ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดบุหรี่
- สารนิโคติน บุหรี่ใช้ใบยาสูบ ซึ่งมีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบอยู่ตามธรรมชาติ ร้อยละ ๘๕ - ๙๕ ของสารแอลคาลอยด์ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับชนิดของใบยาสูบ โดยสารนิโคติน สามารถกระตุ้นส่วนสมองที่เกี่ยวกับความอยาก ความสุขสม รวมทั้งการเสพติด ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ และองค์การอนามัยโลก ก็ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า "นิโคตินเป็นสารเสพติด" และการสูบบุหรี่ หรือการบริโภคยาสูบ ในรูปแบบอื่น เป็นเพียงวิธีการที่ทำให้ร่างกายได้มา ซึ่งสิ่งเสพติด ซึ่งก็คือ นิโคติน นั่นเอง นิโคตินเป็นสารเสพติด ที่มีผู้เสพมากที่สุด และมีอำนาจการเสพติดสูงสุด เทียบเท่าเฮโรอีน เป็นยาเสพติด ซึ่งผู้เสพที่ติดแล้ว ต้องใช้ตลอดเวลา และทุกวัน ยกเว้นเวลานอนหลับ มีฤทธิ์ด้านดีคือ กระตุ้นต่อมพิทูอิทารีแ ละอะดรีนัล ให้เกิดความรู้สึกคลายเครียด และควบคุมน้ำหนักตัว แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงคือ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ ถุงลมโป่งพองได้ เมื่อสูดควันบุหรี่เข้าไป สารนิโคตินจะเข้าสู่ร่างกาย โดยร้อยละ ๙๕ จะจับอยู่ที่ปอด บางส่วนจะดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เมื่อใดที่ระดับของสารนิโคตินลดลง จากที่เคยมีอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนมวนบุหรี่ ที่ผู้สูบสูบต่อวัน จะทำให้เกิดอาการขาดสารนิโคตินคือ กระวนกระวาย หงุดหงิด ขาดสมาธิ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า ง่วง มึนศีรษะ เหม่อลอย บางคนนอนไม่หลับ และบางคนมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว ถ้าผู้สูบบุหรี่ไม่มีความตั้งใจแน่วแน่ในการเลิกสูบ ก็จะหวนกลับไปสูบอีก เพื่อระงับอาการเหล่านี้
- บุคลิกภาพ เด็กผู้ชายที่ชอบกีฬาที่ท้าทาย เช่น การแข่งแรลลี มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่เป็น ๒ เท่าของเด็กผู้ชายที่ไม่สนใจกีฬาชนิดนี้ บุคคลที่มีบุคลิกภาพขาดความมั่นใจในตนเอง ประหม่าง่าย วิตกกังวล จะมีความเสี่ยงสูงต่อการสูบบุหรี่ และบุคคลที่ชอบความก้าวร้าวรุนแรง ไม่เกรงใจ ไม่เคารพในสิทธิผู้อื่น ไม่รู้สึกผิดในสิ่งที่ตนกระทำต่อผู้อื่น บุคคลกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการเสพติดบุหรี่เช่นกัน

- สภาพแวดล้อม สถานที่ทำงานที่มีผู้สูบบุหรี่จำนวนมาก มีความเสี่ยงสูง ที่จะกระตุ้นให้ผู้ร่วมงานสูบบุหรี่ และเลิกสูบได้ยาก โรงเรียนที่มีครูอาจารย์สูบบุหรี่ ก็จะมีความเสี่ยง ที่นักเรียนนักศึกษาจะสูบบุหรี่มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่ติดบุหรี่ ส่วนใหญ่จะเริ่มสูบบุหรี่ก่อนจบชั้นมัธยมศึกษา หมายความว่า ถ้าเยาวชนคนไหนไม่เคยสูบบุหรี่ในระหว่างที่เรียนชั้นมัธยมศึกษา เยาวชนคนนั้น ก็จะมีแนวโน้มเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ เยาวชนที่สูบบุหรี่ จะส่งผลให้มีผลการเรียนต่ำกว่าที่เคยเป็น และมีแนวโน้ม ที่จะติดกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีผลเสียต่อบุคลิกภาพ กลายเป็นคนไม่แข็งแรง และไม่มั่นใจในตนเอง งานวิจัยระบุว่า บุหรี่เป็นยาเสพติดชนิดแรก ที่เยาวชนใช้ ก่อนที่จะก้าวไปสู่เหล้าและยาเสพติดชนิดร้ายแรงอื่นๆ