เล่มที่ 29
ศิลปาชีพ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การ จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ

            จากการขยายงานศิลปาชีพแขนงต่างๆ ออกไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ก่อให้เกิดการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นในหลายจังหวัด เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของการเรียนการสอนศิลปาชีพ และเป็นศูนย์อำนวยการประสานงาน รวบรวมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ โดยบางศูนย์สามารถจัดจำหน่วยผลิตภัณฑ์ของศูนย์ ให้แก่ผู้สนใจได้โดยตรง ศูนย์ศิลปาชีพที่ได้จัดตั้งขึ้น มีตามลำดับดังนี้

๑. โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา

            อยู่ภายในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ นอกจากจะมีโรงฝึกศิลปาชีพเพื่อฝึกหัดหัตถกรรมไทยแขนงต่างๆ แก่นักเรียน ซึ่งเป็นบุตรหลานของราษฎร ที่มีฐานะยากจน และมีหน่วยก้านดีพอ ที่จะสนับสนุนให้เรียนทางด้านศิลปหัตถกรรมในขั้นที่ยากขึ้นแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่ และสมาชิกศิลปาชีพทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางรับซื้อ เก็บรักษา และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทั้งหมด รวมทั้งเป็นที่ทำการของกองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการด้วย


๒. ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร


ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

            อยู่ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ รับเกษตรกรที่มีฐานะยากจนจากจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาฝึกอบรมในด้านศิลปาชีพสาขาต่างๆประมาณ ๓๐ สาขา นอกจากนี้ ยังมีแผนกเกษตรกรรม เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรที่มาฝึกอบรมด้านศิลปาชีพให้มีพื้นฐานความรู้ด้าน เกษตรกรรมด้วย

๓. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม

            อยู่ที่บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ ๒๕๒๖ บนที่ดินประมาณ ๕๐ ไร่ เพื่อส่งเสริมศิลปาชีพประเภทต่างๆ โดยเริ่มจากเครื่องปั้นดินเผา ต่อมาก็ขยายไปยังศิลปหัตถกรรมสาขาอื่นๆ เช่น แกะสลักไม้ ทำเครื่องเรือน ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ตัดเย็บเสื้อผ้า ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย หล่อโลหะ

๔. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร

            อยู่ที่บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ เพื่อส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ต่อมาได้ขยายการดำเนินงานของศูนย์ โดยเปิดสอนศิลปาชีพต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น การทำเครื่องเรือน การตัดเย็บเสื้อผ้า การปักผ้า การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การถักไหมพรม

๕. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ตำ

            อยู่ที่บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ งานศิลปาชีพประเภทแรกที่เริ่มฝึกสอนคือ การทอผ้าฝ้าย หลังจากนั้นได้ขยายไปถึงการทำเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลักไม้ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม การจักสานไม้ไผ่

๖. ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน

            อยู่ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ มีการฝึกสอนศิลปาชีพหลายประเภท เช่น จักสานหวาย จักสานไม้ไผ่ ทอผ้าไหม ตัดเย็บเสื้อผ้าตุ๊กตาชาวเขา ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องหนังและของชำร่วย สมาชิกของศูนย์ฯ แบ่งเป็นสมาชิกชั่วคราว และสมาชิกประจำ ผู้ที่เป็นสมาชิกชั่วคราว เมื่อเรียนจบแล้วก็กลับไปประกอบศิลปาชีพที่บ้าน ส่วนผู้ที่เป็นสมาชิกประจำ ซึ่งเป็นสมาชิกฝีมือดี ทางศูนย์ฯ จะจ้างไว้เพื่อผลิตงานที่ศูนย์ฯ

๗. ศูนย์ศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

            อยู่ในบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน จัดวิทยากรไปทำการฝึกอบรมในระยะแรก เป็นศูนย์ที่เน้นในด้านการผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะ


อาคารเฉลิมพระเกียรติสิริกาญจนทักษิณ จ.นราธิวาส
สถานที่ฝึกงานศิลปาชีพแห่งหนึ่งของสมาชิกศิลปาชีพในภาคใต้

๘. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง

            อยู่ที่บ้านเนินธัมมัง หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในจังหวัดนครศรีธรรมราช และในพื้นที่ใกล้เคียง เสริมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดสอนการทอผ้าฝ้าย การปักผ้าด้วยมือ การถักโครเชต์ และการจักสานกระจูด

            นอกจากศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ แล้ว ยังมีโครงการศิลปาชีพอีกมากกว่า ๒๐๐ โครงการ กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ใด หากทรงพบว่ามีราษฎรยากจน ก็จะทรงรับไว้เป็นสมาชิกศิลปาชีพ และให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพขึ้นในหมู่บ้านนั้นๆ โดยพิจารณาจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ประกอบกับความสามารถทางศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวบ้านเป็นหลัก