เล่มที่ 29
ศิลปาชีพ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพที่สำคัญ

            ผลิตภัณฑ์ศิลาปาชีพเกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมไทยหลายประเภท ในที่นี้จะได้นำเฉพาะที่สำคัญๆ มากล่าวไว้โดยสังเขป รวม ๑๕ ประเภท คือ

๑.งานถม


ผลิตภัณฑ์เครื่องถม

            งานถม คือ การทำลวดลายลงบนผิวภาชนะ ซึ่งเป็นเงินหรือทองให้เด่นขึ้น ด้วยการถมโลหะสีดำลงในช่องว่างให้เต็ม มีหลักฐานว่า ไทยมีเครื่องถมใช้กันแล้ว ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) แต่เครื่องถมของไทยจะได้รับอิทธิพลมาจากที่ใด ยังไม่อาจหาข้อยุติได้ หากพิจารณาจากรูปลักษณะแล้ว เครื่องถมของไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องถมของเปอร์เซียและอินเดีย จึงอาจสันนิษฐานว่า มาจากแหล่งความรู้เดียวกัน แต่ได้ดัดแปลงให้แปลกออกไปตามความนิยมของแต่ละชาติ

            การทำเครื่องถมจะทำได้เฉพาะกับเงินหรือทองเท่านั้น โลหะอย่างอื่น เช่น ทองแดงนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากถมไม่ติด เว้นแต่จะนำไปชุบทองหรือเงินเสียก่อน ซึ่งถ้าใช้ไปนานๆ ทองหรือเงินที่ชุบไว้ก็จะหลุดออกหมด จึงไม่เป็นที่นิยมกัน

๒. งานคร่ำ


ผลิตภัณฑ์คร่ำ


            งานคร่ำ คือ การฝังเส้นทอง หรือเส้นเงินเล็กๆ ที่บางราวกับเส้นผม ลงบนผิวหน้าของเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก โดยจะต้องทำให้ผิวเหล็กเกิดเป็นรอยที่ละเอียด ด้วยการใช้เหล็กสกัดที่คมบางแต่แข็งแกร่ง ตีสับลายตัดกันไปมาบนผิวโลหะ ให้เกิดความขรุขระ จากนั้นจึงใช้เส้นทองหรือเส้นเงิน ตอกให้ติดเป็นลวดลายวิจิตรงดงามตามที่ต้องการ เครื่องเหล็กซึ่งนิยมทำคร่ำเงินหรือคร่ำทอง มักเป็นเครื่องราชศัสตราวุธ เช่น พระแสงดาบ พระแสงหอก ขอพระคชาธาร ตลอดจนเครื่องใช้มงคลต่างๆ ที่ทำด้วยเหล็ก

            ประวัติการทำคร่ำ สันนิษฐานว่า มีกำเนิดที่ประเทศเปอร์เซีย แล้วแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศจีน เขมร ลาว และภาคใต้ของไทย เช่น เมืองปัตตานี แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยใด จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุนสารพัดช่าง ข้าราชการกรมวังนอก ได้เรียนศิลปะนี้จากครูชาวเขมรที่เข้ามาสอนในประเทศไทย แล้วนายสมาน ไชยสุกุมาร ผู้เป็นบุตรของขุนสารพัดช่างได้สืบทอดศิลปะนี้ต่อมา แต่ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนอาจกล่าวได้ว่า ศิลปะนี้เกือบจะสูญหายไป สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นคุณค่าของศิลปะนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายสมานมาสอนวิชาการทำคร่ำแก่นักเรียนศิลปาชีพ ปัจจุบันได้มีการทดลองทำคร่ำบนโลหะทองคำขาวเป็นผลสำเร็จ ทำให้เกิดความก้าวหน้าในศิลปะประเภทนี้

๓. งานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ


ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพที่ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ

            แมลงทับเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตสั้นเมื่อถึงฤดูก็จะตายเองตามธรรมชาติ โดยตกอยู่ตามโคนไม้ ที่เป็นอาหารของมัน เช่น ต้นมะขามเทศ ปีกของมันมีสีเขียวเหลือบฟ้าหรือสีทองแดงเหลือบเหลือง ในสมัยโบราณเคยมีการนำมาปักลงบนผ้าสไบ ทำให้มีสีสันงดงามมาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริให้นำปีกแมลงทับมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับชนิดต่างๆ ต่อมาได้ทดลองนำปีกแมลงทับมาตกแต่งนกที่แกะสลักจากไม้ โดยตัดปีกแมลงทับเป็นเส้นเล็กๆ อย่างขนนก แล้วติดจนทั่วตัวนกเกิดเป็นงานศิลปะที่งดงามขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากนั้นทรงพระราชดำริให้ตัดปีกแมลงทับเป็นเส้นเล็กลงไปอีก แล้วสอดสลับลายกับย่านลิเภา นับเป็นงานประณีตศิลป์สำคัญที่ยังไม่เคยมีผู้ใดคิดประดิษฐ์มาก่อน

๔. งานเครื่องเงินและเครื่องทอง



การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทอง

            คนไทยรู้จักวิธีการทำเครื่องเงินและเครื่องทองมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ทั้งที่เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ภาชนะใช้สอย และของที่ระลึก แต่การออกแบบรูปโลหะ การสลักลวดลาย การขัดเงา ตลอดจนการตกแต่งด้วยอัญมณี ต้องอาศัยงานฝีมือชั้นสูงและละเอียดประณีต ทำให้มีช่างผู้ชำนาญงานศิลปะประเภทนี้อยู่ไม่มากนัก มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงจัดให้มีการสอนศิลปะนี้ เพื่อให้มีการสืบทอดต่อไป พร้อมกันนั้นได้พัฒนารูปแบบ และวิธีการที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ และมีลักษณะโดดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

๕. งานทอผ้าจก


 งานทอผ้าจก

            ผ้าจกเป็นผ้าทอผืนแคบๆ ซึ่งอาจทอขึ้นจากฝ้ายหรือไหม หรือผสมผสานกันทั้งสองอย่างก็ได้ คำว่า “จก” มีความหมายว่า “ล้วง” หรือ “ควัก” ซึ่งอธิบายให้เห็นว่า การทอผ้าชนิดนี้จะต้องมีการทอและปักไปพร้อมๆ กัน ผ้าชนิดนี้นิยมใช้เป็นส่วนประกอบตกแต่งผ้าผืนใหญ่ โดยเฉพาะผ้าซิ่น ซึ่งเมื่อประกอบเชิงด้วยผ้าจกแล้ว ก็เรียกว่า ผ้าซิ่นตีนจก

            ศิลปะการทอผ้าจก สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายลาวพวน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย การทอผ้าจกมีกรรมวิธีที่สลับซับซ้อน ลวดลายของผ้าทั้งที่ทอและปักจะถูกสอยหรือดึงขึ้นมาด้วยขนเม่น เกิดเป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เดิมมักเป็นลายหน้ากระดาน หรือลายแถบคั่นเป็นชั้นๆ ต่อมาได้มีการดัดแปลงลวดลายและสีสัน ให้มีหลากหลายยิ่งขึ้น

๖. งานทอผ้าไหมแพรวา


งานทอผ้าไหมแพรวา

            งานทอผ้าไหมแพรวาเป็นศิลปหัตถกรรมของชาวผู้ไท จังหวัดกาฬสินธุ์ ลักษณะเป็นผ้าสไบ มีลวดลายและสีสันต่างๆ ผสมผสานกันอยู่บนพื้นสีแดงเข้ม การทอผ้าไหมแพรวาเป็นการทอผสมกับการปักไปพร้อมๆ กัน ใช้เส้นไหมละเอียดล้วน ส่วนที่เป็นลายใช้วิธีสะกิดเอาเส้นไหมสีต่างๆ ขึ้นมา เรียกกันว่า การยกขิด ซึ่งมาจากคำว่า “สะกิด” นั่นเอง

๗. งานทอผ้าไหมมัดหมี่


ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่


            การทอผ้าไหมมัดหมี่ทำกันมานานแล้วในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน วิธีการทำผ้าไหมมัดหมี่มีขั้นตอนต่างๆ คือ ขั้นตอนแรกต้องฟอกไหมให้สะอาด โดยนำลงแช่ในน้ำด่าง แล้วใส่หม้อต้ม จากนั้นจึงนำไปล้าง น้ำเย็น แล้วผึ่งแดดให้แห้งขั้นตอนที่สองคือ การนำเส้นไหมที่ฟอกสะอาดแล้วมาพันใส่หลักหมี่ แล้วเอาเชือกกล้วยหรือเชือกฟางมามัดเส้นไหมเป็นตอนๆ ตามแต่จะต้องการให้เป็นลวดลายเช่นใด จากนั้นจึงนำเส้นไหมที่มัดแล้วนี้ไปย้อมสี เพื่อให้เกิดลวดลาย และสีสัน ที่ต้องการปรากฏบนผืนผ้า เมื่อย้อมสีเสร็จแล้ว จึงแก้เชือกที่มัดอยู่ออก แล้วนำเส้นไหมมากรอเข้ากับหลอด โดยต้องระมัดระวังลำดับให้ถูกต้อง มิฉะนั้นผืนผ้าที่ทอออกมาจะไม่ได้ลวดลายตามที่ต้องการหรือไม่เรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำเส้นไหมที่ย้อมสีแล้วทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งมาทอเป็นผืน ก็จะเกิดเป็นผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายต่างๆ ตามที่ต้องการ เช่น ลายต้นไม้ ดอกไม้ และตัวอักษรต่างๆ

๘. งานจักสานย่านลิเภา

            เครื่องจักสานย่านลิเภามีมากในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพืชไม้เถาชนิดนี้ แต่มาเจริญรุ่งเรืองแถบเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมา ศิลปหัตถกรรมนี้ได้แพร่หลายเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตกแต่งกระเป๋าหมากย่านลิเภาด้วยโลหะหรือวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ นาก เงิน และงาช้าง หลังจากนั้นความนิยมเครื่องใช้ย่านลิเภาจึงได้ค่อยๆลดลง จนความรู้เกี่ยวกับงานจักสานย่านลิเภาเกือบจะสูญหายไป เพิ่งมาได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและ ได้กลายเป็นศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อมากอย่างหนึ่งในปัจจุบันนี้


ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา
๙. งานจักสานไม้ไผ่ลายขิด

            การจักสานไม้ไผ่ลายขิดเป็นศิลปหัตถกรรมของภาคอีสาน เดิมใช้สำหรับทำเป็นภาชนะต่างๆในครัวเรือน เช่น กระบุง ตะกร้า ซึ่งความต้องการของตลาดมีอยู่ในวงจำกัด และสินค้ายังจำหน่ายได้ในราคาค่อนข้างถูก ทั้งๆที่การจักสานไม้ไผ่ลายขิดทำได้ยากยิ่ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงได้พัฒนารูปแบบ ของผลิตภัณฑ์ให้สามารถจำหน่ายได้กว้างขวางยิ่งขึ้นและมีราคาสูงขึ้น เช่น ทำเป็นกระเป๋าถือ และแจกัน

            การจักสานไม้ไผ่ลายขิด ต้องอาศัยความประณีต ในการนำเส้นตอกจากไม้ไผ่เส้นเล็กละเอียด ที่ย้อมสีแล้ว นำมาสานเป็นลวดลายบนโครงไม้ไผ่ที่ขึ้นเป็นรูปร่างต่างๆ จากนั้นใช้หวายเส้นเล็กถักขอบให้แข็งแรง ทนทาน รวมทั้งใช้ทำหูเครื่องจักสานนั้นด้วย



ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ลายขิด

๑๐. งานแกะสลักไม้

            งานแกะสลักไม้มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ การแกะเป็นภาพนูนบนเนื้อไม้ และการแกะลอยตัว เป็นงานที่ต้องอาศัยความประณีตและความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะถ้าแกะสลักเนื้อไม้ส่วนใดส่วนหนึ่งผิดพลาดไป ก็จะทำให้งานเสียหายไปทั้งชิ้น นอกจากความประณีตในการแกะสลักเป็นลวดลายบนเนื้อไม้แล้ว การออกแบบภาพนูน หรือไม้แกะสลักลอยตัวอย่างมีศิลปะ ก็มีความสำคัญในการเพิ่มคุณภาพและเพิ่มราคาของสินค้าให้สูงขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด


งานแกะสลักไม้

๑๑. งานเคลือบดินเผา

            งานเคลือบดินเผาเป็นงานที่ทำต่อเนื่องจากงานปั้น และงานเขียนลวดลาย บนเครื่องปั้นดินเผา โดยในขั้นตอนแรกจะต้องปั้นดินให้เป็นรูปสิ่งของ รูปคน หรือรูปสัตว์ตามที่ต้องการ แล้วทำพิมพ์เพื่อผลิตงานปั้นนั้นออกมาตามจำนวนที่ต้องการ จากนั้นนำไปเผาเสียคราวหนึ่ง ก่อนนำมาตกแต่งเขียนลวดลายสีสัน หรือเคลือบน้ำยาสี เพื่อให้งดงามและทนทาน เครื่องเคลือบดินเผาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นที่นิยมมาก เพราะเป็นงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ แต่ละชนิดมีจำนวนไม่มากและเขียนลวดลายด้วยมือ เครื่องเคลือบดินเผาที่มีขนาดใหญ่ จะเขียนภาพศิลปวัฒนธรรมหรือภาพธรรมชาติของไทย ตามพระราโชบายในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จะถ่ายทอดความเป็นไทยฝากไว้ในเครื่องเคลือบดินเผา และจารึกศิลปวัฒนธรรมของยุคนี้เก็บไว้ได้จนชั่วลูกชั่วหลาน




งานเคลือบดินเผา

๑๒. งานสลักหนัง

            การสลักหนังเป็นการนำหนังโค และกระบือ หรือหนังสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง มาฉลุลวดลายเป็นภาพตัวละคร ส่วนมากเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ แล้วลงสีต่างๆ หรือสีดำเพื่อให้ลวดลายเด่นชัดขึ้น นิยมนำมาใช้ในการเล่นมหรสพตั้งแต่สมัยโบราณ แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ หนังใหญ่ และหนังตะลุง หนังใหญ่ คือการเชิดหนังที่ทำตัวละครขนาดใหญ่ แต่ละแผ่นอาจสูงถึง ๒ เมตร และกว้าง ๑.๕ เมตร ส่วนหนังตะลุง คือ การเชิดแผ่นหนังที่ทำเป็นรูปตัวละครขนาดเล็ก นิยมเล่นกันในภาคใต้

            การสลักหนังต้องอาศัยการร่างภาพที่งดงามและถูกต้อง ลงบนแผ่นหนังที่เตรียมไว้ แล้วฉลุให้เป็นลวดลายตามภาพที่ร่างนั้น ปัจจุบันมีผู้นิยมนำงานสลักหนังของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังที่มีขนาดเล็ก เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ เพราะมีน้ำหนักเบาและเก็บรักษาง่าย
งานสลักหนัง


๑๓. งานสลักหิน

            เป็นการแกะสลักหินที่มีเนื้ออ่อนให้มีรูปร่างและลวดลายต่างๆ ตามที่ต้องการ อาจแกะสลักเป็นภาพนูนบนแผ่นหินเรียบ หรือแกะสลักเป็นประติมากรรมลอยตัวก็ได้ โดยอาศัยการออกแบบ ที่มีศิลปะและวิจิตรงดงาม หินที่นิยมนำมาใช้ในการแกะสลักของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คือ หินสบู่


งานสลักหิน
๑๔. งานปัก

            งานปักของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คือ การปักสอยแบบไทย เป็นงานประณีตที่ต้องใช้ความชำนาญ ผสมผสานกับจินตนาการในการปักลวดลายและสีสันอันหลากหลายของเส้นไหม เมื่อสำเร็จออกมาแล้ว จะเป็นภาพที่งดงาม และมีชีวิตชีวาราวกับภาพเขียน หรือภาพถ่าย


งานปัก

๑๕. งานดอกไม้ประดิษฐ์

            สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริว่า ดอกไม้พื้นเมืองของไทยนั้น ปัจจุบันหาดูได้ยาก คนรุ่นหลังส่วนมากไม่ค่อยรู้จัก เช่น ดอกสารภี อังกาบ จันทน์กะพ้อ จึงควรประดิษฐ์ไว้ให้คนไทยได้ดูกัน โดยประดิษฐ์ให้เหมือนจริง ทั้งสี ขนาดและรูปทรงของกลีบ ใบ กิ่ง ก้าน และเลือกหาวัสดุ เช่น ผ้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลีบดอกไม้ธรรมชาติมากที่สุด มาใช้ในการประดิษฐ์ การย้อมสีก็ให้ประณีตและพิถีพิถันเพื่อให้เหมือนจริง ปัจจุบันดอกไม้ประดิษฐ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกบัวชนิดต่างๆ และดอกไม้นานาชนิด ที่ไม่ค่อยมีผู้ประดิษฐ์จำหน่ายในท้องตลาด


ดอกไม้ประดิษฐ์