เล่มที่ 26
ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
                    


ระบบห้องสมุดเสียง

            ระบบห้องสมุดเสียง เป็นระบบห้องสมุด ที่ได้ประมวลรายละเอียดเนื้อหาสาระสำคัญต่างๆ ของหนังสือ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดนั้น ในลักษณะสัญญาณเสียง (Audio Signal) คือ แทนที่จะต้องใช้ตาอ่านหนังสือ ด้วยตนเอง ห้องสมุดก็จะส่งสัญญาณเสียงของหนังสือเล่มที่ต้องการ ซึ่งได้บันทึกไว้ในเครื่องบันทึกเสียง ที่ได้ติดตั้งไว้ในระบบห้องสมุดเสียง ให้แก่ผู้ใช้บริการ เสมือนกับมีคนอ่านหนังสือเล่มนั้นให้ฟัง (จึงเป็นการช่วยเหลือให้คนตาบอด สามารถใช้บริการห้องสมุดได้ด้วย) แต่เดิมสัญญาณที่รับฟังได้เป็นสัญญาณระบบแอนะล็อก (Analogue) ปัจจุบันได้พัฒนามาใช้ระบบดิจิทัล (Digital) แทน

            ห้องสมุดเสียงที่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จัดตั้งขึ้นที่วิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒ นั้น ผู้ใช้บริการต้องไปที่ห้องสมุด และเลือกเปิดเทปบันทึกเสียงข้อความสาระสำคัญของหนังสือที่ต้องการ โดยกดเลขรหัสสารบรรณของหนังสือ ที่แป้นรหัสหน้าตู้ควบคุมระบบการทำงานของห้องสมุดเสียง แล้วสวมหูฟังเสียง เสียงที่ได้ยินจากเครื่องมีรูปแบบต่างๆ เช่น เสียงคนอ่านธรรมดา เสียงคำขับกาพย์กลอนเสภา เสียงดนตรีประกอบเรื่อง ฯลฯ

            ต่อมา ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มีความประสงค์จะเชื่อมโยงระบบห้องสมุดเสียง เข้ามาที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เพื่อให้ทรงใช้งาน ซึ่งต้องมีการวางสายตรงจากศูนย์โทรคมนาคมกลางของกระทรวงมหาดไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์เชื่อมต่อกับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยคาดว่า คงติดตั้งที่ห้องทรงงาน จึงได้ติดต่อขอรับการสนับสนุนทางด้านเทคนิคจากพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ หัวหน้ากองการสื่อสาร กรมตำรวจ และผู้อำนวยการสำนักงานโทรคมนาคม กระทรวงมหาดไทย (ปัจจุบันคือ กองการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย)

            สำหรับระบบโทรคมนาคมของกระทรวงมหาดไทย เป็นระบบโทรศัพท์ และระบบเทเลกซ์ (โทรพิมพ์) อัตโนมัติ ทั้งที่ใช้ภายในท้องถิ่น และการติดต่อทางไกลระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค และระหว่างส่วนภูมิภาคด้วยกันเอง การติดต่อสื่อสารทางไกล ทั้งระบบโทรศัพท์ และระบบเทเลกซ์ เป็นไปโดยอัตโนมัติ วิธีการติดต่อใช้วิธีการหมุน หรือกดปุ่มเลขหมายของเครื่องปลายทาง โดยต้องขึ้นต้นด้วยเลขนำ หรือรหัสทางไกลของแต่ละจังหวัด ที่ได้กำหนดไว้ โดยไม่ต้องใช้ให้พนักงานโทรศัพท์ประจำตู้กลางเป็นผู้ทำการติดต่อเรียกเลขหมายปลายทาง (เป็นวิธีการที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ใช้เป็นวิธีปฏิบัติในการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลแก่ลูกค้าในขณะนั้น)



            ฉะนั้น ระบบโทรคมนาคมของกระทรวงมหาดไทยจึงจัดได้ว่า เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ในด้านการติดต่อสื่อสารของประเทศในขณะนั้น

            การเชื่อมต่อระหว่างระบบโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติของกระทรวงมหาดไทยกับห้องสมุดเสียง ที่จังหวัดนครปฐม จึงไม่มีปัญหา เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยมีโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างส่วนกลางกับจังหวัดนครปฐม เพียงแค่วางข่ายสายเพิ่มเติมจากศูนย์โทรคมนาคมของกระทรวงมหาดไทย ที่จังหวัดนครปฐม ไปยังวิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากรเท่านั้น

            การใช้บริการเสียงจากห้องสมุดเสียง จากวิทยาลัยทับแก้วมายังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อต้องการเลือกค้นหน้าหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดเสียง ก็กระทำได้เช่นเดียวกับที่หน้าตู้ควบคุมระบบฯ แต่แป้นสำหรับกดปุ่มเลขหมายรหัสสารบรรณหนังสือจะถูกเชื่อมต่อสายมาติดตั้งไว้ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (คล้ายกับเครื่องควบคุมทางไกล หรือรีโมต (Remote) ที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องรับโทรทัศน์ในปัจจุบัน) โดยที่ผู้ฟังไม่ต้องสวมหูฟัง เพราะเครื่องควบคุมทางไกลที่ติดตั้งไว้นี้มีระบบขยายเสียงอยู่ในตัว และเมื่อต้องการจะฟังเสียงจากหนังสือเล่มใด และตอนใด ผู้ใช้จะต้องดูจากเลขรหัสสารบรรณ ที่ได้แสดงไว้ในเอกสารคู่มือการใช้งานประจำเครื่องก่อน แล้วจึงกดปุ่ม หรือหมุนเลขหมายรหัสสารบรรณของหนังสือ (เช่นเดียวกับการใช้โทรศัพท์ในการติดต่อทั่วไป) เพื่อส่งสัญญาณจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ผ่านศูนย์โทรคมนาคมกลางของกระทรวงมหาดไทย ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ผ่านวงจรทางไกล และผ่านศูนย์โทรคมนาคมเขต จังหวัดนครปฐม แล้วผ่านคู่สายไปเข้าตู้ควบคุมระบบของห้องสมุดเสียง



            เมื่อห้องสมุดเสียงได้รับสัญญาณดังกล่าวข้างต้น ระบบจะตรวจสอบว่า เลขรหัสสัญญาณที่รับเข้ามา ตรงกับรหัสสารบรรณของหนังสือเล่มใด และตอนใด แล้วจึงส่งสัญญาณไฟฟ้า ไปกระตุ้นให้เครื่องบันทึกเสียง ภายในระบบทำงาน (Play Back) โดยส่งสัญญาณเสียงออกมาจากระบบ ในลักษณะเหมือนคนอ่านหนังสือธรรมดา และ/หรือเสียงดนตรีบรรเลงประกอบเรื่อง จากนั้นจึงส่งผ่านระบบโทรคมนาคมของกระทรวงมหาดไทย กลับเข้ามาที่เครื่องควบคุมทางไกล ซึ่งติดตั้งอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต