ประวัติของทุเรียนในประเทศไทย
สมัยอยุธยา
ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ทรงส่งคณะราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และเผยแผ่คริสต์ศาสนา รวมทั้งทำสัญญาสิทธิทางการค้า ในวาระที่ คณะราชทูตฝรั่งเศสกราบถวายบังคมลากลับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงส่งคณะราชทูตไทยตามไปฝรั่งเศส เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีด้วยเช่นกัน ตอนกลับ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งคณะราชทูตตามมาด้วยอีกคณะหนึ่ง เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยมี เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubre) นักบวชนิกายเยซูอิต เป็นหัวหน้าคณะราชทูต เพื่อมาเจรจาทำสัญญาทางด้านการค้ากับไทยอีกคราวหนึ่ง จนเป็นผลสำเร็จ เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ ซึ่งเป็นนักการทูต และนักเขียน ที่มีชื่อเสียง ได้บันทึกสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็น เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย รวมทั้งเกษตรกรรม ของเมืองไทยบางส่วน และนำไปเขียนเป็นหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยอยุธยา ในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในกรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ มีขนาดความยาว ๒ เล่ม ในเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมของไทย ตอนหนึ่งได้ระบุเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า
"ดูเรียน" (Durion) ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้า ไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไป ก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่า ยิ่งมีเมล็ดในน้อย ยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่า มีน้อยกว่า ๓ เมล็ดเลย
จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง และมีการปรับปรุงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอตลอดมา โดยระบบของสังคมไทย เช่น การนิยมเอาผลไม้ดีที่สุดถวายพระ หรือเป็นของกำนัลเจ้านาย รวมทั้งระบบของรัฐ เช่น การเก็บอากรเกี่ยวกับต้นผลไม้ เป็นการส่งเสริมแกมบังคับ ให้ทุกคนต้องปรับปรุงพืชผลของตนเอง ส่งผลให้เมืองไทยมีพันธุ์ไม้ผลดีๆ หลากหลายชนิด มาจนถึงสมัยปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า งานปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลของประเทศไทยโดยชาวบ้าน ได้เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา และเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษสู่ชนรุ่นปัจจุบัน
สมัยรัตนโกสินทร์
พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียน จากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๘ และมีการทำสวนทุเรียนในตำบลบางกร่าง ในคลองบางกอกน้อยตอนใน มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๗
ในระยะต้น เป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี ๓ พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด ผู้ที่หากิ่งตอนจากพันธุ์ดีทั้ง ๓ พันธุ์ไม่ได้ ก็ต้องใช้เมล็ดของทั้ง ๓ พันธุ์นั้นเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย เป็นผลดีต่อการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนมาจนถึงปัจจุบัน
ดังได้กล่าวข้างต้น ปัญหาที่เกษตรกรไม่สามารถหากิ่งตอนจากพันธุ์ดีได้ จึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จึงมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๗ จนกระทั่งก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นับเป็นเวลากว่า ๘๗ ปี ทำให้เกิดทุเรียนพันธุ์ลูกผสมขึ้นมากมาย และมีการขยายพันธุ์ปลูกในที่ต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ ทำให้ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ หลายพันธุ์ ในเขตจังหวัดนนทบุรี และธนบุรีสูญหาย เพราะสวนล่ม แต่ก็ยังมีหลายสวน ที่รอดพ้นมาได้ จึงกลายเป็นแหล่งพันธุ์ ที่เหลืออยู่ แต่เนื่องจากการขยายพันธุ์ปลูก ทำได้ไม่รวดเร็วพอ เกษตรกรจึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้ได้ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมเพิ่มเติม จากที่มีเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขาดความรู้ และหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากมายที่เกิดขึ้น จึงเป็นทุเรียนพันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติ ไม่สามารถทราบเชื้อสายพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ ขาดการบันทึกประวัติเป็นลายลักษณ์อักษรทางวิชาการ การตั้งชื่อพันธุ์ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ อาจใช้ชื่อของผู้ที่เพาะเมล็ด ชื่อสถานที่ หรือตำแหน่งที่ต้นพันธุ์นั้นงอกหรือเจริญเติบโต ลักษณะรูปทรงของผล สี รสชาติ ฯลฯ ที่เป็นลักษณะที่เด่นชัดเป็นตัวกำหนดในการตั้งชื่อ ประกอบกับมีการกระจายการปลูกทุเรียนไปยังภาคต่างๆ ทำให้มีการกระจายพันธุ์ไปยังแหล่งปลูกใหม่เป็นจำนวนมาก รายชื่อพันธุ์ทุเรียน ที่รวบรวมได้จากเอกสารจึงมีเป็นจำนวนมากถึง ๒๒๗ พันธุ์ ซึ่งในจำนวน ๒๒๗ พันธุ์นี้ อาจมีหลายๆ พันธุ์ ที่เป็นพันธุ์เดียวกัน แต่มีการกำหนดชื่อพันธุ์ขึ้นใหม่ จึงเป็นการซ้ำซ้อน สับสน และไม่สามารถใช้ประโยชน์ ในเชิงวิชาการได้เท่าที่ควร