ห้องสมุดเสียง
เสียงต่างๆ ที่ได้ดำเนินการจัดเก็บไว้ในรูปของแถบบันทึกเสียงต้นฉบับ (Master Tape) สำหรับการศึกษาค้นคว้า แบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภท คือ
๑. พระสุรเสียง
ได้แก่ กระแสพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สำเนามารวบรวมไว้ในห้องสมุดเสียงของมหาวิทยาลัยศิลปากร
๒. วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา
ได้แก่ งานพิธีต่างๆ การอ่านคำประพันธ์ เพลงชาติ เพลงพื้นเมือง พิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ
๓. การพูด
ได้แก่ วาทะของบุคคลสำคัญ เนื่องในโอกาสต่างๆ แบ่งตามลักษณะของการพูดออกเป็นสุนทรพจน์ คำปราศรัย การบรรยาย ปาฐกถา การรายงานข่าว การเล่าเรื่อง การสนทนา การสัมภาษณ์ การประชุม การสัมมนา การอภิปราย ฯลฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
๔. การแสดง
ได้แก่ ดนตรี นาฏศิลป์ เพลงพื้นเมือง เพลงไทยเดิม ละคร อุปรากร ฯลฯ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ
๕. บทเรียน
ได้แก่ บทเรียนเสริมการสอนวิชาต่างๆ โดยเฉพาะบทเรียนเสริมทักษะภาษาต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนอยู่ เช่น ภาษาจีน ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ ฯลฯ
แถบเสียงที่จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ในห้องสมุดเสียงมี ๖ ประเภท ได้แก่
๑. แถบเสียงพระราชทาน
เป็นพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ บรรจุในตลับสีชมพู
๒. หลักฐานสำคัญ
คือ หลักฐานที่หายาก สำหรับใช้เป็นหลักฐานค้นคว้าอ้างอิง เช่น เพลงไทยในเมืองพม่า สมัยอยุธยา พระสงฆ์จากลังกาสวดพระปริตร สุนทรพจน์ของบัณฑิตเนห์รู และมหาตมะคานธี และเพลงไทย ที่หาฟังได้ยาก บรรจุในตลับสีแดง
๓. สารพันวิทยา
มี ๒ ชนิด ได้แก่ เกี่ยวกับสุนทรพจน์ การสัมภาษณ์ ประเพณี ประวัติศาสตร์ วิชาการศึกษา วรรณคดีไทย ละต่างประเทศ บรรจุในตลับสีเขียว และเกี่ยวกับปาฐกถา อภิปราย โต้วาที สัมมนาภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ บรรจุในตลับสีเหลือง
๔. นานาศิลปะ
ได้แก่ เพลง ดนตรี โขน ละคร มหาอุปรากร ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ บรรจุในตลับสีม่วง
๕. เสริมทักษะภาษา
ได้แก่ บทเรียนภาษาต่างประเทศ ใช้ฝึกฟังและพูด อาทิ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เขมร บาลี และสันสกฤต บรรจุในตลับสีฟ้า และ
๖. เตรียมบริการ
ได้แก่ แถบเสียงตลับ ซึ่งได้ถ่ายทอดมาจากแถบเสียงต้นฉบับ แล้วเตรียมไว้ สำหรับจัดรายการ นอกจากแถบเสียง ก็มีแผ่นเสียงบ้าง