ประวัติการรถไฟในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา เนื่องจากทางรถไฟสายเหนือที่สร้างขึ้นเป็นทางขนาดกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร อันเป็นขนาดมาตรฐานสากลที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในโลก (Standard Gauge) ส่วนทางสายใต้เป็นทางขนาดกว้าง ๑ เมตร (Meter Gauge) จึงก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการจะเดินทางติดต่อร่วมกัน ทำให้ต้องขนถ่ายสับเปลี่ยน แทนที่จะขนส่งได้ทอดเดียวถึง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนทางจากขนาดกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร เป็น ๑ เมตร เหมือนกันทั้งหมด แล้วให้สร้างทางแยกจากสถานีบางซื่อ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม ๖ ไปบรรจบกับทางสายใต้ที่สถานีตลิ่งชัน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้การคมนาคมทางรถไฟสามารถเชื่อมโยงติดต่อกันได้โดยสะดวก ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งให้ความสะดวก ในการเดินรถติดต่อกับการรถไฟของประเทศใกล้เคียง เช่น การรถไฟมลายา การรถไฟสิงคโปร์ การรถไฟกัมพูชา ซึ่งมีขนาดของทางกว้าง ๑ เมตร เช่นเดียวกันด้วย |
|
ในระหว่างที่การก่อสร้างทางสายเหนือและสายใต้ใกล้จะเสร็จ ก็ได้เริ่มทำการก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายตะวันออกต่อไปอีก คือ จากนครราชสีมา ถึงสถานีอุบลราชธานี และสถานีขอนแก่น และจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีอรัญประเทศ ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมในสายต่างๆ อีก คือ สายตะวันออกเฉียงเหนือจากสถานีขอนแก่น ถึงสถานีหนองคาย ระยะทาง ๑๗๕ กม. สาย ตะวันออกจากสถานีจิตรลดา ถึงสถานีมักกะสัน ระยะทาง ๓ กม. สายเหนือสร้างเพิ่ม เป็นทางคู่จากสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี และสายใต้ ถึงสถานีวังโพและสุพรรณบุรี กับจากสถานีทุ่งโพธิ์ ถึงสถานีคีรีรัฐนิคม รวมทางประธานที่เปิดการเดินรถทั่ว ประเทศตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นระยะทางทั้งสิ้น ๓,๘๕๕ กม. ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งองค์การรถไฟขึ้น เรียกว่า "การรถไฟแห่งประเทศไทย" โดยให้โอนกิจการของกรม รถไฟให้องค์การนี้ทั้งหมด โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตัวคณะกรรมการรถไฟขึ้น ดูแลควบคุมกิจการขององค์การ และรัฐได้มอบเงินจำนวน ๓๐ ล้านบาท ให้เป็นเงินสมทบทุนประเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย การบริหารกิจการรถไฟเกี่ยวกับด้านเดินรถและด้านพาณิชย์ได้ก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ การรถไฟได้รับการติดต่อจากการรถไฟกัมพูชา และจากการรถไฟมลายา ขอให้เปิดการประชุม เพื่อเจรจาหารือทำความตกลงกัน เกี่ยวกับการเดินขบวนรถเชื่อมต่อกัน ผลของการประชุม คือ ก. คณะผู้แทนรถไฟกัมพูชาได้เจรจาเรื่อง การเชื่อมทางรถไฟกัมพูชากับรถไฟ ไทยในทางรถไฟสายตะวันออก (สายอรัญประเทศ) และได้เปิดการเดินรถไฟติดต่อระหว่าง ประเทศ ในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาได้หยุดการเดินรถไฟไประยะหนึ่งตั้งแต่ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้วเปิดการเดินรถใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ แต่ก็ได้ยุติการเดินรถอีก เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ข. รัฐบาลมาเลเซียได้เจรจาขอเปิดการเดินรถไฟเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศมาเลเซียขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ระงับการเดินรถร่วมกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ คณะผู้แทนรถไฟมลายาได้เจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับ การเดินรถไฟติดต่อร่วมทางผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ตามนัยแห่งสัญญาเดิมที่ทำไว้ต่อกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยแก้ไขบ้างบางประการ และได้ตั้งต้นปฏิบัติตามข้อตกลงใหม่นี้ตั้งแต่ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา |