ส่วนการกลบเมล็ดนั้น ควรจะได้คำนึงถึงขนาดของเมล็ด สภาพของแปลงปลูกและสิ่งแวด ล้อมขณะที่ปลูกเป็นสำคัญ ซึ่งถ้ากลบเมล็ดลึก การงอกของเมล็ดอาจไม่ดี เพราะเมล็ดที่งอกไม่สามารถ จะดันต้นให้โผล่พ้นผิวดินได้ นอกจากนั้น ยังทำให้การถ่ายเทของอากาศในดินไม่ดีพอ แต่ถ้ากลบเมล็ดตื้นเกินไป เมล็ดจะลอยขึ้นมาเหนือผิวดิน ทำให้เมล็ดแห้งได้ง่าย สำหรับดินเบา (light sandy soil) ในฤดูที่ฝนหนักควรจะกลบเมล็ดให้ลึก ส่วนพวกดินหนักควรจะกลบเมล็ดให้ตื้นๆ ตามหลักโดยทั่วไปควรจะกลบให้ลึก ๒-๔ เท่าของความหนาของเมล็ด
๓. การเพาะเมล็ดในภาชนะเดี่ยว
การเพาะเมล็ดในภาชนะเดี่ยว หมายถึง การปลูกพืชโดยการเพาะเมล็ดก่อนเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ หรือในกระบะเพาะ แต่แทนที่จะเพาะรวมๆ กันด้วยวิธีดังกล่าว กลับเพาะแยกกัน โดยให้แต่ละภาชนะที่เพาะ มีต้นพืชที่เพาะเพียงต้นเดียว และเมื่อต้นพืชที่เพาะมีขนาดโตพอ จึงย้ายปลูกอีกทีหนึ่ง การปลูกพืชโดยวิธีนี้มักใช้กับพืช ที่มีรากเจริญยาก เมื่อรากขาดหรือถูกทำลาย ก็จะมีผลทำให้การตั้งตัวของต้นพืชช้าไปด้วย ฉะนั้นในพืชอายุสั้น ที่จำเป็นต้องเพาะเมล็ดก่อนที่จะปลูกในแปลง จึงต้องใช้วิธีนี้ ได้แก่ พืชจำพวกฟัก แฟง แตงชนิดต่างๆ บวบ น้ำเต้า ถั่วชนิดต่างๆ ข้าวโพด รวมทั้งไม้ผลบางชนิดที่เมล็ดมีขนาดโต สามารถเพาะในภาชนะเดี่ยวได้ง่าย โดยเฉพาะพืชที่นิยมใช้ทำเป็นต้นตอ เช่น มะม่วง ขนุน มังคุด และทุเรียน เป็นต้น การเพาะเมล็ดตามวิธีนี้ เนื่องจากใช้วิธีการ คล้ายๆ กับการเพาะเมล็ดในภาชนะเพาะ ผิดกันแต่ว่าให้มีต้นพืชในภาชนะที่เพาะเพียง ๑-๒ ต้น เท่านั้น ฉะนั้นภาชนะที่ใช้จึงมีขนาดเล็ก เช่น อาจใช้ถุงพลาสติก กระบอกไม้ไผ่ หรือกระทงใบตองก็ได้ ดินปลูกก็ใช้ดินที่ใช้เพาะเมล็ดทั่วๆ ไป หรือถ้าเป็นการเพาะเมล็ดไม้ผล ขนาดของดินไม่จำเป็นต้องละเอียดเหมือนดินเพาะเมล็ดทั่วๆ ไปก็ได้
การปลูกหรือเพาะเมล็ด สำหรับพืชจำพวก ผัก มักจะใส่เมล็ดประมาณ ๓ เมล็ด ในหนึ่งภาชนะปลูก เมื่อเมล็ดงอกดีแล้วจะถอนให้เหลือเพียง ๑-๒ ต้น ส่วนการปลูกเมล็ดไม้ผล มักเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์เพาะเพียงเมล็ดเดียว
การดูแลรักษา ได้แก่ การรดน้ำ การให้แสง และการควบคุมโรคแมลง ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดในภาชนะเพาะทั่วๆ ไป แต่เนื่องจากเมล็ดมีขนาดโตและค่อนข้างแข็งแรง ฉะนั้นการดูแลรักษาจึงทำได้ง่าย
ข้อดี
๑. ทำได้ง่ายและได้ปริมาณมาก เพราะสะดวกในการปฏิบัติ
๒. เสียค่าใช้จ่ายน้อยเพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนฝีมือในการปฏิบัติมากนัก
๓. สะดวกในการขนส่งระยะทางไกลๆ เพราะทนทานและตายยาก ประกอบกับมีขนาดเล็ก จึงสะดวกที่จะบรรจุหีบห่อหรือหยิบยก
๔. เก็บรักษาได้นาน เพราะไม่ต้องการสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตมาก เพียงแต่เก็บให้ถูกต้องเท่านั้น
๕. ได้ต้นพืชที่มีระบบรากดี เพราะมีรากแก้ว ดังนั้นจึงมีรากหยั่งลึก และการที่ต้นพืชมีรากลึกนี้ ย่อมมีผลทำให้
ก. ทนแล้งได้ดี เพราะสามารถดูดน้ำจากดินในระดับลึกๆ ได้
ข. หากินเก่ง เพราะอาจหาธาตุอาหารต่างๆ จากดินทั้งตามผิวหน้าดินและส่วนลึกได้อย่างครบถ้วน โอกาสที่จะขาดธาตุอาหารจึงมีน้อย
ค. ต้นพืชเจริญเติบโตดี เพราะมีอาหารพืชสมบูรณ์
ง. อายุยืน ซึ่งเป็นผลมาจากมีอาหารสมบูรณ์ ฉะนั้นจึงทนทานต่อแมลงได้ดี ต้นไม่ทรุดโทรมเร็ว และมีอายุการให้ผลยืนนาน
๖. ต้นพืชที่ได้ไม่ติดโรคไวรัส (virus) จากต้นแม่ โดยที่เชื้อไวรัสไม่อาจจะถ่ายทอดจากต้นแม่มายังลูก โดยอาศัยเมล็ดเป็นพาหะได้ ดังนั้นต้นลูกที่ได้จากการเพาะเมล็ดจากต้นที่เป็นโรคไวรัสจึงไม่ติดโรคนี้ แต่ก็อาจติดโรคนี้ได้ภายหลังที่งอกเป็นต้นพืชแล้ว
ข้อเสีย
๑. กลายพันธุ์ได้ง่าย เพราะต้นที่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์ เว้นแต่เมล็ดพืชบางชนิดที่งอกได้ หลายต้นใน ๑ เมล็ด ซึ่งอาจจะมีต้นที่ไม่กลายพันธุ์ได้
๒. ลำต้นสูงใหญ่ ไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยวและดูแลรักษา
๓. ต้นมีโอกาสรับแรงปะทะลมได้มาก ทำให้ดอกและผลร่วงหล่นเสียหายมาก
๔. มักให้ผลช้า ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูนาน กว่าจะให้ผลตอบแทน
๕. ปลูกได้น้อยต้นในเนื้อที่เท่ากัน ฉะนั้น จึงอาจให้ผลน้อยกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นที่ให้ต้นพืชพุ่มเล็กกว่า