การเข้าสู่ตำแหน่งของรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีไว้ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เช่น จำนวนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีน้อยลง เหลือไม่เกิน ๓๖ คน ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้มีรัฐมนตรีได้ไม่เกิน ๔๙ คน
การเสนอชื่อบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือการเข้าสู่ตำแหน่งของรัฐมนตรี มีขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ มากขึ้น และชัดเจนขึ้น ในขณะที่การเสนอชื่อบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ จะอยู่ในดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎร และประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตย แม้แต่คุณสมบัติของรัฐมนตรี การควบคุมและการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน แม้กระทั่งการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีก็แตกต่างไปจากเดิมเป็นอันมาก ดังจะอธิบายต่อไปนี้
การจะเป็นรัฐมนตรีได้นั้น ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ และลงนามรับผิดชอบเรียกว่า ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนการจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายคำแนะนำ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ สำหรับขั้นตอนในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีตามลำดับดังนี้
๑. มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะต้องจัดขึ้น ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
๒. คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศ ผลการเลือกตั้ง
๓. พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา
๔. พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรก
๕. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
๖. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งประธาน สภาผู้แทนราษฎร
๗. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามข้อ ๔ การเสนอชื่อผู้ควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง (๑ ใน ๕ ของจำนวน ๕๐๐ คน เท่ากับ ๑๐๐ คน) มติเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำโดยการลงคะแนนอย่างเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (๒๕๑ คน) แต่ถ้าคะแนนเสียงยังไม่ได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถเรียกประชุมได้อีกจนกว่าจะได้มติเช่นว่านั้น แต่ถ้าพ้นกำหนด ๓๐ วันแล้ว ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อบุคคลผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดขึ้นกราบบังคมทูลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้บุคคลนั้นจะได้คะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งก็ตาม ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
๘. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
๙. นายกรัฐมนตรีคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แล้วนำความกราบบังคมทูล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
๑๐. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี
๑๑. นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
๑๒. คณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาเพื่อร่างนโยบาย
๑๓. คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ตามข้อ ๑๑
๑๔. คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้