การบริหารราชการแผ่นดิน
ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถือว่า อำนาจอธิปไตยคือ อำนาจสูงสุด ในการปกครองประเทศ เป็นอำนาจอิสระ ที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของประเทศ ไม่อยู่ในบังคับ หรือเป็นเมืองขึ้นของผู้ใด อำนาจนี้เป็นอำนาจของประชาชน แต่เมื่อประชาชนมีจำนวนมาก และไม่มีเวลาพอ หรืออาจขาดความสันทัดจัดเจน ที่จะใช้อำนาจนี้ จัดการปกครองบ้านเมืองได้เอง จึงจำเป็นต้องมอบหมายให้ผู้อื่นไปทำหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทน ได้แก่ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล
คณะรัฐมนตรี หมายถึง คณะบุคคลที่ทำหน้าที่ในการปกครองหรือบริหารประเทศ ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า "การบริหารราชการแผ่นดิน" อันแตกต่างไปจากอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาและศาล
คำว่า การบริหารราชการแผ่นดิน หมายถึง
๑. การกำหนดนโยบายว่า จะจัดการปกครองประเทศในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การต่างประเทศ ในแนวทางใด และใช้วิธีการใด จึงจะบังเกิดประโยชน์สูงสุด
๒. การปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด เพื่อให้นโยบายบังเกิดผลเป็นจริง เช่น ต้องจัดหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ งบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ และออกกฎระเบียบต่างๆ มารองรับให้พร้อม
๓. การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบตราขึ้นใช้บังคับนั้น ไม่อาจมีผลในตัวเอง หากแต่ต้องมีการ "บังคับการ" เช่น ถ้ากฎหมายนั้น กำหนดให้การกระทำใดเป็นความผิด ก็ต้องมีการบังคับเอาแก่ผู้ฝ่าฝืน โดยมีเจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด มีการสืบสวนสอบสวน และฟ้องคดี ถ้ากฎหมายกำหนดให้จัดตั้งหน่วยงานใดขึ้น ก็ต้องมีการบังคับให้เป็นผล โดยจัดหาอาคารสถานที่ และมีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปประจำหน่วยงานนั้น ตลอดจนต้องจัดหางบประมาณให้ เป็นต้น