เล่มที่ 27
การบริหารราชการ แผ่นดิน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน

การบริหารราชการแผ่นดินมี ๒ แนวทางคือ

            ๑. รัฐมนตรีแต่ละคนแยกกันปฏิบัติภารกิจไปตามสายงานของตนในกระทรวงที่ตนรับผิดชอบ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ดูแลกิจการภายในกระทรวง ดูแลการอนุมัติงบประมาณโครงการ การแต่งตั้งโยกย้าย และกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย ในสายงานการแพทย์สาธารณสุข สุขภาพอนามัย

            ๒. ในกิจการบางเรื่อง รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งไม่อาจอนุญาต อนุมัติ หรือเห็นชอบได้เอง จำเป็นต้องเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกันตามที่กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบอย่างใดอย่างหนึ่งกำหนดไว้ ในกรณีเช่นนี้ต้องจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ดังนี้

                (๑) วันเวลาประชุม

                        ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีกำหนด ปกติจะนัดประชุมทุกวันอังคารเวลาเช้าเป็นต้นไป เพื่อสะดวกแก่การที่รัฐมนตรีต้องไปร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ วันพฤหัสบดี และร่วมประชุมวุฒิสภาในวันศุกร์

                (๒) สถานที่ประชุม

                        ปกติจะนัดประชุมในทำเนียบรัฐบาล ปัจจุบันประชุมที่อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีอาจนัดประชุมนอกสถานที่ก็ได้ ดังที่รัฐบาลบางสมัยเคยจัดประชุมในต่างจังหวัดมาแล้ว เช่น สมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยจัดประชุมที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น บางแสน จังหวัดชลบุรี สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เคยจัดประชุมที่จังหวัดสงขลา เชียงใหม่ และขอนแก่น สมัยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เคยจัดประชุมที่จังหวัดนครราชสีมา และเชียงราย สมัยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เคยจัดประชุม ที่จังหวัดเชียงใหม่ และศรีสะเกษ เป็นต้น ซึ่งมีผู้เรียกว่า "การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร"


                (๓) ผู้เข้าร่วมประชุม

                        คือ รัฐมนตรีทุกคน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี อาจอนุญาตให้ข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องบางคนมาร่วมประชุม และให้ข้อมูล หรือชี้แจงต่อที่ประชุมก็ได้

                (๔) เรื่องที่ประชุม

                        คณะรัฐมนตรีจะรับทราบ หรือพิจารณาเรื่องที่มีกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี กฎ หรือระเบียบกำหนดให้ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี บางเรื่องจะเป็นการเสนอ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้น แต่บางเรื่องต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ อนุญาต หรืออนุมัติ

                (๕) มติคณะรัฐมนตรี

                        ผลจากการพิจารณา และลงมติของคณะรัฐมนตรี เรียกว่า มติคณะรัฐมนตรี มตินั้นไม่ใช่กฎหมาย แม้อาจมีผลเป็นการให้ไปออกกฎหมายก็ตาม แต่มติคณะรัฐมนตรีก็มีความสำคัญ เพราะเป็นคำสั่งหรือผลการพิจารณาวินิจฉัยของผู้มีอำนาจสูงสุดในทางบริหาร ดังนั้น ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายบริหารจึงต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้น อาจเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ในขณะเดียวกัน แม้มติคณะรัฐมนตรีจะสั่งการให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามโดยตรงไม่ได้ แต่ก็อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในทางอ้อม เช่น ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่ได้รับความสะดวก หรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่บุคคลควรรู้ และทำความเข้าใจมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการงานของตน

หลักการบริหารราชการแผ่นดิน

        นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะต้องบริหารประเทศให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายของคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี โดยสรุป การบริหารราชการแผ่นดินจะต้องเป็นไปตามหลักดังนี้

        ๑. ต้องชอบด้วยกฎหมาย
        ๒. ต้องไม่ลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ
        ๓. ต้องไม่กำหนดสิ่งใดเกินเลยไปจาก ที่กฎหมายกำหนด
        ๔. ต้องไม่กระทำโดยทุจริต
        ๕. ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราษฎรโดยไม่จำเป็นหรือไม่เป็นธรรม
        ๖. ต้องเป็นไปตามหลักการปกครอง ที่ดี หรือธรรมาภิบาล (good governance) กล่าวคือ ชอบด้วยกฎหมาย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีเหตุผลอธิบายได้ และมีการรับฟังความคิดเห็น หรือการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้รับผลกระทบตามสมควร
  
            การบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่เป็นไป ตามหลักข้างต้น นอกจากผู้บริหารอาจต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแล้ว ในทางการเมือง ผู้บริหารอาจต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น มีการตั้งกระทู้ถามจากสมาชิกรัฐสภา มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หรืออาจมีการเข้าชื่อขอให้พิจารณาถอดถอนผู้บริหารนั้น จากตำแหน่ง