เล่มที่ 4
ไวรัส
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คุณสมบัติทางชีววิทยา

คุณสมบัติสำคัญทางชีววิทยาที่สนับสนุนว่า ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิต คือ

            ๑. ไวรัสมีกรดนิวคลีอิค ซึ่งการสลับการเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ คือ รหัสชีวิตอยู่ในสภาพของยีน ที่ควบคุมลักษณะทางกรรมพันธุ์
            ๒. ไวรัสผลิตไวรัสใหม่ได้ อาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงบัคเตรีใช้เพาะเลี้ยง ไวรัสไม่ได้ นอกจากจะเพาะเลี้ยงในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
            ๓. รหัสชีวิตของไวรัสเมื่อผันแปร ไวรัสก็ผันแปรด้วย
            ๔. ไวรัสถ่ายทอดยีนที่ควบคุมลักษณะทางกรรมพันธุ์แบบอาศัยเพศได้

โดยทั่วไปคำว่า ไวรัส หมายถึง ไวรัสปกติ หรือไวรัสที่สมบูรณ์ (complete  virus, infective virus, virion) อนุภาคของไวรัสมีกรดนิวคลีอิคเป็นแกน พอกหุ้มโดยโปรตีน สามารถจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ได้สะดวก กรดนิวคลีอิคของไวรัสอย่างเดียว เป็นไวรัสเปลือย (naked virus, vegetative virus) เมื่ออยู่อิสระ ทำให้กรดนิวคลีอิคของไวรัสสามารถทวีจำนวนแพร่พันธุ์ได้ หากไวรัสเปลือยไม่อยู่อิสระ จะแฝงตัวอยู่กับดีเอ็นเอของเซลล์ ในสภาพโปรไวรัส (provirus) การทวีจำนวนแพร่พันธุ์จึงไม่สามารถอำนวยได้ การสังเคราะห์ไวรัสไม่ครบถ้วน หรือพิการ (incomplete virus, defective virus) ทำให้ไร้ความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในเซลล์อย่างไวรัสปกติ ไวรัสที่ปกติ หรือไวรัสที่สมบูรณ์ อาจจะแบ่งได้อีก ๒ ประเภท

ก. ไวรัสประเภทร้อน (virulent virus, hot virus)

            คือ ไวรัสที่เข้าไปในเซลล์แล้วอยู่ในสภาพไวรัสเปลือย และอยู่อิสระ ต่อมาจะทวีจำนวนผลิตไวรัสที่สมบูรณ์ในสภาพวงชีพเภทะ (lysis) ได้

ข. ไวรัสประเภทเย็น (temperate virus)

            คือ ไวรัสที่เข้าไปในเซลล์แล้ว ไวรัสเปลือยก็จะเปลี่ยนสภาพในลักษณะโปรไวรัสซึ่งไม่มีอิสระแฝงอยู่กับ ดี เอ็น เอ ของเซลล์ ในสภาวะวงชีพเภทนะ (lysogency) ได้ โปรไวรัสในบางกรณี เมื่อกลับสภาพมาเป็นไวรัสเปลือยอิสระอยู่ได้แล้ว จะทวีจำนวนแพร่พันธุ์ให้ไวรัสที่สมบูรณ์ หรืออีกนัยหนึ่งเปลี่ยนจากวงชีพเภทนะเป็นวงชีพเภทะได้

ภาพแสดงไวรัสบัคเตรีประเภทร้อนเปรียบเทียบกับไวรัสบัคเตรีประเภทเย็น และที่ผันแปรเจริญในบัคเตรีปกติ
ภาพแสดงไวรัสบัคเตรีประเภทร้อนเปรียบเทียบกับไวรัสบัคเตรีประเภทเย็น และที่ผันแปรเจริญในบัคเตรีปกติ

            ไวรัสที่ผันแปรแตกต่างไปจากไวรัสปกติอาจตรวจสอบได้โดยเลี้ยงกับเซลล์ต่างๆ และเปรียบเทียบไวรัสดูโดยตรวจสอบคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของไวรัส เช่น ความทนของไวรัสต่อรังสี ความทนของไวรัสต่ออุณหภูมิระดับต่างๆ คุณสมบัติทางเคมีของไวรัส เช่น ความทนของไวรัสต่อสารเคมี คุณสมบัติทางชีววิทยาของไวรัส เช่น ความสามารถในการ สังเคราะห์ไวรัส ความสามารถของไวรัสในการทำลายเซลล์รุนแรงมากน้อยเพียงใด ความสามารถในการสังเคราะห์เอนไซม์ สังเคราะห์แอนติเจน ที่เฉพาะของไวรัส ยีนที่ควบคุมชนิดของเซลล์ที่ไวรัสจะเจริญ ยีนที่ทำให้เกิดการสลายเซลล์ที่เพาะเลี้ยงต่างๆ กัน ฯลฯ

ภาพแสดงไวรัสบัคเตรีประเภทร้อนเปรียบเทียบกับไวรัสบัคเตรีประเภทเย็น และที่ผันแปรเจริญในบัคเตรีปกติ
ภาพแสดง ก. วงชีพเภทะ และวงชีพเภทนะ ข. เปรียบเทียบโปรไวรัสชนิดชักนำและครึ่งชักนำ ค. ยีนชะงักงัน (repressor gene) ที่สัมพันธ์กับวงชีพเภทนะ ง. ยีนลบล้าง (suppressor gene) ที่ลบล้างยีนชะงักงัน

เซลล์ที่ใช้เพาะเลี้ยงไวรัสก็เช่นกัน อาจจะใช้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ชนิด หรือเซลล์ต่างอวัยวะของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน หรือเซลล์ที่ผันแปรจากเซลล์ปกติ โดยเปรียบเทียบความสามารถของไวรัสที่จะแพร่พันธุ์ โดยตรวจสอบดูคุณสมบัติทางฟิสิกส์ ทางเคมี และทางชีววิทยาของไวรัสตามแบบดังกล่าวข้างต้น

แผนภูมิแสดงความแตกต่างของไวรัสบางชนิด โดยอาศัยคุณสมบัติทางเคมี และคุณสมบัติทางกายภาพเป็นหลัก

            ความรู้เรื่องไวรัสกับเซลล์นั้น ส่วนใหญ่จะได้จากการศึกษาไวรัสบัคเตรี กับบัคเตรี ชนิด อี. โคไล (E. coli) การที่มีการศึกษาไวรัสบัคเตรีกับบัคเตรี อี. โคไล มาก เพราะบัคเตรีชนิดนี้เป็นบัคเตรีที่เราทราบคุณสมบัติทางชีววิทยาอย่างดี