
ความแตกต่างของห้องสมุดเสียงและห้องสมุด (หนังสือ)
"ห้องสมุด (หนังสือ)" ตามความหมายของวิชาบรรณารักษศาสตร์ มีรายละเอียดเกี่ยวกับงานเทคนิค งานบริการ และงานบริหารงานเทคนิคของห้องสมุด ซึ่งเป็นงานที่ครูบรรณารักษ์ และผู้เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุสารนิเทศ ได้แก่ การสำรวจหนังสือ การเลือก และการจัดทำวัสดุสารนิเทศ การเตรียมหนังสือ การจัดหมู่หนังสือ การทำบัตรรายการ การทำกฤตภาค การทำบรรณนิทัศน์ การระวังรักษา และการซ่อมหนังสือ ฯลฯ ความสำเร็จของโปรแกรมห้องสมุด ขึ้นอยู่กับบรรณารักษ์ ทั้งนี้ บรรณารักษ์เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างครู ผู้บริหาร นักเรียน ผู้ปกครอง กับแหล่งสารนิเทศต่างๆ
ส่วน "ห้องสมุดเสียง" นั้น มีกลไกในการจัดบริการเสียง เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์สูงสุดตามความมุ่งหมาย ๓ ประการ คือ เพื่อเสริมการสอนวิชาต่างๆ ของหลักสูตรด้วย "เสียง" ตามที่ผู้สอนต้องการให้นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาตามลำพังนอกเวลาเรียน และเพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมทางเสียงไว้ สำหรับการค้นคว้าในอนาคต ความสำเร็จของโปรแกรมห้องสมุดเสียง จึงขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รายการ และเจ้าหน้าที่บริการเสียง การสะสมแถบบันทึกเสียงต้นฉบับ การจัดหมวดหมู่ การเลือกแถบเสียงตามหมวดหมู่ เพื่อการผลิตรายการ และเตรียมบริการ งานเทคนิคของห้องสมุดเสียงนั้นอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะจัดรายการบริการเสียงให้มีคุณภาพ และสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะห้องสมุดเสียงนั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง สำหรับห้องสมุดเสียงของวิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม บทบาทของเจ้าหน้าที่รายการ (จ.ร.) คือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ทำหน้าที่สำคัญในฐานะนักสารนิเทศ (Information specialist) ผู้สอน (Instructor) และให้คำปรึกษาด้านการสอน (Instructionial consultant) ดังจะเห็นได้จากการสร้างคู่มือการใช้บริการเสียงปกเหลือง รายการบริการเสียงที่จัดไว้พร้อมเป็นต้นแบบอย่างมีระบบ ความสำคัญของการให้บริการเสียง คือ การผลิตรายการ