๖. กลุ่มปลาไม่มีเกล็ด (Catfishes)
ปลาในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มปลาที่ไม่มีเกล็ด มีหนวด มีหลากหลายชนิด สามารถอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น ในน้ำที่ขุ่นหรือมีออกซิเจนต่ำ เป็นปลาที่หากินตามพื้นท้องน้ำ ในบางกลุ่มมีปากที่พัฒนาเป็นปากดูด ซึ่งนอกจากจะทำให้กินสาหร่ายที่เกาะตามวัสดุได้ดีแล้ว ยังใช้ในการยึดเกาะกับก้อนหิน ในธารน้ำด้วย ปลาพวกนี้บางชนิดช่วยทำความสะอาดตู้ได้ดี โดยกินสาหร่ายที่เกาะตามข้างตู้ บางชนิดว่ายน้ำหงายท้อง บางชนิดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ บางชนิดมีผิวหนังเป็นแผ่นแข็งเหมือนเกราะ บางชนิดมีอวัยวะช่วยหายใจ ปลาในกลุ่มนี้ที่เป็นปลาสวยงามของไทยมีหลายชนิด ได้แก่ ปลาดุกด้าน ปลาก้างพระร่วง ปลากดเหลือง ปลาแขยงหิน และปลาสวาย ส่วนที่เป็นปลาสวยงามจากต่างประเทศ ประกอบด้วยปลาจากหลายครอบครัว เช่น อัปไซด์ดาวน์จุดจากประเทศคองโกใน ทวีปแอฟริกาตอนกลาง กดอัปไซด์ดาวน์จาก ลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ในทวีปแอฟริกาภาคตะวันตก กดหนามแฮนค็อกจากประเทศเม็กซิโก กดซีบรา กดลายเสือ และกดจมูกเสียม จากลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ในประเทศบราซิล แบนโจแคตฟิชจากประเทศเอกวาดอร์ เปรูและอุรุกวัย กดพอลกาจากประเทศปานามา และโคลอมเบีย กดจุดจากบริเวณลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ที่พรมแดนระหว่างประเทศเปรูกับบราซิล แพะยักษ์จากประเทศเอกวาดอร์ แพะสกังก์ แพะลายหรือแพะจูลี แพะเพปเพอร์ และแพะแพนดา จากลุ่มแม่น้ำแอมะซอน แพะไซกาทัสจากประเทศเปรู และซักเกอร์พลีโคจากประเทศตรินิแดดและโตเบโก และเวเนซุเอลา
๗. กลุ่มปลาหมู (Loaches)
ปลาในกลุ่มปลาหมู มีลักษณะคล้ายปลาตะเพียน อยู่ในครอบครัวโคบิทิดี (Cobitidae) พบในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และหมู่เกาะอังกฤษ และมีเพียง ๒ - ๓ ชนิด ที่พบในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่พบในประเทศโมร็อกโก ส่วนมากเป็นปลาที่ขี้อาย และหลายชนิดชอบหลบซ่อนใต้ก้อนหิน กินได้ทั้งอาหารที่มีชีวิต และอาหารสำเร็จรูป และจะหากินอาหารตามพื้นท้องน้ำ โดยปกติเป็นปลาขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ ๕ - ๘ เซนติเมตร แต่บางชนิดยาวถึง ๓๐ เซนติเมตร ส่วนมากเป็นปลาที่รักสงบ ไม่ดุร้าย หากินในเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม บางชนิดก็มีนิสัยดุร้าย และต้องเลี้ยงแยกต่างหาก จำนวนหนวดของปลาหมูจะต่างกัน ในแต่ละสกุล บางสกุลมีหนวด ๓ คู่ บางสกุลมีหนวด ๔ คู่ โดยจะอยู่ที่ขากรรไกรล่าง ๑ คู่ และบางสกุลมีหนวด ๓ - ๖ คู่ โดยอาจมีหนวดสั้นๆ หรือยาวมาก บางชนิดมีอวัยวะช่วยหายใจ ทำให้สามารถอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ โดยลำไส้ของปลาในกลุ่มนี้บางชนิด สามารถดูดซึมออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง ส่วนมากชอบที่ที่มีแสงน้อย ชนิดที่เป็นปลาสวยงามของไทย ได้แก่ หมูข้างลาย หมูอารีย์ หมูขาว และหมูหางแดง
๘. กลุ่มปลาสวยงามน้ำจืดชนิดที่วางไข่อื่นๆ
กลุ่มปลาสวยงามน้ำจืดชนิดที่วางไข่อื่นๆ ซึ่งเป็นปลาไทยยังมีอีกหลายชนิด ได้แก่ ปลาสร้อยน้ำผึ้ง ปลาช่อนงูเห่า ปลาชะโด ปลาเสือตอ ปลากระทิงดำ ปลากระทิงไฟ ปลาเข็ม ปลาเข็มแม่น้ำหรือปลากระทุงเหว ปลากราย ปลาตองลาย ปลาตะพัดหรือปลาอะโรวานา ส่วนปลาสวยงามต่างประเทศที่นำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย ได้แก่ ปลาอะโรวานา จากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ปลาจมูกช้างพีเตอร์ จากประเทศไนจีเรีย และปลาอะราไพมาหรือปลาช่อนแอมะซอน จากลุ่มแม่น้ำแอมะซอน
๙. กลุ่มปลาออกลูกเป็นตัว (Livebearers)
ปลาหางนกยูง (Guppy) ปลามอลลี (Molly) ปลาสอด (Swordtail) ปลาแพลตตี (Platy, Moonfish)
ข. กลุ่มปลาสวยงามน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ ในเขตหนาว
ปลาทอง (Goldfish)
บางครั้งเรียกว่า ปลาเงินปลาทอง เป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงกันมานานในประเทศจีน ปลาทองดั้งเดิมมีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนขาว มีครีบหลังที่มีฐาน ยาว ตัวป้อมสั้นและแบนข้าง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีนตอนใต้ ปลาทองอาจมีชีวิตยืนยาวได้นานถึง ๒๐ - ๓๐ ปี ต่อมาได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาทองอย่างต่อเนื่อง ให้มีรูปร่าง ลักษณะ และสีสันต่างๆ ปลาทองที่เลี้ยงไว้เป็นปลาสวยงามจะมีอายุประมาณ ๗ - ๘ ปี น้อยมากที่มีอายุถึง ๒๐ ปี ปัจจุบันมีสายพันธุ์ปลาทองมากกว่า ๑๐๐ สายพันธุ์ การตั้งชื่อปลาทองแต่ละสายพันธุ์ จะตั้งชื่อตามลักษณะลำตัวและลักษณะครีบ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีลำตัวแบนยาว และกลุ่มที่มีลำตัวกลม หรือรูปไข่ ปลาในกลุ่มที่มีลำตัวแบนยาว ส่วนมากมีลำตัวแบนข้าง และมีครีบหางเดี่ยว ยกเว้นปลาทองริวกินซึ่งมีครีบหางคู่ ปลาในกลุ่มนี้จะปราดเปรียว เลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากที่สุด เป็นปลาที่เหมาะจะเลี้ยงในบ่อ สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่ ปลาทองธรรมดา ปลาทองโคเมต ปลาทองชูบุงกิน และปลาทองวากินปลาในกลุ่มที่มีลำตัวกลมหรือรูปไข่ แบ่งเป็นหลายสายพันธุ์ มีลักษณะครีบ หัว และนัยน์ตาที่แตกต่างกันหลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีครีบหลัง และกลุ่มที่ไม่มีครีบหลัง ปลาทองกลุ่มที่มีครีบหลังมีลำตัวสั้น แต่ครีบ ยาว ครีบหางเป็นคู่ ได้แก่ ปลาทองริวกิน ปลาทองออแรนดา ปลาทองเกล็ดแก้ว ปลา ทองตาโปน ปลาทองพันธุ์เล่ห์หรือรักเล่ห์ ปลาทองแพนดา และปลาทองปอมปอน ส่วนกลุ่มที่ไม่มีครีบหลัง และมีรูปร่างกลมประกอบด้วย ปลาทองหัวสิงห์จีน ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่นหรือปลาทองรันชู ปลาทอง หัวสิงห์ลูกผสม ปลาทองพันธุ์สิงห์ตามิด หรือสิงห์สยาม ปลาทองพันธุ์ตากลับ และปลาทองพันธุ์ตาลูกโป่ง
ปลาแฟนซีคาร์ป (Fancy Carp, Koi)
ปลาแฟนซีคาร์ปเป็นปลาชนิดเดียวกับปลาไน ที่เลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจในประเทศจีน ซึ่งเมื่อประมาณ ๕๗๒ ปี ก่อนพุทธศักราช เคยมีภาพและบันทึกเกี่ยวกับปลาไน ในประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่นได้นำปลาไนเข้ามาเลี้ยง เพื่อเป็นอาหาร แล้วได้มีการคัดพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันและลวดลายอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนเกิดเป็นแฟนซีคาร์ป ที่มีรูปแบบของสีที่หลากหลาย ซึ่งแต่เดิมนั้นปลาคาร์ปมีเพียง สีดำและสีส้ม ต่อมาเมื่อประมาณ ๑๘๐ ปี มานี้ ที่เมืองนีกะตะ ได้เกิดปลาคาร์ปสีขาวแดง(โคฮากุ) ขึ้นมาตัวหนึ่ง ชาวบ้านจึงได้สนใจที่จะพัฒนาสายพันธุ์ และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม นับจากนั้นมา การเพาะพันธุ์ปลาประเภทนี้ก็ค่อยๆขยายตัวแพร่หลายขึ้น จุดเริ่มต้น และวิวัฒนาการของแฟนซีคาร์ปคือ เมื่อสามารถผสมพันธุ์ปลาคาร์ปแดงกับปลา คาร์ปขาวเป็นผลสำเร็จ และต่อมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๑๘ ปลาคาร์ปสีฟ้าอ่อน สายพันธุ์อะซะกิ (Asagi) และสีเหลืองดำสายพันธุ์คิอุซึริ (Ki-Utsuri) ก็ได้รับการผสมพันธุ์ขึ้นมา และเป็นที่นิยมแพร่หลายในขณะนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ผู้เลี้ยงแฟนซีคาร์ปได้ประสบความสำเร็จในการรักษาสีของปลาโคฮากุ (ขาวแดง) และซันเก้ (ขาวแดงและดำ) ซึ่งสามารถรักษาสีได้คงที่ โดยไม่ซีดจางหรือหายไป และได้มีการพัฒนารูปแบบสีต่างๆ ขึ้นมามากมาย ปลาแฟนซีคาร์ปเป็นปลาที่มีอายุยืนที่สุด ตัวที่มีอายุยืนที่สุดที่เคยบันทึกไว้ในญี่ปุ่น มีอายุถึง ๒๒๖ ปี