เล่มที่ 28
ทุเรียน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การจัดการเพื่อส่งเสริมการออกดอกและติดผล

            ๑. การจัดการเพื่อส่งเสริมการออกดอก

ต้นทุเรียนที่สมบูรณ์ และมีสภาพความพร้อมดีมาก เมื่อผ่านช่วงฝนแล้งที่ต่อเนื่องนานเกิน ๑๐ วัน ต้นทุเรียนจะออกดอกในปริมาณมาก และเป็นดอกรุ่นเดียวกัน ซึ่งจะสะดวกและง่ายต่อการจัดการ เพื่อให้มีการติดผล การตัดแต่งผล การไว้ผล เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต และการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต แต่ถ้าต้นทุเรียนมีสภาพความพร้อมไม่ดีพอ ในขณะที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม หรือต้นทุเรียนมีสภาพความพร้อมดีมาก แต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีความเหมาะสมน้อย ต้นทุเรียนก็จะออกดอกในปริมาณน้อย และเป็นดอกหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต้นทุเรียนที่มีอายุมาก กิ่งมีขนาดใหญ่ ทำให้เป็นปัญหาในด้านการจัดการ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการเสริม เพื่อช่วยกระตุ้นให้ต้นทุเรียนออกดอกในปริมาณมาก และเป็นดอกรุ่นเดียวกัน



๒. การจัดการเพื่อส่งเสริมการติดผล

            การติดผลเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ ในการกำหนดปริมาณผลผลิตต่อต้น ดังนั้น หากต้องการที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิต จึงจำเป็นต้องมีการจัดการ เพื่อส่งเสริมการติดผล ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ตัดแต่งดอกให้เป็นดอกรุ่นเดียวกัน ตัดแต่งดอกรุ่น ที่มีปริมาณน้อยออก ให้เหลือดอกเพียงรุ่นเดียวในแต่ละกิ่ง หรือเป็นดอกรุ่นเดียวกันทั้งต้น ในกรณีที่ดอกมีปริมาณมาก ให้ตัดแต่ง และเหลือดอกไว้เป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน ๒๐ ดอก แต่ละกลุ่มห่างกันพอเหมาะ ตามตำแหน่งที่คาดว่า จะไว้ผล ในกรณีที่มีดอกหลายรุ่น และแต่ละรุ่นมีปริมาณดอกจำนวนใกล้เคียงกัน ให้พิจารณาตัดแต่งให้เหลือเป็นดอกรุ่นเดียวกัน ในแต่ละกิ่ง โดยกระจายปริมาณของดอกทั่วต้น ให้เหลือจำนวนพอประมาณ การตัดแต่งดอก ควรดำเนินการ ในระยะมะเขือพวง (ประมาณ ๓๐ วัน หลังจากเกิดดอกในระยะไข่ปลา)
  •  จัดการน้ำ เพื่อช่วยการติดผล และขึ้นลูก การจัดการให้น้ำ ในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำในช่วงพัฒนาการต่างๆ ของดอกและผลอ่อน มีบทบาทสูง ในการช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของดอกและผลอ่อนได้เป็นอย่างดี และเพิ่มการติดผล และขึ้นลูกของทุเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ดอกทุเรียน ในระยะเหยียดตีนหนูต้องให้น้ำในปริมาณสูง แต่ลดปริมาณน้ำลงประมาณร้อยละ ๔๐ ในช่วงระยะดอกขาวจนถึงระยะผลอ่อนอายุ ๑ สัปดาห์ หลังดอกบาน รักษาปริมาณความชื้นในดินให้สม่ำเสมอโดยให้น้ำครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยครั้ง และเมื่อปลายยอดเกสรตัวเมีย ที่ติดอยู่กับผลอ่อนเริ่มไหม้และแห้งเป็นสีน้ำตาลแก่ จึงเริ่มเพิ่มปริมาณน้ำที่ให้ขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเน้นการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อผลอ่อนมีอายุประมาณ ๓ สัปดาห์หลังดอกบาน และปลายยอดเกสรตัวเมีย ที่ติดอยู่กับผลอ่อน มีลักษณะแห้งเป็นสีดำ จึงเพิ่มปริมาณน้ำที่ให้มากขึ้น ตามคำแนะนำ และรักษาสภาพความชื้นในดินให้สม่ำเสมอไปจนผลอ่อนมีอายุ ๕ สัปดาห์หลังดอกบาน ในกรณีที่มีฝนตกปริมาณมาก ในช่วงเวลาใกล้ดอกบาน ให้พยายามรักษาสภาพความชื้นในดิน และความชื้นบรรยากาศ ภายใต้ทรงพุ่มให้สม่ำเสมอ โดยการให้น้ำทุกๆ วัน แต่ในปริมาณวันละไม่มากนัก กวาดเศษซากของดอกที่ร่วงออกให้หมด จากบริเวณผิวดินใต้ทรงพุ่ม เพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศ ตรงบริเวณผิวดินให้ดีขึ้น จะช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของดอกและผลอ่อนได้ในระดับหนึ่ง
  • การช่วยผสมเกสร การติดผลน้อยของทุเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทุเรียนพันธุ์ชะนี เป็นปัญหาที่สำคัญ การช่วยผสมเกสรโดยใช้ละอองเกสรจากทุเรียนต่างพันธุ์ จึงเป็นการช่วยทำให้กระบวนการถ่ายละอองเกสร ประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิสนธิ ปริมาณการติดผลจึงเพิ่มขึ้น ผลทุเรียนที่เกิดจากการช่วยผสมเกสร จะมีการเจริญเติบโตเร็ว รูปทรงดี พูเต็ม คุณภาพเนื้อดี สีเนื้อ และรสชาติไม่แตกต่างจากพันธุ์แม่ ปริมาณเนื้อที่รับประทานได้ต่อผลเพิ่มขึ้น
  • ฉีดพ่นด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต การช่วยผสมเกสรเป็นสิ่งจำเป็น การปฏิบัติต้องใช้เวลา และแรงงาน จึงจะทำให้การผสมเกสรนั้น ได้ผลดีตามต้องการ ในกรณีเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีพื้นที่ในการปลูก
            ทุเรียนตั้งแต่ ๓ - ๑๕ ไร่ การช่วยผสมเกสร สามารถปฏิบัติได้ แต่ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ ก็จะมีปัญหาในด้านการปฏิบัติ จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการอื่น พบว่า การฉีดพ่นใบทั่วทั้งต้น ด้วยสารแพกโคลบิวทราโซล ในอัตรา ๕๐๐ ส่วนต่อล้านส่วน ในช่วงที่ดอกทุเรียนอยู่ในระยะกระดุม หรือหัวกำไล จะช่วยทำให้มีการติดผลได้ ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับการช่วยผสมเกสร และคุณภาพของผลผลิตไม่แตกต่างกัน