เล่มที่ 7
ผีเสื้อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระยะตัวหนอน

            ตัวหนอนของผีเสื้อมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามวงศ์และสกุล ส่วนมากไม่มีขนปกคลุมเหมือนหนอนของผีเสื้อกลางคืน ตัวหนอนมีสีสด หรือสีสันกลมกลืนไปกับพืชอาหาร อาหารมื้อแรกของตัวหนอนหลังจากฟักออกจากไข่ คือ เปลือกไข่ที่เหลืออยู่ อาจเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอย หรือในเปลือกไข่มี สารบางอย่างที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เมื่อออกมาใหม่ๆ มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และลอกกินผิวใบพืชจนเกิดเป็นช่องใส ต่อมาจะค่อยๆ กระจายกันออกไป การกัดกินมักกินจากขอบใบ เข้ามาหากลางใบ

            รูปร่างของหนอนแตกต่างกันไปมาก คือ หนอนผีเสื้อดอกรัก ตัวมีลายพาดขวาง ตัวสีเหลืองสลับดำ และมีขนยาวอีก ๒-๔ คู่ ส่วนหนอนผีเสื้อสีตาลมีลำตัวยาวเรียวไปทางปลาย หัวและปลายหาง มีลายขีดสีน้ำตาลตามยาว คล้ายใบหญ้าหรือใบหมาก ที่เป็นพืชอาหาร หนอนที่มีหนามยื่นออกรอบตัว เป็นหนอนพวกผีเสื้อขาหน้าพู่ พวกผีเสื้อสีน้ำเงินกินพืชตระกูลถั่วและไม้ผลต่างๆ ตัวหนอนลักษณะกลมๆ พองออกตอนกลางตัว หัวซ่อนอยู่ข้างใต้ตัว

อวัยวะด้านหลังหัว

            หนอนบางพวกมีการป้องกันอันตรายจากพวกนก และศัตรูอื่นๆ เช่น หนอนของผีเสื้อหางติ่ง มักมีจุดคล้ายดวงตากลม อยู่บริเวณตอนใกล้หัว มันจะพองส่วนนี้ออกเวลามีอันตราย ทำ ให้จุดดวงตานี้ขยายโตออก และยังมีอวัยวะสีแดงรูปสองแฉก อยู่ด้านหลังของส่วนหัว เรียกว่า ออสมีทีเรียม (osmeterium) อวัยวะขยายออกได้โดยใช้แรงดันของเลือด สามารถส่งกลิ่น เหม็นออกมาใช้ไล่ศัตรูได้ บางพวกก็ชักใยเอาใบไม้ห่อหุ้มตัวไว้ หรือเอาวัตถุอื่นๆ ทั้งใบไม้แห้งและมูลของมันมากองรวมกัน บังตัวเอาไว้

            หนอนของผีเสื้อบางชนิดไม่กินพืช แต่กินอาหารที่แปลกออกไป คือ ผีเสื้อดักแด้หัวลิง (Spalgis epeus) กินพวกเพลี้ยเกล็ด (scale insects) ผีเสื้อหนอนกินเพลี้ย (Miletus chinensis) กินพวกเพลี้ยอ่อน (aphids) ส่วนผีเสื้อมอท (Liphyra brassolis)ตัวหนอนอาศัย อยู่ในรังของมดแดง (Oecophylla smaragdina) และกินตัวอ่อนของมดแดงเป็นอาหาร