จากการชมธรรมชาติที่สวยงามรอบบริเวณบ้าน หรือในชนบท ตามป่าเขาต่างๆ เราจะรู้สึกประทับใจในความสวยงาม ของผีเสื้อหลากสีที่บินวนเวียนกินน้ำหวานดอกไม้ หรือเกาะตามพื้นที่ชื้นแฉะอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ คนทั่วไปจึงรู้จักผีเสื้อต่างๆ มากชนิด ทั้งยังอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของมันอีกด้วยว่า มันมีความเป็นอยู่อย่างไร ในประเทศไทยเรามีผีเสื้อมากน้อยเท่าใด และมีความแตกต่างจากผีเสื้อในประเทศอื่นมากน้อยเพียงไร
สภาพธรรมชาติที่ผีเสื้อชอบอยู่อาศัย
ในแง่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนและชนิด ของผีเสื้อในป่าหนึ่งๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติและสภาพ ที่แท้จริงของป่านั้นๆ ว่า มีความเป็นป่าสมบูรณ์เพียงใด เช่น ป่า ที่ถูกเผาถางทำลายลงไปมากขึ้น จำนวนชนิดของผีเสื้อที่พบ จะลดน้อยลงไปด้วย หรือถ้าพบ แต่ผีเสื้อ ที่ตัวหนอนกินพืชจำพวกหญ้าหรือพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ก็จะทราบได้ทันทีว่า สภาพป่าได้ถูกทำลายลงเป็นทุ่งหญ้าทั้งหมดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับผีเสื้อ จึงค่อนข้างแน่นแฟ้น ผีเสื้อจะหมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อป่าถูกทำลาย ความชื้นที่ผีเสื้อส่วนมากชอบก็จะหมดไป ต้นไม้ที่เป็นอาหารของตัวหนอน ก็จะขาดแคลนด้วย
ผีเสื้อเป็นกลุ่มของแมลงที่นักสัตววิทยาจัดไว้ในอันดับเลพิดอบเทอรา (Order Lepidoptera) มาจากคำว่า lepis แปลว่า เกล็ด และ pteron แปลว่า ปีก แมลงในอันดับนี้จึงมีแผ่นปีกปกคลุมด้วยเกล็ดสีเล็กๆ เรียงซ้อนกันแบบกระเบื้องมุมหลังคา เกล็ดสีเล็กๆ เหล่านี้ เมื่อดูด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นผงสีต่างๆ ซึ่งจะหลุดติดมือออกมา เมื่อเราจับปีกของผีเสื้อ ผีเสื้อในอันดับนี้ยังแยกออกเป็น ๒ พวก คือ อันดับย่อยผีเสื้อกลางวัน (Butterflier) พวกนี้มีหนวดตอนปลายพองออกเป็นรูปกระบอง และอันดับย่อยผีเสื้อกลางคืน (Moths) ซึ่งมีหนวดรูปร่างต่างๆ กันหลายแบบ
ผีเสื้อที่พบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ
ชื่อผีเสื้อนั้น ตามความคิดของผู้เขียน อาจมาจากการที่ผีเสื้อต่างๆ มีสีสัน และลวดลายสวยงาม เหมือนกับสีเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กัน แต่ผีเสื้อบินร่อนไปมาได้เอง คนโบราณจึงคิดกันว่า มีผีเข้าไปสิงอยู่ในตัว แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ในชนบทบางแห่ง ยังเรียกผีเสื้อว่า "แมลงผี" ส่วนชื่อภาษาอังกฤษว่า "butterfly" นั้น มีผู้สันนิษฐานไปได้ ๒ ทางคือ ทางหนึ่งแปลว่า เนยบิน เพราะผีเสื้อที่พบชุกชุมในแถบอบอุ่น ปีกมีสีเหลืองอ่อน ถึงสีเหลืองเข้มคล้ายสีของเนย (butter) เมื่อบินไปมา จึงดูเหมือนเศษเนยลอยร่อนอยู่ ส่วนอีกทางหนึ่งเชื่อว่า เพี้ยนมาจากคำว่า beauty flies ซึ่งหมายถึง ความสวยงามที่บินไปมาได้
ผีเสื้อ ๒ พวกดังกล่าวมีความแตกต่างกันหลายประการ พอที่คนทั่วไปจะสังเกตได้ คือ
๑. ผีเสื้อกลางวันมีปลายหนวดพองโตออกหนาคล้ายรูป กระบอง บางพวกมีหนวดตอนปลายโค้งงอเป็นรูปขอ ส่วนผีเสื้อกลางคืนมีหนวดรูปร่างต่างๆ กันหลายแบบ เช่น รูปเรียว คล้ายเส้นด้าย รูปฟันหวี มีบางพวกที่มีหนวดพองออก คล้ายผีเสื้อกลางวัน
ผีเสื้อกลางวันเปรียบเทียบกับผีเสื้อกลางคืน
๒. ลำตัวของผีเสื้อกลางวันค่อนข้างยาวเรียว เมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างของปีก และไม่ค่อยมีขนปกคลุม เหมือนกับผีเสื้อกลางคืน ที่มีลำตัวอ้วนสั้น
๓. ผีเสื้อกลางวันส่วนใหญ่จะออกบินเวลากลางวัน มี เพียงบางพวกที่ออกหากินในตอนเช้ามืด และตอนใกล้ค่ำ ผีเสื้อกลางคืนออกบินในตอนค่ำ ดังที่เรามักพบบินมาตอม แสงไฟตามบ้านเรือน ผีเสื้อกลางคืนที่ออกหากินกลางวันมักมีสีฉูดฉาด คล้ายผีเสื้อกลางวัน
ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าใหญ่ เกาะพักแสดงให้เห็นใต้ปีก
๔. การเชื่อมยึดปีกทั้งสองให้โบกไปพร้อมกันของผีเสื้อ กลางวันต่างจากผีเสื้อกลางคืน โดยจะมีแผ่นปีกขยายกว้างออกซ้อนทาบกัน แต่ในผีเสื้อกลางคืนมีขนแข็งจากโคนปีกคู่หลัง สอดเข้าไปเกี่ยวกับขอเล็กๆ ตอนโคนปีกด้านใต้ของปีกคู่หน้า (ยกเว้นผีเสื้อกลางวันชนิดหนึ่งในทวีปออสเตรเลีย)
การเกาะพักของผีเสื้อกลางคืน ปีกทั้งสองจะตกลงข้างตัวคล้ายกระโจม
๕. การเกาะพักของผีเสื้อกลางวัน มักจะยกปีกตั้งตรง ขึ้นบนลำตัว เห็นด้านใต้ของปีก ส่วนผีเสื้อกลางคืนจะวางปีก ราบลงกับพื้นที่เกาะ โดยขอบปีกด้านหน้าตกลงข้างตัวต่ำกว่า ระดับของหลัง ดูคล้ายรูปหน้าจั่วหลังคา และคลุมปีกคู่หลัง จนมิดหมด
ลักษณะแตกต่างดังกล่าวมานี้ ไม่อาจใช้จำแนกผีเสื้อ ทุกชนิดได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากลักษณะและนิสัยต่างๆ มัก ปะปนกัน ทำให้มีข้อยกเว้นต่างๆมาก แต่ก็เป็นข้อแตกต่างอย่าง กว้างๆ ที่จะช่วยให้คนทั่วไปแยกแมลง ๒ กลุ่มนี้ออกจากกันได้ พอสมควร