ชนิดของป่าในประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางภาค พื้นเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ภูมิประเทศมี
เทือกเขาแดนลาว ทางทิศเหนือ
เทือกเขาตะนาวศรี ทางทิศตะวันตก
เทือกเขาบรรทัด ทางทิศตะวันออก และ
เทือกเขากาลาคีรี ทางทิศใต้
ลำน้ำโขงทางทิศเหนือ และตะวันออกเป็นแนวเขตแดน มีลำน้ำสาละวินทางทิศตะวันตก แม่น้ำทั้งสองสายนี้ ต่างมีต้นน้ำ จากเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศจีนตอนใต้ และมีลำน้ำเจ้าพระยาตอนกลางของประเทศ
นอกจากนั้นประเทศไทยยังได้รับปริมาณน้ำ ฝนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือน เมษายน ถึง กันยายน ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคมและจากมรสุมในท้องทะเลจีนระหว่างเดือนมีนาคม
ต้นค้อ
จากสภาพภูมิประเทศ และดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทำให้เกิดพันธุ์ไม้นานาชนิด ประมาณกันว่า ประเทศไทยมีพันธุ์ไม้ป่าต่างๆ จำนวน ๒๐,๐๐๐ ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกและผลประมาณ ๑๔,๐๐๐ ชนิด
เนื่องจากประเทศไทยมีความยาวเหนือสุด จดใต้สุดประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ดินฟ้าอากาศ จึงแตกต่างกันไปตลอดช่วงความยาวนี้ โดยเฉพาะ ทางภาคใต้จากจังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งอยู่ในแหลม มลายูตอนเหนือ ทางฝั่งตะวันออกเป็นมหาสมุทรแปซิฟิก และทางฝั่งตะวันตกเป็นมหาสมุทรอินเดีย จึงได้รับปริมาณน้ำฝนจากมรสุมทั้ง ๒ ฤดูอย่างเต็มที่ ดังนั้น พันธุ์ไม้ที่ขึ้นทางภาคใต้ จึงแตกต่างจากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นที่ราบสูง จึงแห้งแล้งกว่าทุกภาค พันธุ์ไม้ที่ขึ้นจึงแตกต่างกันไป เนื่องจากความแตกต่างทางดินฟ้าอากาศดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้เกิดป่าชนิดต่างๆ ขึ้น
สนเขา
พันธุ์ไม้บางชนิดมักจะเกิดรวมกันเป็นหมู่ๆ ทำให้เกิดสภาพป่าเฉพาะอย่างขึ้น เช่น
๑. ไม้สนเขา คือ ไม้สนสองใบ และสนสามใบ ขึ้นปะปนรวมกันเป็นหมู่ใหญ่ หรือหมู่เล็กแล้วแต่ชนิดของดินและหิน ป่าสนเขามักพบตามเทือกเขาระดับสูง ในภาคพายัพ (เหนือ) และที่ราบสูงทางภาคอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) และบางที่ก็มีไม้เหียง และไม้พลวงขึ้นปะปนอยู่ด้วยเหมือนกัน
๒. ไม้เหียง พลวง กราด เต็ง และรัง ทั้งห้าชนิดนี้ มักขึ้นรวมกันเป็นหมู่ในป่าเต็งรังที่ทางภาคพายัพเรียก ป่าแพะ ทางอีสานเรียก ป่าโคก
๓. ไม้เสม็ด มักจะเกิดในที่ที่เป็นดินทราย ในที่ราบลุ่มน้ำขัง และน้ำทะเลขึ้นถึง ไม้เสม็ดจะขึ้นรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น เนื่องจากรากต้องอยู่ในดิน และจมน้ำตลอดเวลา ต้นเสม็ดจึงมีเปลือกล่อนออกได้เป็นกาบบางๆ ซ้อนกันอยู่หลายๆ ชั้น เป็นการช่วยระบายอากาศที่รากไปด้วย
๔. ไม้โกงกาง มีทั้งชนิดใบเล็ก และใบใหญ่ขึ้นรวมกันเป็นหมู่ในป่าชายเลน ไม้โกงกางใบใหญ่มักขึ้นตามชายป่าริมน้ำ เนื่องจากรากต้องอยู่ในดินใต้น้ำตลอดเวลา ต้นโกงกางจึงจำเป็นต้องมีรากค้ำช่วยพยุงลำต้นให้ทรงตัวอยู่ได้ในกระแสลมมรสุม และรากค้ำนี้ยังช่วยระบายถ่ายเทอากาศให้รากใต้ดินอีกประการหนึ่งด้วย ในป่าชายเลนนอกจากจะมีไม้โกงกางดังกล่าวแล้ว ยังมีต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นอยู่ เช่น ลำพู แสมทะเล พังกาหัวสุม ถั่วดำ ถั่วขาว ตะบูน ตะบัน ลำแพน และอื่นๆ แต่ละชนิดต่างมีรากที่มีรูปร่างต่างๆ โผล่ขึ้นเหนือผิวดินแตกต่างกันไป เพื่อช่วยถ่ายเทอากาศที่ราก
๕. ไม้ตะแบก จะขึ้นในที่ดินตื้นมีหินปูน เป็นพื้น ที่เป็นป่าตะแบกล้วนๆ ได้แก่ ป่าที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา