เล่มที่ 7
ผีเสื้อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
รูปร่างลักษณะทั่วไปของผีเสื้อ

            ผีเสื้อเป็นแมลงพวกหนึ่งแตกต่างจากพวกนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ตรงที่ไม่มีโครงกระดูกอยู่ภายใน ลำตัวประกอบด้วยวงแหวนหลายวงต่อกัน เชื่อมยึดด้วยเยื่อบางๆ เพื่อการเคลื่อนไหวได้สะดวก เปลือกนอกแข็งเป็นสารพวกไคทิน (chitin) ภายในเปลือกแข็งเป็นที่ยึดของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนที่ ลำตัวของผีเสื้อเป็นวงแหวนเชื่อมต่อกัน ๑๔ ปล้อง ปล้องแรกเป็นส่วนหัว (head) ปล้องที่ ๒, ๓ และ ๔ เป็นส่วนอก (thorax) และปล้องที่เหลือทั้งหมดเป็นส่วนท้อง (abdomen)

            ส่วนหัวมีตารวม (compound eye) ใหญ่คู่หนึ่ง ตรง บริเวณด้านข้างประกอบด้วยเลนส์เล็กๆหลายพันอัน ต่างจากตาของคนเรา ที่มีเพียงเลนส์เดียว ตารวมรับภาพที่เคลื่อนที่ได้เร็ว เราจึงพบว่าผีเสื้อบินได้ว่องไว จับตัวได้ยาก บางทีอาจพบมีตาเดี่ยว (simple eye) ๒ ตา เชื่อกันว่า ใช้ในการรับรู้แสงว่า มืดหรือสว่าง

หนวดผีเสื้อชนิดต่างๆ

หนวดมี ๑ คู่ อยู่ระหว่างตารวม เป็นอวัยวะรูปยาวเรียว คล้ายเส้นด้าย ต่อกันเป็นข้อๆ ทำหน้าที่รับความรู้สึกในการดมกลิ่น

            ข้างใต้ของส่วนหัว มีงวง (proboscis) ใช้ดูดอาหารเหลวพวกน้ำหวานดอกไม้ และของเหลวอื่นๆ งวงจะม้วนเป็นวง คล้ายลานนาฬิกาเวลาไม่ได้ใช้ และจะคลายเหยียดออกเวลากินอาหาร งวงประกอบขึ้นด้วยหลอดรูปครึ่งวงกลม ๒ หลอด มาเกี่ยวกันไว้ทางด้านข้างด้วยขอเล็กๆ เรียงเป็นแถว สองข้างของงวงมีอวัยวะที่ม ๓ ข้อต่อ ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนปากที่เหลืออยู่ เรียกว่า พัลพ์ (palp) ยื่นออกมา

            ส่วนอกประกอบด้วยปล้องต่อกัน ๓ ปล้อง รอยต่อ ระหว่างปล้องมักไม่ค่อยชัดเจนนัก เนื่องจากมีเกล็ดสีปกคลุม อก แต่ละปล้องมีขาปล้องละคู่ ส่วนปีกคู่หน้าและปีกคู่หลัง ติดอยู่บนอกปล้องกลางและอกปล้องสุดท้าย

การเชื่อมยึดของปีก

            ปีกของผีเสื้อเป็นแผ่นเยื่อบางๆ ประกบกัน มีเส้นปีกเป็น โครงร่างให้คงรูปอยู่ได้ ปกติผีเสื้อส่วนใหญ่จะมีเส้นปีกใน ปีกคู่หน้า ๑๒ เส้น และในปีกคู่หลัง ๙ เส้น การจัดเรียงของ เส้นปีกเป็นลักษณะสำคัญในการแยกชนิดของผีเสื้อ พื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นปีกเรียกว่า ช่องปีก (space) เรียกชื่อตามเส้นปีก ที่พาดอยู่ตอนล่าง เช่น ช่องปีกที่อยู่ระหว่างเส้นปีกที่ ๓ กับ เส้นปีกที่ ๔ เรียกว่า ช่องปีกที่ ๓ เกล็ดสีเล็กๆ บนปีกเรียงตัวกันเป็นแถว ซ้อนกันแบบกระเบื้องมุงหลังคา นอกจากนี้ ยังมีเกล็ดพิเศษเรียกว่า แอนโดรโคเนีย (androconia) เกล็ด พิเศษนี้ตอนโคนต่อกับต่อมกลิ่น อาจอยู่กระจัดกระจายหรืออยู่เป็นกลุ่ม เรียกว่า แถบเพศ (brand) ทำหน้าที่กระตุ้นความต้องการทางเพศของตัวเมีย

            ผีเสื้อบางพวกอาจมีจำนวนเส้นปีกน้อยกว่า หรือมากกว่า ๑๒ เส้น บางพวกเหลือเพียง ๑๐ เส้น เส้นปีกส่วนมากจะเริ่มจากโคนปีก หรือจากเซลล์ปีก เซลล์ปีกเป็นบริเวณที่ว่างรูปสามเหลี่ยมอยู่บริเวณกลางปีก ค่อนไปทางด้านหน้า ถ้าปลายเซลล์มีเส้นปีกกั้นอยู่ เรียกว่า เซลล์ปีกปิด แต่ถ้าไม่มีเส้นปีกกั้นเรียกว่า เซลล์ปีกเปิด บางเส้นจะแตกสาขามาจากเส้นอื่น ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อบินเร็วมีเส้นปีกเป็นเส้นเดี่ยว ไม่มีการแตกสาขาเลย

ขาหน้าของผีเสื้อกลางวัน

            ขาของผีเสื้อเป็นข้อๆซึ่งแต่ละขาแบ่งออกได้เป็น ๕ ส่วน นับจากที่ติดกับลำตัว จะเป็นโคนขา (coxa) ข้อต่อโคนขา (trochanter) ต้นขา (femur) ปลายขา (tibia) และข้อเท้า (tarsus) มีเล็บเป็นจำนวนคู่ที่ปลายข้อเท้า

            ผีเสื้อหลายวงศ์มีขาคู่หน้าเสื่อมไปมาก จนไม่มีส่วนของข้อเท้า เห็นเป็นกระจุกขนอยู่เป็นพู่ บางวงศ์จะพบลักษณะเช่นนี้ ในเพศผู้เท่านั้น ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อหางติ่งมีกระจุกขนเล็กๆ อยู่ทางตอนในของปลายขา และผีเสื้อหนอนกะหล่ำมีเล็บถึง ๔ เล็บ แทนที่จะมีเพียง ๒ เล็บเหมือนผีเสื้ออื่นๆ

            ส่วนท้องต่อมาจากส่วนอก รูปร่างยาวเรียว ค่อนข้าง อ่อนกว่าส่วนอก ตอนปลายเป็นอวัยวะที่ใช้ในการสืบพันธุ์ อวัยวะสืบพันธุ์นี้ มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด จึงเป็น ลักษณะสำคัญในการจำแนกผีเสื้อกลุ่มที่มีลักษณะภายนอกคล้าย กันมากๆ เช่น ผีเสื้อเณร (สกุล Euma)