เล่มที่ 9
เรื่องของยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ยาประเภทต่างๆ

การแบ่งยาออกเป็นประเภทนั้น มีวิธีแบ่งหลาย อย่าง เช่น

ก. แบ่งตามยุคหรือสมัย

ได้แก่ ยาแผนโบราณ หรือยาไทย หรือยาสมุนไพร และยาแผนปัจจุบัน หรือยาฝรั่ง หรือยาเทศ

ยาแผนโบราณ

คือ ยาที่ได้ใช้กันมาในอดีตเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีที่ใช้อยู่บ้าง ต้นตอของยาแผนโบราณได้ จากพืช (พืชวัตถุ) สัตว์ (สัตววัตถุ) และแร่ธาตุ (ธาตุวัตถุ) ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ได้มีการใช้แบบบอกเล่าต่อๆ กันมา ไม่มีการค้นคว้าวิจัยเหมือนอย่างยาแผนปัจจุบัน
การต้มยา
การต้มยา
จากตำราวิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ ใน หัวข้อเภสัชวัตถุกล่าวไว้ว่า

เภสัชวัตถุประเภทพืช (พืชวัตถุ)

ได้จาก ต้น แก่น ใบ หัว เหง้า ราก กระพี้ เนื้อไม้ ยางไม้ เปลือกต้น เปลือกลูก เปลือกเมล็ด ดอกเกสร กิ่ง ก้าน ฯลฯ พืชวัตถุแบ่งเป็น
  • จำพวกต้น เช่น กระเจี๊ยบ กระถินไทย กระดังงาไทย กระท่อม กานพลู ฯลฯ
  • จำพวกเถา-เครือ เช่น กระทกรก หนอนตายหยาก ชะเอมไทย ตำลึง ฯลฯ
  • จำพวกหัว-เหง้า เช่น กระชาย กระเทียม กระวาน กลอย ขิงบ้าน ฯลฯ
  • จำพวกผัก เช่น ผักกะเฉด ผักบุ้งจีน ผักหวานบ้าน ผักกาด ผักเบี้ย ฯลฯ
  • จำพวกหญ้า เช่น หญ้ากระต่ายจาม หญ้าคา หญ้างวงช้าง หญ้าแห้วหมู ฯลฯ
  • จำพวกเห็ด แบ่งเป็น เห็ดที่เป็นอาหารและ ประกอบเป็นยาได้ และเห็ดเบื่อเมา
  • เห็ดที่เป็นอาหารและเป็นยา เช่น เห็ดหูหนู เห็ดฟาง เห็ดโคน ฯลฯ
  • เห็ดที่เบื่อเมา เช่น เห็ดงูเห่า เห็ดตาล เห็ด มะขาม ฯลฯ
ยาที่ได้จากสัตว์ อาจใช้สัตว์ทั้งตัว ส่วนหรือ อวัยวะของร่างกายสัตว์ รวมทั้งมูล เลือด น้ำดีของ สัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์พวกนก เช่น ตับ ดี เลือด เขา นอ กระดูก ฯลฯ

จากคัมภีร์วิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณกล่าว ไว้ว่า

เภสัชวัตถุประเภทสัตว์ (สัตววัตถุ)

ได้ จากสัตว์ทุกชนิด และอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย เช่น ขน หนัง เขา นอ เขี้ยว งา ฟัน กราม ดี หัว เล็บ กีบ กระดูก เนื้อ เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ สัตววัตถุแบ่งออกเป็น
  • จำพวกสัตว์บก เช่น กวาง (เขาแก่ เขาอ่อน) งูเห่า (หัว กระดูก ดี) แรด (เลือด หนัง นอ กีบเท้า) คางคก (ทั้งตัว) แมลงสาบ (มูล) แมงมุม (ตายซาก) ฯลฯ
  • จำพวกสัตว์น้ำ เช่น ปลาช่อน (ดี หาง เกล็ด) ปลาไหล (หาง หัว) ปลาหมึก (กระดอง หรือลิ้น ทะเล) ปูม้า (ก้าม กระดอง) ฯลฯ
  • จำพวกสัตว์อากาศ เช่น อีกา หรือ นกกา (หัว กระดูก ขน) นกยูง (กระดูก แววหาง ขนหาง) ผึ้ง (น้ำผึ้ง) นกนางแอ่น (รัง) นกกระจอก (ใช้ทั้งตัว ถอนขนออก) ฯลฯ
  • จำพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น หอยโข่ง (เปลือก) เต่านา (หัว กระดองอก) จระเข้ (ดี) ปูทะเล (ก้าม) ปูนา (ทั้งตัว) กบ (น้ำมัน กระดูก) ฯลฯ
สำหรับแร่ธาตุที่ใช้เป็นยา ได้แก่ ดินสอพอง ดีเกลือ จุนสี ฯลฯ
อวัยวะของสัตว์บางชนิดที่ใช้เป็นยา (สัตววัตถุ)
อวัยวะของสัตว์บางชนิดที่ใช้เป็นยา (สัตววัตถุ)
จากตำราแพทย์แผนโบราณตอนที่ว่าด้วยเรื่อง เภสัชวัตถุ กล่าวว่า

เภสัชวัตถุประเภทธาตุ (ธาตุวัตถุ)

ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ ธาตุวัตถุแบ่งได้เป็น
  • จำพวกสลายตัวง่าย (หรือสลายตัวอยู่แล้ว) เช่น กำมะถันเหลือง สารส้ม กำมะถันแดง ดีเกลือ จุนสี พิมเสน ฝรั่ง น้ำซาวข้าว ปรอท การบูร ฯลฯ
  • จำพวกสลายตัวยาก เช่น เหล็ก (สนิม) ทองแดง ทองเหลือง ทองคำ เงิน ฯลฯ
  • จำพวกที่แตกตัว เช่น ดินสอพอง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลกรวด ดินเหนียว ฯลฯ
ยาแผนโบราณยังอาจแบ่งเป็น
  • ยาตำรับลับ คือ ยาที่มิได้แจ้งส่วนประกอบ หรือ มิได้แจ้งปริมาณของส่วนประกอบเป็นการเปิดเผย มักเป็นยาประจำครอบครัว ของแพทย์แผนโบราณ
  • ยาผีบอก คือ ยาที่ได้จากการฝัน หรือ เข้าทรง โดยผู้มาเข้าฝันหรือผู้เข้าทรงบอกตำรับยา เพื่อให้ผู้ใช้ หายจากโรคเป็นการเอาบุญ เมื่อหายแล้วผู้ใช้ยาต้องทำ บุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของตำรับด้วย
  • ยาสำเร็จรูป คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับหรือประกาศให้ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้
  • ยากลางบ้าน คือ ยาที่ได้จากสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน ใน ครัวหรือในสวนครัว เช่น ใบพลู หมาก ปูน (ที่กินกับ หมาก) ขิง ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา มะกรูด มะนาว สับปะรด ฯลฯ
ในตำราวิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ ยังแบ่งประเภทของยาตามรสได้ดังต่อไปนี้
  • ยารสฝาด เช่น เปลือกมังคุด เปลือกต้นข่อย ใบฝรั่ง ใบชา ฯลฯ
  • ยารสหวาน เช่น น้ำตาลกรวด น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ชะเอมเทศ ข้าวงอก ฯลฯ
  • ยารสเบื่อเมา เช่น กัญชา ลำโพง (เมล็ด ราก ดอก) มะเกลือ (ลูก ราก) ฯลฯ
  • ยารสขม เช่น เถาบอระเพ็ด รากระย่อม ลูก มะแว้ง หญ้าใต้ใบ แก่นขี้เหล็ก ฯลฯ
  • ยารสเผ็ดร้อน เช่น เมล็ดพริกไทย ดอกกานพลู กะเพรา (ใบ ราก) ฯลฯ
  • ยารสมัน เช่น เมล็ดถั่วลิสง หัวแห้ว ไข่แดง เมล็ดบัวหลวง น้ำมัน เนย ฯลฯ
  • ยารสหอมเย็น เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล เกสร บัวหลวง ใบเตยหอม ฯลฯ
  • ยารสเค็ม เช่น เกลือสมุทรหรือเกลือทะเล ดีเกลือไทย ดินโป่ง ใบหอม ฯลฯ
  • ยารสเปรี้ยว เช่น น้ำในลูกมะนาว ลูกมะดัน ส้มมะขามเปียก สารส้ม มดแดง ฯลฯ
  • ยารสจืด เช่น ใบผักบุ้ง ใบตำลึง เถารางจืด ดินสอพอง น้ำฝน ฯลฯ
ยาแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ให้ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่

ยานัตถุ์ ซึ่งไม่มียาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษผสมอยู่

ยาหอม ซึ่งไม่มียาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษผสมอยู่

ยาไทยโบราณ ซึ่งใช้ชื่อ ปริมาณของวัตถุส่วนประกอบ วิธีการผสม และคำอธิบายสรรพคุณตรงตาม ตำรายา ซึ่งรัฐมนตรีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา รวม ๑๖ ขนานคือ
ยาแผนโบราณบรรจุเสร็จ
ยาแผนโบราณบรรจุเสร็จ
ยามหานิลแท่งทอง ยาเทพมงคล ยาเขียวหอม ยาประสะกะเพรา ยาเหลืองปิดสมุทร์ ยาอัมฤควาที ยาประสะมะแว้ง ยาตรีหอม ยาจันทน์ลีลา ยาประสะจันทร์แดง ยาหอมอินทจักร์ ยาหอมนวโกฏ ยาวิสัมพยาใหญ่ ยาประสะไพล ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู
ยาแผนปัจจุบัน

คือ ยาที่ใช้กันในปัจจุบัน โดยอาศัยพื้นความ- รู้จากยาแผนโบราณ มีการแยกแก่นยา (ตัวยาสำคัญ) ที่มีในพืช หรือสัตว์ มาทำให้บริสุทธิ์ ตามกรรมวิธีแผน ใหม่ หาสูตรโครงสร้าง และสังเคราะห์เลียนแบบสูตรที่หาได้ ตลอดจนทำการสังเคราะห์ยาขึ้นใหม่ เพื่อให้ได้ยาที่มี คุณภาพดี และมีพิษน้อย

ตัวอย่างยาแผนปัจจุบันจากแหล่งต่างๆ มีดังต่อไปนี้
  • ยาจากพืช ได้แก่ แอลคาลอยด์ (ควินิน) ไกลโคไซด์ (ดิจิตาลิส) น้ำมันหอมระเหย (น้ำมันกานพลู) ยางเรซิน (กำยาน) ยางกัม (อะเคเซีย) และ แทนนิน หรือกรดแทนนิค (ยาสมานแผล)
  • ยาจากสัตว์ ได้แก่ แคลเซียม (กระดูก เขา) อินซูลิน (ตับอ่อน) วิตามินเอ (ตับปลา) ฯลฯ
  • ยาจากเกลือแร่ ได้แก่ ไอโอดีน (ได้จากเกลือสมุทร) โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) แมกนีเซียมซัลเฟต (ดีเกลือ) ฯลฯ
  • ยาจากจุลชีพ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะต่างๆ (สเตรปโตไมซิน)
  • ยาจากการสังเคราะห์ ได้แก่ ยากึ่งสังเคราะห์ หรือ ยาสังเคราะห์ทั้งหมด เช่น ยาปฏิชีวนะ ดิจิตาลิส ฮอร์โมนบางชนิด ฯลฯ
ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน

ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ใช้ได้มี ๔๙ ขนาน คือ

ควินินซัลเฟตเม็ดคลอโรควินเม็ดโซดามินท์เม็ด
ยาลดกรดเม็ดซัลฟากัวนิดินเม็ดโดเวอร์สเม็ด
แอสไพรินเม็ดวิตามินบี ๑ เม็ดวิตามินบีรวมเม็ด
วิตามินซีเม็ดยาธาตุน้ำแดงเหล้าสะระแหน่
ทิงเจอร์ฝิ่นการบูรยาถ่ายพยาธิ (บิเปอราซีน)
น้ำมันละหุ่งน้ำมันละหุ่งหอมหวานดีเกลือ
ทิงเจอร์มหาหิงคุ์น้ำมันยูคาลิปตัสยาแก้ไอน้ำเชื่อม
ยาแก้ไอน้ำดำยากวาดคอเหล้าแอมโมเนียหอม
ยาหยอดตา (ซัลฟา)ยาหยอดหู (ไนโตรฟูราโซน)ยาแก้ปวดฟัน
ยารักษาหิดเหาขี้ผึ้งกำมะถัน
ขี้ผึ้งซัลฟาขี้ผึ้งน้ำมันระกำยารักษากลาก เกลื้อน
ยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกยาใส่แผลสดทิงเจอร์ไอโอดีน
ยาเหลืองยาแดงด่างทับทิม
ยาสูดดม (สำหรับกันหรือแก้วิงเวียน หรือสำหรับสูดดม เพื่อแก้หวัดคัดจมูกทั้งนี้ต้องไม่มียาเสพติดให้โทษ ยา อันตราย หรือยาควบคุมพิเศษผสมอยู่)
ยาอมแก้เจ็บ คอ (ซึ่งไม่มียาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษผสมอยู่)
และยาที่ใช้ภายนอก จำพวกถู นวดกล้ามเนื้อ ยกเว้นน้ำมันระกำ
                       
ยาสามัญประจำบ้าน ๔๙ ขนาน
ยาสามัญประจำบ้าน ๔๙ ขนาน
ข. แบ่งตามตำแหน่งที่ยาออกฤทธิ์ต่อระบบของร่างกาย

ได้แก่
  • ยาออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลาง (ยากด ยากระตุ้นสมอง และไขสันหลัง)
  • ยาออกฤทธิ์ต่อ ระบบทางเดินอาหาร (ปาก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี ตับ)
  • ยาออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินลมหายใจ (จมูก หลอดลม ปอด)
  • ยาออกฤทธิ์ต่อระบบ เลือดไหลเวียน (หัวใจ หลอดเลือดแดงของหัวใจ หลอดเลือดแดงอื่นๆ หลอดเลือดดำ)
  • ยาออกฤทธิ์ต่อระบบการเคลื่อนไหว (กล้ามเนื้อ ข้อต่อกระดูก เส้นเอ็น)
  • ยาออกฤทธิ์ต่อระบบการสร้างเลือด (ไขกระดูก เม็ดเลือด แดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด)
  • ยาออกฤทธิ์ต่ออวัยวะ รับสัมผัส (ตา หู จมูก ผิวหนัง)
  • ยาออกฤทธิ์ต่อระบบ ทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์ (ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ อวัยวะเพศชายหญิง)
  • และยาที่ออกฤทธิ์ต่อการครองธาตุ และฮอร์โมน (สารสำคัญในเลือด เช่น น้ำตาล โปรตีน กรดยูริก ฯลฯ เกลือแร่ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม ฯลฯ ฮอร์โมน เช่น อินซูลิน ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ พาราไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ ชาย-หญิง ฯลฯ)
ค. แบ่งตามฤทธิ์หรือผลของยา

            เช่น ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าบัคเตรี ไวรัส เชื้อรา) ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาระงับเชื้อ ยาบีบมดลูก ยาขยายหลอดเลือด (ยาลดความดันโลหิตสูง ยาขยายหลอดเลือดแดงของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือดปลายทาง) ยาทำให้หลอดเลือดดำแข็งตัว ยาเร่งการแข็งตัวของเลือด ยารั้งการแข็งตัวของเลือด ยารักษาโรคเบา หวาน ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยาขับปัสสาวะ ฯลฯ

ง. แบ่งตามวิธีใช้

ยาแผนโบราณ แบ่งการใช้ยาเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

            ใช้ภายใน คือ ใช้รับประทานเข้าไป หรือมีการกระทำเข้าไปภายในร่างกาย ได้แก่ ใช้รับประทาน ทางปาก ใช้นัดเข้าทางจมูก ใช้สวนทางทวาร และใช้เข้าทางทวารทั้งเก้า

ใช้ภายนอก คือ ใช้ภายนอกร่างกาย มิได้ ใช้เข้าไปภายในร่างกาย ได้แก่ ใช้ทาแผล ชะแผล พอกแผล ประคบ ถูนวดชโลม ใช้อาบ และใช้รม

ยาแผนปัจจุบัน มีวิธีการใช้ยา ๒ ประเภทเช่น เดียวกัน คือ

            ยาที่ใช้ภายใน คือ ยาที่ใช้ไปเพื่อหวังผลใน ทางรักษาทั้งตัว ได้แก่ ยากิน และยาฉีด เช่น ยา ปฏิชีวนะ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาจำพวกวิตามิน ยา ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยาฉีดเข้าใต้ ผิวหนัง ฯลฯ

            ยาที่ใช้ภายนอก คือ ยาที่ใช้เพื่อหวังผลใน การรักษาเฉพาะที่ ได้แก่ ยาทา (ยาน้ำ ครีม ขี้ผึ้ง) ยาหยอด ยาดม ยาชำระล้างบาดแผล ฯลฯ เช่น ยาทา รักษาโรคผิวหนัง ยาผงโรยแผล ยาหยอดหู จมูก หรือ ตา ฯลฯ

แต่การใช้ยาบางวิธีอาจให้ผลตรงข้ามกับที่กล่าว มาแล้วได้ เช่น

            ยาอม อาจให้ผลเฉพาะที่ (แก้เจ็บคอ คอแห้ง และมีการระคาย) หรือให้ผลแบบยาใช้ภายใน (ยาพวก ฮอร์โมน ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ)

            ยากิน อาจให้ผลเฉพาะที่ได้ เช่น ยาแก้ท้องเดิน ยาพวกนี้มักไม่มีการดูดซึม หรือดูดซึมน้อยมาก

            ยาใช้สูดดมหรือยารมจมูก อาจให้ผลเฉพาะที่ (จมูกโล่ง ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่) หรือให้ผลแบบยาใช้ภาย ใน (ขยายหลอดเลือดหัวใจ ขยายหลอดลม)

            ยาเหน็บ (ช่องคลอด ทวารหนัก ทวารเบา) อาจให้ผลเฉพาะที่ (รักษาโรคของช่องคลอด ทวารหนัก ทวารเบา) หรือให้ผลแบบยาใช้ภายใน (ยาแก้ปวด ยา ลดไข้)

แผนภาพแสดงทวารทั้ง ๙แผนภาพแสดงทวารทั้ง ๙

            ยาทา อาจให้ผลเฉพาะที่ (แก้โรคผิวหนัง ฆ่า เชื้อโรคเฉพาะที่) หรือให้ผลแบบยาใช้ภายใน (ขยาย หลอดเลือดหัวใจ แก้ปวดเมื่อย)

            ยาฉีด อาจให้ผลเฉพาะที่ (ยาชาเฉพาะที่ ยา ฉีดเข้าข้อ) หรือให้ผลแบบยาใช้ภายใน (แก้ปวดจาก การหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ลดไข้ ยาฆ่าเชื้อโรค)

            การแบ่งยาตามวิธีใช้ยังอาจแบ่งเป็น ยากิน ยาฉีด ยาทา ยาทาถูนวด ยาดม ยาอม ยาอมกลั้วคอ ยาฝัง ใต้ผิวหนัง ยาหยอด ยาล้างแผลหรือโพรงต่างๆ ของร่างกาย ยาเหน็บ ยาสวน ฯลฯ

จ. แบ่งตามรูปลักษณะของยา

ยาที่มีลักษณะเป็นของเหลว ได้แก่

            ยาน้ำ ได้แก่ ยาที่ใช้กิน เช่น ยาน้ำผสม (ยา หลายอย่างละลายน้ำ) ยาที่มีแอลกอฮอล์ปน (มีน้ำมัน หอมระเหยด้วย)

            ยาที่ใช้ฉีด (ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เข้ากล้ามเนื้อ เข้าหลอดเลือดดำ เข้าข้อต่างๆ)

            ยาที่ใช้ภายนอก (ยาทา ยาดม ยาหยอด ยาล้างแผลหรือโพรงต่างๆ ของร่างกาย)

            ยาน้ำสกัด ได้แก่ ยาที่ได้จากการใช้แอลกอฮอล์ สกัดจากพืช ยาพวกนี้มักมีแอลกอฮอล์อยู่ด้วย

            ยาชง ได้แก่ ยาที่ได้จากการเอาใบยาแช่ในน้ำเดือดเช่นเดียวกับการชงชา
ยาชง
ยาชง
ยาที่มีลักษณะเป็นของแข็ง ได้แก่
            ยาผง อาจเป็นผงตามธรรมดา เช่น ยาผงใช้ โรยแผล ยากินแก้โรคกระเพาะ หรือเติมสารบางอย่าง ให้มีรสดีขึ้นก็ได้ เช่น ยาฟองฟู่ คือ ยาที่มีโซเดียมไบคาร์บอเนตกับกรดทาร์ทาริก หรือกรดซิตริก ยานี้ต้องผสมน้ำก่อนกิน และต้องรอให้หมดฟองคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อนจึงกินได้ยาผง
ยาผง
            ยาแคปซูล (ยาหลอด) อาจเป็นยาแคปซูลธรรมดา ซึ่งทำด้วยเจละตินแข็ง ภายในบรรจุยาผง เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาแคปซูลที่เคลือบด้วยเซลลูโลส แอซิดทาร์เทรต เพื่อให้แคปซูลไปแตกที่ลำไส้ ยาแคปซูลบางอย่างบรรจุยาผงชนิดเม็ดเล็กๆ เพื่อให้ฤทธิ์ยาอยู่นานขึ้น เรียกแคปซูลชนิดนี้ว่า สแปนซูล (ยาแคปซูล บางชนิดทำด้วยเจละตินอ่อน มีลักษณะยืดหยุ่น ภายใน บรรจุน้ำมันไว้ เช่น น้ำมันตับปลา)

            ยาเม็ดอัด (แทเบลต) อาจเป็นยาเม็ดธรรมดา ประกอบด้วยตัวยาอย่างเดียว เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาเม็ดเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยตัวยาหลายอย่าง เช่น ยา ช่วยย่อยอาหาร ยาเม็ดทำเป็นชั้นๆ มีตัวยาที่ออกฤทธิ์ เร็วช้าต่างกัน เพื่อใช้ยาออกฤทธิ์อยู่นาน ยาเม็ดมีรูอยู่ ตรงกลางคล้ายชูชีพ (ยาอม) ยาเม็ดอัดอาจมีรูปต่างๆ กัน เช่น รูปกลม รูปกระสวย รูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม ฯลฯ
ยาเม็ดอัด และยาแคปซูล
ยาเม็ดอัด และยาแคปซูล
            ยาเม็ดเคลือบ คือ ยาเม็ดอัดที่นำมาเคลือบด้วยสี หรือสารบางอย่าง เพื่อให้มีสีสวย กินง่าย เพราะมีรสดี ไม่ขม หรือเพื่อให้ยาไปแตกที่ลำไส้

            ยาเม็ดกลม (ยาลูกกลอน) ได้แก่ การเอายาผง มาผสมกับสารอื่นที่ช่วยยึด (น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม) แล้วนวด ให้เข้ากัน ปั้นเป็นเม็ดกลม (ยาไทยโบราณมักมีรูปยานี้มากเหมือนกัน นอกจากยาผง และยาเม็ดอัด) บางคราวมีการเคลือบยาเม็ดกลม เพื่อเหตุผลเช่นเดียวกับยาเม็ดเคลือบ