งานศิลปาชีพภายหลังการจัดตั้งเป็นมูลนิธิ
กิจการด้านการส่งเสริมอาชีพศิลปหัตถกรรมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงอำนวยการอยู่ ได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ต้องทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์ เพื่อโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก ข้าราชบริพารและผู้มีจิตศรัทธา จึงได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่ง ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงใช้จ่ายในกิจการนี้ และกราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชทานชื่อว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” และทรงเป็นประธานกรรมการบริหาร ของมูลนิธิฯ ด้วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้เปลี่ยนชื่อของมูลนิธิฯ เป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ซึ่งใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ งานศิลปาชีพภายหลังการจัดตั้งเป็นมูลนิธิ

ผลิตภัณฑ์จากกระจูด
หลังจากการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเป็นทางการ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ได้เกิดโครงการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยใน พ.ศ. ๒๕๑๙ มีโครงการทอผ้าฝ้าย ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการสานเสื่อกระจูดที่ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โครงการทอผ้าไหม ที่อำเภอตาพระยาและอำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดสระแก้ว) ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ มีโครงการทอผ้าไหมแพรวา ที่ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอีกหลายอย่างเช่น การทำเครื่องประดับเงินของชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ การจักสานไม้ไผ่ลายขิด ซึ่งเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคอีสาน รวมทั้งการอนุรักษ์งานฝีมือโบราณอีกหลายชนิด ที่แทบจะหาครูผู้ถ่ายทอดวิชาไม่ได้อีกแล้ว เช่น การถมทอง การทำคร่ำ การทอจก การปักซอยแบบไทย การแกะสลักไม้และการแกะสลักหนังตะลุง ตลอดจนการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมแบบใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การตกแต่งหัตถกรรมต่างๆ ด้วยปีกแมลงทับ ส่งผลให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กลายเป็นศูนย์รวมที่สำคัญของบรรดาครูผู้มีฝีมือทางหัตถกรรมทั้งหลาย