เล่มที่ 7
ผีเสื้อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ผีเสื้อในวงศ์ต่างๆ ของประเทศไทย

ผีเสื้อหลากสีในประเทศไทย พอจะแบ่งออกได้เป็น ๔๐ วงศ์ (family) ดังต่อไปนี้

๑. วงศ์ผีเสื้อผี (Hepialidae)

            ผีเสื้อที่มีลักษณะโบราณ ปีกทั้งสองคู่มีขนาดใกล้เคียง กัน การจัดเรียงของเส้นปีกคล้ายคลึงกัน ปีก ๒ คู่เชื่อมยึดกัน แบบติ่งเกี่ยวกัน (jugal type) หนวดสั้นมาก ส่วนปากเสื่อมหายไป วงศ์นี้มีอยู่ประมาณ ๓๐๐ ชนิด พบมากที่สุดในทวีป ออสเตรเลีย หนอนอาศัยอยู่ใต้ดิน เจาะกินอยู่ภายในลำต้นและ รากพืชเติบโตช้ามาก ผีเสื้อพวกนี้บินได้เร็วมาก ผีเสื้อตัวผู้ชอบบินจับกลุ่มกันในเวลาพลบค่ำ รอให้ตัวเมียบินเข้าไปรับการผสมพันธุ์ ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียว ที่เป็นศัตรูป่าไม้ จัดอยู่ ในสกุลPhassus

ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อหนอนหอย

๒. วงศ์ผีเสื้อหนอนหอย (Eucleidae)

            ผีเสื้อในวงศ์นี้มีลำตัวอ้วน ปีกสั้น แต่บินได้เร็ว ส่วนมากมีสีน้ำตาลแต้มเขียว หรือน้ำตาลแดง ส่วนปากเสื่อมไปมาก ไข่มีรูปร่างแบนคล้ายเหรียญ หนอนมีรูปร่างแปลกจากวงศ์อื่นๆ โดยมีรูปร่างคล้ายตัวทาก มีสี และลวดลายต่างๆ สวยงาม หัวซ่อนอยู่ใต้ลำตัว รอบๆ ตัวมีกระจุกขนที่มีพิษ ทำให้ผู้ที่โดนมีอาการปวดแสบปวดร้อน จึงเรียกกันว่า "ตัวเขียวหวาน" หนอนบางชนิดมีลำตัวเรียบ ไม่มีหนามเลย ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น Parasa lepida กินใบพืชหลายชนิด และ Thosea spp. กินใบไม้ผลหลายชนิด

๓. วงศ์ผีเสื้อหนอนมะไฟ (Zygaenidae)

            ผีเสื้อกลางคืนที่ออกหากินในเวลากลางวัน สีสดใส บอกความเป็นพิษในตัว จึงมีผีเสื้อชนิดอื่นๆ มาเลียนแบบ ในประเทศไทยพบว่า เป็นศัตรูของไม้ผล กินใบมะไฟ คือ Cyclosia panthona และ C. papilionaris

ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อหนอนมะไฟ

๔. วงศ์ผีเสื้อหนอนเจาะผ้า (Tineidae)

            ผีเสื้อขนาดเล็ก สีเทา น้ำตาล ดำ หรือค่อนข้างขาวบาง ชนิด มีจุดวาวๆ อย่างโลหะ ปีกยาวเรียว เวลากางออกมีขนาด ไม่เกิน ๑/๒ นิ้ว ชนิดที่ตัวหนอนกินขนนก และเสื้อผ้าในบ้าน คือ Tineola bisselliella ปัจจุบัน ไม่ก่อความ เสียหายมากนัก เนื่องจาก มีการใช้ยาฆ่าแมลง และเสื้อผ้าที่ทอด้วยเส้นใยสังเคราะห์กันมากขึ้น

๕. วงศ์ผีเสื้อหนอนปลอก (Psychidae)

            วงศ์นี้พบอาศัยอยู่ทั่วโลก คนส่วนมากจะรู้จักตัวหนอน ที่ทำปลอกหุ้มตัวด้วยเศษพืชต่างๆ นับตั้งแต่เริ่มฟักออกจากไข่ มันจะค่อยๆ ขยายขนาดของปลอกหุ้ม เมื่อเติบโตขึ้นมา ผีเสื้อตัวเมียไม่มีปีก และไม่กินอาหาร อาศัยอยู่ภายในปลอกที่ห่อ หุ้มตัว ผีเสื้อตัวผู้จะตามกลิ่นมาผสมพันธุ์กับตัวเมีย ไข่จะยังคงอยู่ในตัวแม่ที่ตายแล้ว จนฟักออกเป็นตัว จึงออกจากซากตัวแม่ ชนิดที่สำคัญในประเทศไทย มีหนอนปลอกมะพร้าว (Mahasena corbetti)

๖. วงศ์ผีเสื้อหนอนชอนใบ (Gracilaridae)

            ผีเสื้อขนาดเล็กมาก ปีกยาวเรียว ขอบปีกมีแผงขนยาว ตัวหนอนมีลักษณะแบน ชอนเข้าไปอาศัยอยู่ในใบไม้ จนโตเต็มที่ในใบๆ เดียว บางครั้งจะเข้าดักแด้ในใบไม้ด้วย รูปร่าง ของแผลบนใบจะแตกต่างกันไปตามชนิด มักกินใบพืชชนิด หนึ่งๆ หรือพืชในกลุ่มหนึ่งๆ เท่านั้น พวกที่เป็นศัตรูไม้ผล เช่น หนอนชอนใบละมุด (Acrocercops symbolopis)

๗. วงศ์ผีเสื้อหนอนใยผัก (Plutellidae)

            หนอนพวกนี้ ชาวสวนผักรู้จักกันดี ตัวเล็กสีเขียวใช้ใยห่อ หุ้มตัวไว้ใต้ใบผัก เวลาตกใจจะดีดตัวลงจากใบ โดยมีใยห้อยลงไป ผักที่ชอบคือ ผักคะน้า ผักกาด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Plutella xylostella ผีเสื้อมีขนาดเล็ก ปีกค่อนข้างยาวสีคล้ำ มีแถบขาวบนปีก

๘. วงศ์ผีเสื้อปีกใส (Sesiidae)

            ส่วนมากมีสีฉูดฉาด ปีกยาวเรียว มักมีบริเวณใสๆ บนปีก มองทะลุลงไปได้ หนวดพองออกตอนปลาย คล้ายหนวดของพวกผีเสื้อกลางวัน ปลายท้องมีกระจุกขนรูปคล้ายพัด ส่วนมากอาศัยอยู่ในซีกโลกภาคเหนือ ออกหากินในเวลากลางวัน บางชนิดในขณะบินดูคล้ายพวกผึ้งหรือต่อแตน หนอนเจาะกิน อยู่ภายในลำต้นและรากพืช

๙. วงศ์ผีเสื้อลายจุด (Yponomeutidae)

            ผีเสื้อขนาดเล็กถึงขนาดกลาง บริเวณหัวดูเรียบกว่าผีเสื้อ พวกอื่นๆ ปีกสีสวย หรือสีหม่น บางชนิดที่ปลายปีกคู่หน้ามี ลักษณะคล้ายขอ หนอนบางชนิดอาศัยอยู่เป็นกลุ่มในรังที่ทำด้วย ใยเหนียว บางชนิดเป็นหนอนชอนใบ บางชนิดเจาะผลไม้

ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อลายจุด  

๑๐. วงศ์ผีเสื้อหนอนเจาะไม้ (Cossidae)

            วงศ์ผีเสื้อขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่มาก ปีกค่อนข้าง ยาว ลำตัวใหญ่มาก มีขนปกคลุมแน่น การเรียงของเส้นปีกเป็นแบบโบราณ จำนวนเส้นปีกมีมากกว่าปกติ และมีเซลล์ปีก เล็กๆ หลายเซลล์ หนอนเจาะเข้าไปอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ใช้เวลาหลายปี กว่าจะโตเต็มที่ มักพบปลอกดักแด้คาอยู่ปากรูที่หนอน เจาะเอาไว้ ในประเทศไทยมีชนิดที่สำคัญ ๒ ชนิด คือ หนอนเจาะสัก (Xyleutes ceramicus) และหนอนกาแฟสีแดง (Zeuzera coffeae)

๑๑. วงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ (Tortricidae)

            ผีเสื้อวงศ์นี้พบแพร่กระจายทั่วโลก ปีกกว้างไม่เกิน ๑ นิ้ว ปลายปีกตัดตรงหรือโค้ง เวลาเกาะหุบปีกดูคล้ายรูปกระดิ่ง หนอนในวงศ์นี้กินใบพืชหลายชนิด มันจะใช้ใยยึดใบเดี่ยวหรือมากกว่า ๑ ใบ ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ หนอนม้วนใบส้ม (Cacoecia micaceana)

๑๒. วงศ์ผีเสื้อปีกตัด (Olethreutidae)

            ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับผีเสื้อในวงศ์ก่อน พบอยู่ทั่วโลก ปีกสีน้ำตาลหรือเทา หลายชนิดเป็นศัตรูพืชที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในเขตอบอุ่น Carpocapsa pomonella เจาะเข้าไปในต้น และผลของแอปเปิลบางชนิด ทำให้เกิดปมบนกิ่งหรือต้น

ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อหนอนกอ

๑๓. วงศ์ผีเสื้อหนอนกอ (Pytralidae)

            วงศ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของพวกผีเสื้อ ส่วนมากมีปีกยาวเรียว ส่วนท้องเรียวแหลม ขายาว โดยทั่วไปปีกมีสีหม่น บางชนิดมีลายขีดวาวคล้ายโลหะ ตอนโคนส่วนท้องมีอวัยวะรับ เสียงอยู่คู่หนึ่ง ส่วนมากออกหากินในเวลากลางคืน หนอนเป็น ศัตรูสำคัญของพวกธัญพืช เช่น ผีเสื้อชีปะขาว (Tryporyza incertulas) ผีเสื้อหนอนกอข้าว ในสกุล Chilo และ Chilotraea นอกจากนี้ หนอนในวงศ์นี้ยังเป็นหนอนม้วน ใบของพืชอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น มันเทศ ละมุด ถั่ว ฟัก แฟง เป็นต้น หนอนบางกลุ่มดัดแปลงตัวเพื่ออาศัยอยู่ใต้น้ำ สร้างเหงือก ไว้หายใจ อาศัยอยู่ในปลอก กัดกินพืชน้ำเป็นอาหาร ชนิดที่มีความ สำคัญมากในประเทศไทย คือ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด (Ostrinia salentialis)

๑๔. วงศ์ผีเสื้อปีกแฉก (Pterophoridae)

            ผีเสื้อในวงศ์นี้มีขนาดเล็ก ลำตัวและขายาว ปีกเว้าตามขอบ เป็น ๒ หรือ ๓ แฉก ขอบปีกมีแผงขนโดยรอบ เวลาเกาะ มักกางปีกออกทางด้านข้าง ตั้งฉากกับลำตัว หนอนมีขนปกคลุมมาก บางชนิดมีขนกลวงตอนกลาง ปลายมีของเหลวเหนียวเยิ้มอยู่ เคยมีผู้พบว่า ขนนี้ใช้ป้องกันตัวจากพวกแตนเบียนขนาดเล็กได้ โดยแตนจะติดอยู่ตามขนนี้ หนอนกินใบพืชล้มลุกเป็นอาหาร

๑๕. วงศ์ผีเสื้อไหม (Bombycidae)

            รู้จักกันดีทั่วไปจากประโยชน์ของมันในการนำเอาเส้นใย มาทอเป็นผ้าไหมที่สวยงาม และราคาสูง ผีเสื้อไหมที่เลี้ยงกันนี้ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เริ่มมีการเลี้ยงกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ จนไม่อาจอยู่ในธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง หนอนมีลำตัวเกลี้ยง แต่ย่น และมีหงอนสั้นๆ บนส่วนท้องปล้องที่ ๘ กิน เฉพาะใบหม่อนเป็นอาหาร ดักแด้มีสีเหลืองหรือขาวขึ้นอยู่กับพันธุ์ผีเสื้อ บินไม่ค่อยได้ ผีเสื้อไหมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bombyx mori

๑๖. วงศ์ผีเสื้อหนอนบังใบ (Lasiocampidae)

            ผีเสื้อขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำตัวค่อนข้างอ้วนและมี ขนปกคลุมหนาแน่น ปีกกว้าง ขอบหน้าของปีกคู่หลังมักพอง ยื่นไปข้างหน้า บริเวณนั้นมีเส้นปีกสั้นๆ พยุงอยู่หลายเส้น ไม่พบมีหนามสำหรับเกี่ยวปีก ส่วนปากเสื่อมไป หนวดมักเป็นแบบฟันหวี ผีเสื้อในวงศ์นี้ วางไข่เป็นกลุ่มติดอยู่ตามกิ่งไม้ หนอนมีขนปกคลุมหนาแน่น และสีสดสะดุดตา หลายชนิดทำลายใบ ไม้ผล เช่น หนอนบุ้งกินใบชมพู่ (Trabala vishnou) ตัวผู้มีสีเขียวอ่อน แต่ตัวเมียซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามีสีเหลืองสด

ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อหนอนบังใบ

๑๗. วงศ์ผีเสื้อยักษ์ (Saturnidae)

            ผีเสื้อในวงศ์นี้มีขนาดของปีกใหญ่ที่สุด จำนวนชนิดไม่ มากนัก หนวดมีรูปร่างแบบฟันหวี เห็นได้ชัดมากในตัวผู้ ส่วน ปากหดหายไป จึงไม่กินอาหารเลย หนอนมีขนาดใหญ่มาก มี ปุ่มหนามทั่วตัว เข้าดักแด้ในรังดักแด้ที่เอาใบไม้แห้งหลายใบมา พันเข้าด้วยกัน ชนิดที่รู้จักกันดีคือ ผีเสื้อหนอนใบกระท้อนหรือ ผีเสื้อยักษ์ (Attacus atlas) มีปีกแผ่กว้างถึง ๑๕-๑๘ เซนติเมตร ผีเสื้อหนอนอะโวกาโด (Cricula trifenestrata) ผีเสื้อพระจันทร์(Actias selene) ปีกสีเขียว หางยาวมาก ผีเสื้อที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ โดยเราได้เส้นไหมจากรังดักแด้มาทอผ้า ได้แก่ พวกผีเสื้อไหมป่า ในสกุล Antheraea และ Philosamia

ผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อยักษ์

๑๘. วงศ์ผีเสื้อพราหมณ์ (Brahmaeidae)

            เป็นวงศ์เล็ก แต่มีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่มากในเขตอบอุ่น เหนือปีกมีลายแปลกสะดุดตาสีน้ำตาล หนวดแบบฟันหวีคล้าย ผีเสื้อในวงศ์ก่อน แต่พวกนี้มีงวงใช้ดูดน้ำหวาน มักพบมาบิน เล่นไฟตอนกลางคืนในบริเวณป่าทึบ ในประเทศไทยพบตามป่า ค่อนข้างสูง