

            การใช้หลักการแบบไคแอนต์-เซิร์ฟเวอร์ ทำให้อินเทอร์เน็ต มีการให้บริการต่างๆ มากมาย ผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้บริการเหล่านี้ จากระยะไกลได้ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครือข่าย ที่ไม่ขึ้นกับระยะทาง แม้ว่าผู้ใช้บริการจะอยู่คนละซีกโลก ก็เหมือนอยู่ใกล้กัน และมีระบบการทำงานเป็นแบบโลกาภิวัฒน์ คือ สามารถติดต่อถึงกันได้ทั่วโลก

            การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันมากในขณะนี้ประกอบด้วย

การบริการอิเล็กทรอนิกส์เมล์

            ผู้ใช้แต่ละคนที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ต จะได้รับบัญชีรายชื่อของตนเอง และมีที่เก็บอิเล็กทรอนิกส์เมล์ไว้ที่เครื่องบริการ เครื่องบริการจะเปิดตู้จดหมายให้ผู้ใช้บริการที่เรียกว่า เมล์บ็อกซ์ เมื่อมีผู้ส่งจดหมายมา จดหมายจะถูกเก็บไว้ที่สถานีบริการที่ผู้ใช้มีเมล์บ็อกซ์อยู่ เมล์บ็อกซ์นี้จะเก็บจดหมายเอาไว้ รอจนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของเมล์บ็อกซ์มาขอให้บริการเซิร์ฟเวอร์ และเปิดตู้จดหมายหรือเมล์บ็อกซ์ เพื่อนำจดหมายออกไปอ่าน ในทำนองเดียวกัน ถ้าต้องการส่งจดหมาย ก็เขียนจดหมาย แล้วฝากสถานีนำส่งให้ สถานีบริการก็จะหาเส้นทางและส่งไปจนถึงปลายทางและไปเก็บไว้ในตู้จดหมายของผู้รับปลายทาง การรับส่งจดหมายจะกระทำอย่างอัตโนมัติบนเครือข่าย และกระทำอย่างรวดเร็ว

การบริการโอนย้ายแฟ้มข้อมูล

            การบริการโอนย้ายแฟ้มข้อมูลเรียกว่า FTP คำว่า FTP มาจากคำว่า File Transfer Protocol การให้บริการนี้หมายถึง สถานีบริการ FTP อาจเป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ที่มีการนำข้อมูลมาเก็บไว้ ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นเอกสาร หรือแฟ้มข้อมูลอื่นใดก็ได้ สถานีบริการนี้จะดูแลแฟ้ม และให้บริการผู้เรียกใช้ ผู้เรียกใช้จากที่ห่างไกลบนเครือข่ายสามารถติดต่อเข้าไป เพื่อขอคัดลอกแฟ้มที่ต้องการมาใช้งานได้

            การโอนย้ายข้อมูลด้วย FTP นี้ ยังสามารถนำข้อมูลของผู้ใช้ที่มีอยู่โอนย้ายไปให้ผู้อื่น หรือนำไปไว้ในเครื่องบริการ ที่ต่ออยู่บนอินเทอร์เน็ตที่อื่น ซึ่งผู้ใช้มีสิทธิในการใช้

การให้บริการข่าว

            ข่าวในความหมายนี้คือ การสร้างกระดานข่าวไว้ในสถานีบริการ โดยให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้ามาเปิดดูข่าวสารได้ กลุ่มข่าวนี้เป็นเหมือนกระดานที่ใครมีข่าวก็นำมาติดไว้ โดยมีการแยกข่าวออกเป็นกลุ่มต่างๆ ปัจจุบันมีกลุ่มข่าวประมาณ ๑๐,๐๐๐ กลุ่ม เช่น กลุ่มข่าวเกี่ยวกับคนไทย และเมืองไทย (soc.culture.thai) ใครมีข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยก็นำมาติดไว้บนกระดานนี้ได้ ส่วนของสถานีบริการข่าวที่มีทั่วโลก ก็จะกระจายข่าวถึงกันเองอย่างอัตโนมัติ เช่น ที่องค์กรของเรา มีสถานีบริการข่าวนี้ สมาชิกองค์กรอ่านข่าวได้ โดยการขอให้บริการจากเครื่องนี้ แต่เมื่อมีการเสนอข่าวลงบนกระดานข่าว เราก็กระจายข่าวที่บรรจุใหม่จากเซิร์ฟเวอร์ต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ทั่วโลก การให้บริการข่าวนี้เชื่อมโยงกันทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อมีใครเสนอข่าวในเครือข่าย ข่าวนั้นจะกระจายออกไปทั่วทุกสถานีบริการข่าวบนอินเทอร์เน็ต เซิร์ฟเวอร์ทุกตัวบนอินเทอร์เน็ตจะรับส่งข่าวสารกันเองอย่างอัตโนมัติ
หน้าจอแสดงการให้บริการข่าว

บราวเซอร์ : Microsoft Internet Explorer
บราวเซอร์ : Netscape Communicator

สถานีบริการ IRC

            IRC มาจากคำว่า Internet Relay Chat คือ สถานีบริการเพื่อเชื่อมโยงผู้ใช้บริการจำนวนมากให้เข้ามาพูดคุย หรือถกปัญหาพร้อมกันได้หลายคน สถานีบริการ IRC ทำให้ผู้ใช้ที่อยู่ห่างไกลกัน สามารถทำงาน เสมือนนั่งประชุมอยู่บนโต๊ะกลมตัวเดียวกัน การพูดคุยสนทนาในกลุ่มมีลักษณะเป็นการป้อนข้อความ ข้อความที่ป้อน จะไปปรากฏบนหน้าจอของผู้ใช้บริการทุกคน ที่อยู่ในวงสนทนาเดียวกัน

WAIS - Wide Area Information Service

            บริษัทชั้นนำทางคอมพิวเตอร์หลายบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาระบบ WAIS และนำออกมาใช้ประโยชน์บนอินเทอร์เน็ต ลักษณะของ WAIS เป็นการรวมศูนย์ข้อมูลที่อยู่บนเครือข่ายจำนวนมากเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากว่า บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีฐานข้อมูลหลายแห่งกระจัดกระจาย หากผู้ค้นข้อมูลต้องแยกค้นไปยังฐานข้อมูลต่างๆ จะทำให้ไม่สะดวก การดำเนินการของ WAIS จึงเป็นการทำให้ผู้ใช้เห็นฐานข้อมูลแห่งเดียว และเมื่อต้องการได้ข้อมูลที่ใด ก็จะเข้าไปค้นยังฐานข้อมูลนี้โดยอัตโนมัติ การใช้งาน WAIS บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องที่สะดวก ปัจจุบันมี WAIS ให้เรียกค้นหลายที่ เช่น บนเครื่อง think.com นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาให้เรียกค้นด้วยระบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสได้หลายแบบตามลักษณะเครื่องไคลแอนต์ของผู้ใช้งานซึ่งกำลังใช้งานอยู่

อาร์ชี (Archie)

            ปัญหาในเรื่องของการเก็บแฟ้มข้อมูลไว้บนเครื่องต่างๆ ที่อยู่บนเครื่องข่ายอินเทอร์เน็ตมีเป็นจำนวนมากคือ ผู้ใช้ไม่สามารถเรียกค้นข้อมูลได้ว่า อยู่ที่เครื่องใดบ้าง อาร์ชีเป็นระบบที่พัฒนาขึ้น โดยสร้างระบบการเรียกค้นข้อมูล ได้ทั้งแบบออฟไลน์ และแบบออนไลน์ โดยเน้นการค้นหาฐานข้อมูล ที่จะให้เข้าไปคัดลอกด้วย FTP ได้ สถาปัตยกรรมของอาร์ชีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แสดงให้เห็นดังรูป

            ผู้ใช้จะใช้อาร์ชีเป็นเครื่องไคลแอนต์ เรียกเข้าไปยังเครื่องบริการอาร์ชี เพื่อค้นหาข้อมูลที่ตนเองต้องการว่า เก็บไว้ที่สถานที่ใด โดยปกติการเก็บข้อมูลจะกระจัดกระจาย แต่รวบรวมชื่อไฟล์และสถานที่เก็บไว้ จึงทำให้ผู้ใช้เรียกค้นได้ เสมือนเป็นการเปิดไดเร็กทอรีดูก่อนว่า ข้อมูลที่ต้องการอยู่ที่ใด จากนั้นจึงเรียกค้นไปยังสถานที่ที่ต้องการ เพื่อทำการคัดลอกด้วย FTP ต่อไป

โกเฟอร์ (Gopher)

            โกเฟอร์เป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลเป็นลำดับขั้น ตามเมนูที่กำหนด ฐานข้อมูลที่จะเรียกค้น เป็นฐานข้อมูลแบบกระจายที่เชื่อมต่อกัน การเรียกจากเมนู ทำให้การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นลำดับ ฐานข้อมูลแต่ละเครื่องบนเครือข่ายจะเชื่อมต่อเข้าหากัน เช่น ถ้าจะเรียกข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ก็เชื่อมต่อมาที่เครื่องหลักเครื่องใดเครื่องหนึ่งในประเทศ จากนั้นจะกระจายไปยังฐานข้อมูล และคิดว่า ข้อมูลของตน จะเป็นประโยชน์ ก็สามารถสร้างระบบเชื่อมโยงเข้าสู่โกเฟอร์ เพื่อให้ผู้อื่นเรียกใช้ได้

            ระบบโกเฟอร์มีจุดอ่อนที่เป็นการเรียกค้นข้อมูลแบบเอกสาร จึงทำให้ความนิยมลดลงไปมาก ทั้งนี้เพราะระบบบริการข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ สามารถให้บริการได้ทั้งรูปภาพ เสียง และภาคเคลื่อนไหวที่ดีกว่า

ระบบข่าวสารเวิลด์ไวด์เว็บ (WWW)

            ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข่าวสารแบบไฮเปอร์เทกซ์บนเครือข่าย ส่วนของไฮเปอร์เทกซ์เป็นเอกสาร ที่เชื่อมโยงกันได้ทั่วทั้งเครือข่าย จึงเรียกระบบสารเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารนี้ว่า WWW (World Wide Web) ระบบข่าวสาร WWW เป็นระบบข่าวสารที่มีประโยชน์มาก มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง และเป็นที่นิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

            หากย้อนกลับไปในอดีต ความคิดในเรื่องไฮเปอร์เท็กซ์มีมานานแล้ว โดยเฉพาะในสมัยที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ สร้างเครื่องแมคอินทอช และระบบกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟส (GUI) บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้สร้างรูปแบบของการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์ไว้ ระบบการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์ จึงเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้ใช้เครื่องแอปเปิลแมคอินทอช

            เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลาย ความคิดในการทำไฮเปอร์เท็กซ์มาประยุกต์บนเครือข่าย ก็เริ่มเป็นรูปร่าง โดยมีการพัฒนากลไกขึ้นมา ๓ ส่วน ส่วนแรกคือ ตัวเนื้อหา หรือข้อมูล ซึ่งก็คือ ตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่รวมรูปภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวไว้ หรือมีลักษณะเป็นแบบมัลติมีเดีย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์นี้มีลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเน้นการผลิตตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่แยกออกไป การจัดรูปแบบหนังสือใช้มาตรฐาน HTML ส่วนที่สองคือ ส่วนจัดการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงบนเครือข่าย ซึ่งได้มีการกำหนดโปรโตคอลพิเศษ สำหรับการเชื่อมโยงบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เรียกว่า โปรโตคอล http (hypertext transfer protocol) โปรโตคอลนี้มีลักษณะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่สามคือ เครื่องเปิดอ่านหนังสือ หรือที่เรียกว่า บราวเซอร์ (browser) เครื่องเปิดอ่านหนังสือจะเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายตามโปตโตคอลที่กำหนด และเชื่อมโยงเพื่อนำข้อมูลหนังสือ (ไฮเปอร์เท็กซ์) มาแสดงผลบราวเซอร์สามารถแสดงผลแบบมัลติมีเดียได้ เมื่อรวมทั้ง ๓ ส่วนนี้เข้าด้วยกัน จึงกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากมาย เราเรียกระบบข่าวสารที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายว่า เวิลด์ไวด์เว็บ (WWW)

            HTML เป็นคำย่อมาจาก HyperText Markup Language เป็นมาตรฐานสำหรับไฮเปอร์เท็กซ์ที่ใช้ใน www มาตรฐานนี้ทำให้ผู้สร้างไฮเปอร์เท็กซ์สามารถสร้างเองได้ง่าย โดยสร้างข้อมูลเป็นแฟ้มเอกสาร และใช้ตัวกำหนดเอกสารที่เรียกว่า แท็ก (tag) แท็กที่ใช้มีรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย การใส่แท็กก็เหมือนกับการกำหนดขนาดตัวอักษรในเวิร์ดโปรเซสเซอร์สมัยแรกๆ HTML เป็นมาตรฐานที่พัฒนากันขึ้นมาใช้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีผู้นิยมใช้กันมาก จนปัจจุบันโฮมเพจของแต่ละแห่ง ที่ปรากฏบน www เขียนโดยใช้มาตรฐาน HTML ข้อดีของ HTML คือ สามารถเชื่อมโยงข้อความ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเชื่อมโยงแฟ้มไฮเปอร์เท็กซ์จากที่ห่างไกลบนเครือข่ายได้อีกด้วย
ตัวอย่างหน้าจอแสดง HTML

            HTTP เป็นโปรโตคอลการเชื่อมโยงไฮเปอร์เท็กซ์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โปรโตคอลนี้ทำงานอยู่บน TCP/IP เพื่อเชื่อมต่อไปยังปลายทางที่ต้องการ การเชื่อมโยงเข้าหาเอกสารจะดำเนินการอย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะติดต่อกันระหว่างเครื่องและเครื่อง เพื่อรับส่งข้อมูล การรับส่งข้อมูลจะรับและส่งได้ทั้งแฟ้มที่เป็นข้อความ รูปภาพ หรือเสียง พื้นฐานการทำงานภายในโปรโตคอลนี้ยังคงใช้หลักการคัดลอกแฟ้มข้อมูล การโต้ตอบกันจะกระทำได้อย่างมีระบบ การเชื่อมต่อด้วยโปรโตคอลนี้จึงให้การเชื่อมโยงหรือเรียกเอกสารที่อยู่ห่างไกลเชื่อมโยงกันเสมือนเป็นเอกสารชิ้นเดียวกันได้ รูปแบบการใช้จึงต้องกำหนดตำแหน่งหลายทาง เช่น http://www.nectec.or.th

            บราวเซอร์ เป็นโปรแกรมที่ใช้อ่านข้อมูลไฮเปอร์เท็กซ์ตามมาตรฐาน HTML บราวเซอร์อ่านข้อมูลไฮเปอร์เท็กซ์ เพื่อแสดงผล ข้อมูลที่อ่านได้นำมารวมกันเสมือนเป็นเครื่องเปิดหนังสือ และนำแฟ้มต่างๆ มารวมกันเป็นภาพ ซึ่งมีทั้งแฟ้มรูปภาพ เสียง และวิดีโอ การรวมแฟ้มให้ปรากฏบนจอภาพ จึงได้ผลลัพธ์เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นวิธีการผลิต ที่ไม่ต้องใช้กระดาษ และสามารถผลิตได้ง่าย ผู้ออกแบบจึงต้องทำให้บราวเซอร์สามารถใช้งานได้ง่าย โดยเป็นโปรแกรมที่ประยุกต์ใช้กับการเรียกใช้เปิดอ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เมล์ ใช้สำหรับการคัดลอกข้อมูลแบบ FTP ใช้ในการอ่านข่าวยูสเน็ตนิวส์

ข่าวสารบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

            องค์กรแต่ละองค์กรมีสถานีบริการ สำหรับให้ข่าวสาร การเขียนข่าวสารเก็บไว้ในสถานีบริการ จึงแพร่ขยายเชื่อมโยงกันทั่วโลก ข้อมูลข่าวสารถูกเก็บอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า โฮมเพจ โฮมเพจจึงเป็นเสมือนบ้านในอินเทอร์เน็ต ที่เก็บข่าวสารเอาไว้ เพื่อให้บริการผู้เรียกใช้ ซึ่งเป็นผู้ใดก็ได้ ผู้เขียนโฮมเพจของแต่ละหน่วยงาน มักเขียนให้มีการเชื่อมโยงไปยังที่อื่น เพื่อโยงเอกสารข้อมูลต่างๆ ออกไป เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้กระจายออกไปได้ โดยไม่รู้จบ การเชื่อมโยงเหล่านี้ จึงเป็นเสมือนเส้นทางที่สลับซับซ้อนกระจายออกไปได้มาก เช่น จากโฮมเพจ www.nectec.or.th มีจุดเชื่อมโยงไปยังที่ต่างๆ อีกมากมาย

            ด้วยวิธีการเชื่อมโยงบน www จึงเป็นหนทาง ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เสมือนแหล่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายทั้งหมด เป็นของผู้ใช้ ที่จะเรียกค้นดูได้

โฮมเพจเป็นเสมือนตัวแทนของบริการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

การค้นข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

            เนื่องจากมีแหล่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงบนเครือข่าย www อยู่มากมาย จนยากที่จะหาสิ่งที่ต้องการได้ว่า อยู่ในโฮมเพจใด จึงต้องใช้เครื่องมือช่วยค้น เครื่องมือช่วยค้นเป็นซอฟต์แวร์ ที่ให้บริการบนสถานีบริการต่างๆ เช่น สถานีบริการ www.bdg.co.th สามารถให้ผู้ใช้ใส่คำสำคัญ ที่ต้องการค้นหา หรือค้นหาตามรายการ ที่กำหนดให้ เครื่องมือช่วยค้นหามีหลายแห่ง

            การสร้างห้องสมุดเทียมบนเครือข่าย ทำให้สามารถเรียกค้นข้อมูลได้ง่าย และช่วยในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้มาก

ตัวอย่างหน้าจอแสดงเว็บไซต์ของ Search Engine